แทบจะทุกสำนักข่าวที่เรารู้จักกันดีได้ลงข่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันหมดว่า โจ ไบเดนเริ่มงานของเขาในตอนบ่ายหลังพิธีสาบานตนทันทีด้วยการลงนามในสิ่งที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เคยพาอเมริกาออกมา แต่ข่าวที่ไม่มีใครสนใจและดูเหมือนว่าโจ ไบเดนก็ไม่ได้ลงนามยกเลิกก็คือการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของประเทศอิหร่านหรืออย่างน้อยประกาศอะไรที่จะช่วยผ่อนคลายความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ก็ไม่มี
รัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่ป้ายแดงนางเจเน็ต เยลเลน ได้แถลงต่อสภาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่าหลังจากเธอได้รับตำแหน่ง จะตรวจสอบการคว่ำบาตรทุกอย่างในยุคที่โดนัลด์ ทรัมป์เคยทำมาเพื่อให้แน่ใจว่าสหรัฐอเมริกาในยุคของไบเดนนั้นได้เดินไปในทางที่ถูกที่ควร แม้ว่าเจเน็ตจะพูดอย่างนั้น แต่ก็มีนักวิเคราะห์น้อยมากที่เชื่อว่าอเมริกาจะยอมผ่อนคลายนโยบายกับอิหร่านได้โดยง่าย และต่อให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง คำถามก็คือการยกเลิกการคว่ำบาตรจะทำได้เร็วแค่ไหนและจะส่งผลต่อตลาดน้ำมันโลกอย่างไร
ในสมัยการบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา อิหร่านเคยตกลงที่จะไม่สร้างระเบิดอะตอมมิคขึ้นมาโดยแลกกับความสามารถในการส่งออกน้ำมันได้อย่างอิสระ แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ เขาก็สั่งแบนการส่งออกนี้ทันทีและคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันจากอิหร่าน ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ อาจจะอ้างได้ว่าการบริหารของรัฐบาลทรัมป์ไม่ใช่เรื่องปกติที่สมควรทำ แต่เมื่อมาถึงยุคของไบเดนแล้ว สหรัฐฯ จะไม่มีข้ออ้างอันใดอีกหากยังยืนยันที่จะคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่านต่อไป
ทุกวันนี้อิหร่านสามารถผลิตน้ำมันได้วันละเกิน 600,000 บาร์เรลต่อวัน นี่เป็นข้อมูลที่มาจากท่าเรือส่งออกน้ำมันในเจนีวาซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน ลำพังแค่เดือนมกราคมเพียงเดือนเดียว อิหร่านก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันได้แล้วมากถึง 30,000 - 50,000 บาร์เรลต่อวัน
อิหร่านสามารถผลิตน้ำมันได้มากกว่าที่เรารู้
สำนักข่าวจากเตหะรานตัวเลขการผลิตน้ำมันของอิหร่านที่เห็นตอนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสามารถในการผลิตน้ำมันที่แท้จริงของประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงดูแลการผลิตน้ำมันของอิหร่านประเมินว่าการผลิตน้ำมันของอิหร่านจะสามารถขึ้นถึงระดับก่อนโดนคว่ำบาตรได้ภายในสองเดือน ตอนนั้นสถิติสูงสุดที่อิหร่านเคยทำเอาไว้ได้คือการผลิตน้ำมันปริมาณ 4,000,000 บาร์เรลต่อวัน
นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่าการบริหารของไบเดนในช่วงแรกจะเป็นเรื่องของการจัดการกับปัญหาโควิด-19 เป็นหลัก เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในสหรัฐอเมริกาก่อน ดังนั้นในปีนี้ อิหร่านอาจจะสามารถผลิตน้ำมันและขายได้อย่างอิสระโดยที่สหรัฐอเมริกาอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวว่าอินโดนิเซียสามารถจับเรือลักลอบขนน้ำมันได้ หนึ่งลำมีธงของประเทศอิหร่านโบกสบัดอยู่ส่วนอีกลำเป็นเรือสัญชาติปานามา เรื่องราวทั้งหมดนี้ทำให้คิดได้ว่าอิหร่านอาจจะลักลอบขนน้ำมันมาตั้งแต่ยุคของโดนัลด์ ทรัมป์แล้วก็ได้แต่ที่ผ่านมาทรัมป์ทำเป็นปิดหูปิดตาเรื่องนี้เพราะต้องการลดความตึงเครียดหน้าฉากกับอิหร่านลง
ต้องมาดูกันว่าโจ ไบเดนจะแสดงท่าทีอย่างไรต่อการลอบขนน้ำมันนี้ เขาจะแสดงละครเชือดไก่ให้ลิงดูหรือไม่เพื่อแสดงให้นานาประเทศเห็นว่าจากนี้ไปอเมริกาจะไม่อ่อนข้ออีกแล้ว ไบเดนอาจจะเริ่มแผนการนี้ด้วยการกดดันผู้นำเวนาซูเอลาก่อนในฐานะที่เป็นผู้นำเผด็จการ ไม่แน่ว่าการทำเป็นแกร่งของสหรัฐฯ นี้อาจบีบให้อิหร่านตัดสินใจไปคบค้ากับจีนง่ายขึ้น แม้จะทราบดีว่าสหรัฐฯกับจีนกำลังงัดข้อกัน แต่จีนก็เป็นลูกค้าที่ดีสำหรับอิหร่านอยู่เสมอมา
จีนจะอยากได้น้ำมันจากอิหร่านมากยิ่งขึ้น
โบรกเกอร์สัญชาติยุโรปผู้เชียวชาญเกี่ยวกับการซื้อขายน้ำมันรายงานว่าคุณภาพน้ำมันที่ได้มาจากอิหร่านถือเป็นน้ำมันที่มีซัลเฟอร์สูงซึ่งตรงตามความต้องการของเหล่าบรรดาโรงกลั่นในประเทศจีน อิหร่านอาจจะใช้ประเด็นนี้มากดดันสหรัฐอเมริกา ว่าถ้าไม่อยากให้พวกเขาหันไปค้าขายกับจีนอย่างจริงจัง ก็ต้องยอมแลกด้วยเงื่อนไขอะไรบางอย่างมาเช่นสิทธิ์ในการผลิตนิวเคลียร์หรือยกเลิกการคว่ำบาตรที่มีระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านออกไป
หากอิหร่านจะต่อรองด้วยเหตุผลข้อนี้ก็นับได้ว่าเป็นเหตุผลที่เข้าท่ามากๆ เพราะนอกจากจะได้การส่งออกน้ำมันกลับคืนมาแล้ว อิหร่านจะไม่ถูกลงโทษจากการกระทำเช่นนี้ด้วย ที่สำคัญอิหร่านจะได้กลับเปิดเส้นทางค้าขายผ่านเตหะรานที่เคยถูกปิดไปในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สำคัญก่อนหน้านี้ทำเนียบขาวก็ได้ออกมาพูดแล้วว่าเรื่องของเตหะรานยังไม่สำคัญเท่ากับเรื่องภายในประเทศ แต่โจ ไบเดนก็ได้แต่งตั้งนายโทนี่ บลิงเกน ขึ้นมารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศเพื่อดูแลเรื่องนี้เป็นที่เรียบร้อย
แต่เราเชื่อว่าหากอิหร่านเริ่มมีท่าทีเอนเอียงไปทางประเทศจีนมากขึ้น สหรัฐอเมริกาคงไม่ยอมอยู่เฉยและต้องรีบดำเนินการอะไรบางอย่างแน่ เป็นไปได้ว่าเงื่อนไขที่เรียกร้องอาจเป็นเรื่องของการผลิตนิวเคลียร์เพราะมีรายงานออกมาจากวอชิงตัน โพสต์ว่าอิหร่านกำลังเตรียมความพร้อมและหาส่วนประกอบในการจัดทำแร่โลหะยูเรเนียมอยู่ซึ่งแร่ดังกล่าวเป็นส่วนประกอบในการทำอาวุธนิวเคลียร์
เรื่องที่ต้องรีบจัดการหากอิหร่านผลิตนิวเคลียร์
หนึ่งในสมาชิกของสภาสูงเยอรมันกล่าวว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านในเดือนมิถุนายนนี้ถือเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าผู้นำคนใหม่จะเลือกแข็งกร้าวหรือนอบน้อมต่อการเมืองฝ่ายไหนมากกว่ากันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน สมาชิกสภาสูงของเยอรมันถึงกับกล่าวออกมาว่า
“ยิ่งสหประชาชาติคุยกันน้อยเท่าไหร่ อิหร่านก็มีโอกาสตั้งตัวได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น”
ตัวแทนจากประเทศรัสเซียนายมีฮาอิล อุลยานอฟกล่าวในการประชุมที่เวียนนาว่า JCPOA ต้องรีบดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างรวดเร็วเพราะสัญญาที่ว่าด้วยเรื่องห้ามการผลิตระเบิดอะตอมมิคจะสิ้นสุดลงภายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ยิ่งดำเนินการช้าเท่าไหร่ อิหร่านก็จะมีข้ออ้างในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ง่ายขึ้น เหตุผลที่รัสเซียต้องออกมาพูดเรื่องนี้ด้วยตัวเองเป็นเพราะว่ารัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเตหะรานและมีผลประโยชน์ร่วมกันในอ่าวของเตหะรานด้วย
หากพูดในเชิงความสัมพันธ์ทางการฑูตแล้วถือว่าทั้งสามฝ่ายอาจจะไม่สามารถมานั่งตกลงกันได้อย่างน่าชื่นตาบานมากนัก เพราะทุกฝ่ายต่างก็มีประเด็นบาดหมางกันเองอยู่แล้ว หากยังจำกันได้ ก่อนที่ข่าวโควิดจะดัง อเมริกาภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ได้สั่งเก็บนายพลคัสเซ็ม โซเลมานี่ไปและเกือบนำไปสู่ชนวนสงคราม ต่อมานักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของเตหะรานก็ถูกสังหารโดยมีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
เมื่อเป็นเช่นนี้ อีกหนึ่งตัวแปรที่นักลงทุนจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับดราม่าในประเทศตะวันออกกลางคือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ซึ่งอิหร่านก็เป็นสมาชิกด้วย เป้าหมายที่อิหร่านอยากกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งทั้งในแง่ของการทหารและการผลิตน้ำมันจะขัดกับความต้องการของกลุ่มมากน้อยแค่ไหนในปีนี้
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบพึ่งจะฟื้นตัวหลังจาก OPEC ลดกำลังการผลิต
นอกจากภาพรวมสถานการณ์โควิดที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ความร่วมมือกันเฉพาะกิจระหว่างโอเปกและโอเปกพลัสในการลดกำลังการผลิตน้ำมันเป็นระยะเวลานานกว่าเก้าเดือนช่วยทำให้ราคาน้ำมันดิบสามารถดีดกลับขึ้นมายืนเหนือ $52 ต่อบาร์เรลได้ ในขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้นมาวิ่งอยู่ที่ระดับราคาประมาณ $55 บาร์เรล
แต่หากอิหร่านเพิ่มน้ำมันเข้ามาในระบบเพียงหนึ่งล้านเหรียญเท่านั้นก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งที่กลุ่มโอเปกและโอเปกพลัสพยายามทำมาตลอดทั้งปีที่แล้วทันที นอกจากนี้การกระทำเช่นนั้นของอิหร่านอาจจะไปกระทบความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับซาอุดิอาระเบียเพราะตอนนี้ซาอุดิอาระเบียได้เสียสละลดกำลังการผลิตฯ เพื่อชดเชยให้กับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบอาจดีดตัวกลับขึ้นมาได้ในระยะสั้นหากโจ ไบเดนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า $1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นาย Sunil Kumar Dixit นักวิเคราะห์จาก SK Dixit Charting ประเมินสถานการณ์ของตลาดน้ำมันดิบสั้นๆ ว่า
“มีเพียงการยืนเหนือระดับราคา $53.80 ต่อบาร์เรลได้เท่านั้นที่จะมีโอกาสส่งราคาน้ำมันขึ้นไปยัง $57 และ $62 บาร์เรลตามลำดับ”
อิหร่านอาจไม่สนใจแม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในจุดที่ควรจะเป็นแล้วก็ตาม
อันที่จริงแล้วปีนี้โอเปกจะต้องรับมือกับปริมาณน้ำมันที่เพิ่มเข้ามาจากทั้งอิหร่านและลิเบียซึ่งในเดือนธันวาคม ลิเบียได้แสดงศักยภาพให้เห็นแล้วว่าสามารถผลิตน้ำมันได้ประมาณ 1.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบหกปีของลิเบีย ก่อนหน้านี้ลิเบียไม่สามารถผลิตน้ำมันได้เพราะติดปัญหาสงครามภายในประเทศ
เพื่อรองรับปริมาณน้ำมันใหม่ที่จะเข้ามาและรักษากลุ่มโอเปกเอาไว้ ซาอุดิอาระเบียอาจต้องยอมเสียสละลดกำลังการผลิตในส่วนของตนเองลงอีก แต่ละตัวเลขที่ซาอุดิฯ ยอมอ่อนข้อให้หมายถึงการได้ส่วนแบ่งในปริมาณที่ลดลง คำถามสำคัญก็คือว่าซาอุดิอาระเบียจะเล่นบทพี่ใหญ่ที่แสนดียอมเสียสละให้กับน้องๆ ไปได้นานแค่ไหน
การคว่ำบาตรตลอดสองปีครึ่งของทรัมป์แทบจะเกือบทำลายเศรษฐกิจของอิหร่านทั้งประเทศ ดังนั้นอิหร่านในปีนี้จะต้องหาวิธีที่ทำให้ตัวเองได้สิทธิ์การผลิตและส่งออกน้ำมันในขั้นสูงสุด ไม่มีเวลาสำหรับการประนีประนอมกับกลุ่มโอเปกหรือใครก็ตามอีกแล้ว แอน ลูอีส นักวิเคราะห์จาก Wood Mackenzie สรุปสถานการณ์ของประเทศอิหร่านสั้นๆ แต่เห็นภาพรวมทั้งหมดได้เลยว่า
“ประเทศอิหร่านตอนนี้เปรียบเสมือนช้างที่ถูกจับมายัดอยู่ในห้องเล็กๆ”
ปล. บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนบทความที่อ้างอิงมาจากข้อมูลจริงเท่านั้น