สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์ที่มีข่าวใหญ่ในโลกการลงทุนเยอะมาก เริ่มต้นด้วยเมื่อคืนที่สภาคองเกรสได้ฟังถ้อยแถลงจากนางเจเน็ต เยลเลน ผู้ซึ่งขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่ และในวันนี้เราก็จะได้ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของประเทศนายโจ ไบเดนขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้แล้วจะมีการประกาศเกี่ยวกับนโยบายการเงินจากสามธนาคารกลางสำคัญของโลกภายในสัปดาห์นี้ รายงานตัวเลขดัชนี PMI จากหลายๆ ประเทศทั่วโลกและรายงานตัวเลขในตลาดแรงงานของออสเตรเลีย
โดยภาพรวมแล้วนักลงทุนไม่ได้มีความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในพิธีสาบานตนของโจ ไบเดนมากนัก ขาขึ้นในตลาดหุ้นและสกุลเงินแสดงให้เห็นว่าตลาดพร้อมที่จะต้อนรับประธานาธิบดีคนใหม่และไม่สนใจคนที่กำลังจะกลายเป็นอดีตประธานาธิบดีแล้วว่าจะมาเข้าร่วมพิธีสาบานตนเพื่อแสดงความมีมารยาททางการเมืองหรือไม่ สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน ยกเว้นเพียงแต่สวิตฟรังก์ ถ้อยแถลงของเจเนต เยลเลนเมื่อคืนสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของโจ ไบเดนที่ให้ความสนใจกับประชาชนคนเดินถนนมากกว่านักลงทุนในตลาดหุ้นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว นอกจากนี้เธอยังได้กล่าวอีกว่า “เราจะไม่อ่อนข้อให้กับจีนอย่างแน่นอน”
ก่อนที่พิธีสาบานตนจะเริ่มขึ้นในเที่ยงคืนของวันนี้ตามเวลาประเทศไทย นักลงทุนจะได้ทราบตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากแคนาดาและสหราชอาณาจักรก่อน ตามด้วยการประกาศนโยบายการเงินจากธนาคารกลางแคนาดา (BoC) ตัวเลขจากดัชนี CPI จะแสดงให้เห็นถึงความเร็วของการเติบโตในอัตราเงินเฟ้อของทั้งสองประเทศที่ถูกหนุนโดยอัตราดอกเบี้ยต่ำว่าได้ผลลัพธ์มากน้อยเพียงใด จากรายงานตัวเลขดัชนี PMI ของสถาบัน IVEY ก่อนหน้านี้ ทำให้นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าธนาคารกลางแคนาดาอาจตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 0.25% อีกเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความเร็วให้กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
คำถามสำคัญก็คือว่า “มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ BoC จะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม?” หากติดตามข่าวเศรษฐกิจมานานจะทราบดีว่า BoC ไม่ใช่ธนาคารที่สนับสนุนให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยลงไปจนติดลบ แต่ก็เข้าใจได้ว่าทำไมนักวิเคราะห์บางส่วนถึงประเมินเช่นนั้นเพราะในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาผู้ว่าการธนาคารนายทิฟฟ์ แมคเล็มเคยกล่าวเอาไว้ว่า “การปรับอัตราดอกเบี้่ยให้ลงไปอยู่ในระดับต่ำสุดเพราะเห็นว่าเศรษฐกิจยังอ่อนแอต่อเนื่องเป็นสิ่งที่เป็นไปได้” ตารางด้านล่างนี้แสดงให้เห็นว่าโควิดได้ทำร้ายแคนาดาในช่วงสิ้นปีมากเพียงใด จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน ตัวเลขยอดขายปลีกและกิจกรรมในภาคการผลิตหดตัว ดังนั้นตัวเลขรายงานของเดือนมกราคมที่จะออกในเดือนหน้าเชื่อได้เลยว่าจะไม่ใช่ตัวเลขที่สวยงามสำหรับแคนาดาอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนก็มองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิมของ BoC ในช่วงต้นเดือนธันวาคมทั้งๆ ที่มีการระบาดระลอกใหม่หมายความว่า BoC ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจแคนาดายังไปต่อได้อยู่ การมาของวัคซีนต้านโควิดจะช่วยพลิกสถานการณ์จากร้ายให้กลายเป็นดีได้ในครึ่งปีหลัง ด้วยเหตุผลนี้ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นจะเป็นตัวช่วยหนุนเศรษฐกิจของแคนาดาให้กลับมาดีขึ้นได้ ดังนั้นในความเห็นของเรา มีโอกาสประมาณ 30% เท่านั้นที่ BoC จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกเล็กน้อย อย่างมากที่สุดที่ BoC จะทำให้วันนี้คือแสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนวัคซีน แต่หาก BoC ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยจริง กราฟ USD/CAD จะได้โอกาสวิ่งขึ้นสู่ระดับราคา 1.28 แต่ถ้าคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ดังเดิม กราฟก็จะทรงตัวอยู่ในบริเวณราคาปัจจุบัน ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
สกุลเงินที่แข็งค่าขึ้นมากที่สุดเมื่อคืนนี้คือยูโรซึ่งเป็นอานิสงส์มาจากข้อมูลตัวเลขความเชื่อมั่นทางธุรกิจจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) ที่แสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีความกลัวน้อยลงแม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อโควิดในเยอรมันสูงขึ้นจนผู้นำเยอรมันต้องการจะยืดเวลาล็อกดาวน์ออกไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ตัวเลขจาก ZEW ที่ออกมาดีเมื่อวานนี้จะช่วยทำให้ตัวเลขดัชนี PMI ของยูโรโซนในวันศุกร์ออกมาดีขึ้นตามไปด้วย นอกจากยูโรแล้ว สกุลเงินที่ปรับตัวขึ้นตามราคาในตลาดหุ้นในประเทศตัวเองก็มีสกุลเงินปอนด์ ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์