U.S. dollar ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นเพราะ ตัวเลขยอดค้าปลีก ปรับตัวขึ้นตามคาด การบริโภคของผู้คนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากในเดือนมกราคม สังเกตได้จากตัวเลขที่กระโดดขึ้นมาจาก 1.2% ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ขึ้นมาเป็น 5.3% คิดเป็นการเติบโตมากกว่าสี่เท่า การฟื้นตัวกลับมารุนแรงเช่นนี้หมายความว่าเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน $600 ต่อคนนั้นสามารถเข้าไปช่วยให้เกิดการบริโภคได้จริง ความต้องการสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เฟอนิเจอร์ตกแต่งบ้านและการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การแข็งค่าของดอลลาร์หมายความว่านักลงทุนรู้สึกอุ่นใจขึ้นที่ได้เห็นการฟื้นตัวของความต้องการในผู้บริโภค ถึงกระนั้นกราฟ USD/JPY และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะตลาดหุ้นนั้นความจริงแล้วอาจปิดตลาดเป็นลบเลยด้วยซ้ำหากไม่มีรายงานผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่แสดงความเชื่อมั่นต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจออกมา
แม้ว่าตัวเลขยอดค้าปลีกจะออกมาดีแต่นักลงทุนก็ยังเป็นกังวลว่าการเติบโตนี้จะคงอยู่ไปได้นานแค่ไหน เพราะเมื่อเทียบกับตัวเลขการจ้างงานจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) และอัตราการเติบโตของค่าจ้างแล้ว พวกเขากลัวว่าเมื่อหมดเงินช่วยเหลือ ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนก็จะหมดลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าการจับจ่ายใช้สอยจะเริ่มกลับมาหลังจากเหตุการณ์พายุหิมะในรัฐเทกซัสดีขึ้นและเมื่อชาวอเมริกันได้รับวัคซีนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีข่าวที่ยังไม่ได้รับการยืนยันอีกว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนอาจได้เซ็นอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในสัปดาห์หน้า หากเป็นเช่นนั้นการเติบโตของการจับจ่ายใช้สอยจะดีขึ้นมากในช่วงกลางเดือนมีนาคมไปจนถึงเมษายน ดังนั้นแล้วเรื่องการเติบโตของตัวเลขค้าปลีกว่าจะสามารถลากยาวไปจนถึงไตรมาสที่สอง สามและสี่ได้หรือไม่นั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลขนาดนั้นในความเห็นของเราและธนาคารกลางสหรัฐฯ
สกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดเมื่อวานนี้คือสกุลเงิน ยูโร แม้ว่าตัวเลขจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) จะออกมาดี แต่นักลงทุนค่อนข้างเป็นกังวลกับการรายงานตัวเลขดัชนี PMI ในวันพรุ่งนี้เพราะหลายๆ ประเทศในยูโรโซนอย่างเช่นเยอรมันยังคงอยู่ในการล็อกดาวน์ นางอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำของเยอรมันออกมาประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่ามาตรการล็อกดาวน์จะยังคงมีผลบังคับใช้ไปจนถึงอย่างน้อยวันที่ 7 มีนาคมเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นรวดเร็วมากสวนทางกับการกระจายวัคซีนที่ยังทำได้ช้า ตราบใดที่สถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ สกุลเงินยูโรก็ยังจะไม่มีโอกาสให้สามารถฟื้นตัว
สกุลเงินปอนด์อ่อนค่าลงเช่นกันเพราะตัวเลขการบริโภคของประชาชนฟื้นตัวได้ช้าและข่าวลือเกี่ยวกับการพูดถึงอัตราดอกเบี้่ยติดลบครั้งใหม่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนมกราคมของสหราชอาณาจักรลดลง 0.2% ส่งผลให้ตัวเลขที่ออกมาน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ การที่ตัวเลข CPI แบบปีต่อปีของประเทศออกมาที่ 0.7% นั้นถือว่ายังต่ำจากเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ที่ตั้งเอาไว้ 2% นี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงมีการยกเรื่องอัตราดอกเบี้ยติดลบกลับมาพูดกันอีกครั้ง ถึงกระนั้นจากคำกล่าวของเดฟ แรมส์เดน รองผู้ว่าการ BoE ทำให้เราเชื่อได้ว่า BoE จะยังเลือกใช้วิธีเข้าซื้อบอนด์และการทำ QE มากกว่าที่จะยอมลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมและยังไม่มีเหตุผลมากพอที่จะดำเนินการเช่นนั้น แต่เมื่อการบริโภคยังไม่ฟื้น ตัวเลขยอดขายปลีกที่จะรายงานในวันพรุ่งนี้ของสหราชอาณาจักรก็จะไม่ฟื้นกลับขึ้นมาด้วยเช่นกัน
สกุลเงินที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดเป็นวันที่สองติดต่อกันคือสกุลเงิน ดอลลาร์นิวซีแลนด์ แม้ว่าตัวเลขการว่างงานจะออกมาลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขคาดการณ์ 6.5% เป็น 6.4% แต่เพราะตัวเลขการจ้างงานไม่สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ได้ จึงทำให้สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่า ส่วนดอลลาร์แคนาดานั้นแข็งค่าขึ้นตามแนวโน้มขาขึ้นของ ราคาน้ำมันดิบ.