ทุกคนทราบกันดีว่าการมาถึงของวิกฤตโควิด-19 ทำให้ภาครัฐต้องเหนื่อยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมายตลอดทั้งปี 2020 ธนาคารกลางทั่วโลกได้พยายามช่วยเหลือเศรษฐกิจภายในประเทศของตนด้วยการพิมพ์เงินเพื่ออุ้มเศรษฐกิจเอาไว้ตามกำลังของตน เพื่อให้มั่นใจว่านักลงทุนจะยังมีความเชื่อมั่น และลงทุนภายในประเทศกับพวกเขาต่อ
แต่คำถามในปีหน้าจะไม่ใช่เรื่องเฉพาะโควิดอีกแล้ว ธนาคารกลางจะต้องรับมือกับคำถามมากมายที่แสดงความเป็นห่วงต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นตามมา“คุณจะหยุดน้ำท่วมอย่างไรในวันที่เขื่อนแตกแล้ว?” ผู้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำอย่างไรกับเงินที่ล้นตลาดจากการยิงบาซูก้าทางการเงินในช่วงต้นปี 2020?” นั่นคือคำถามสำคัญที่ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเผชิญในวันที่วัคซีนต้านโควิดออกแล้วและเต็มไปด้วยบรรยากาศของภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
การพิมพ์เงินไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากกว่าคือการบริหารความคาดหวังของนักลงทุนในตลาด
จากประวัติศาสตร์ตลาดการเงินโลกของมนุษยชาติที่ผ่านมาจะเห็นว่าการพิมพ์เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางฯ สามารถดีดนิ้วสั่งการได้ในทันที แต่สิ่งที่ยากที่สุดหลังจากนั้นคือการรักษาความคาดหวังของนักลงทุนในยามที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว การบริหารเงินนับเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ธนาคารกลางนั้นมีสูงมาก แต่หากพูดถึงเรื่องจิตวิทยาแล้วกลับไม่มีธนาคารกลางที่ใดในโลกทำได้ดีเลย ยกตัวอย่างเช่นในปี 2013 ผู้วางนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เคยสัญญากับนักลงทุนเอาไว้ว่าพวกเขามีแผนที่จะลดการใช้มาตรการ QE ลงเรื่อยๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเฟดประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นผิดพลาด
ตลาดหุ้น และบอนด์ร่วงลงทันทีที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในสมัยนั้น นายเบน เบอร์นันเก้ บอกกับสภาคองเกรสว่าเฟดอาจจำเป็นต้องลดการซื้อบอนด์ให้น้อยลงในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัว แม้เฟดจะเริ่มมีความเป็นกังวลกับสิ่งที่เคยสัญญาไว้ แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในด้านปัจจัยพื้นฐานในเรื่องของการสื่อสารได้เลย ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือเฟดกลับบอกให้นักลงทุนควรลงทุนอย่างรัดกุมในจังหวะที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในจุดการฟื้นตัวที่ดี
บทเรียนในวันนั้น นำมาสู่การดำเนินการในวันนี้ หากพิจารณาบุคคลที่มีส่วนกับการสอบถามการทำงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ ถึงแนวทางการดำเนินนโยบายทางการเงินในอนาคตจะพบว่าอันที่จริงแล้วสภาคองเกรสถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝั่งแรกคือกลุ่มที่ต้องการให้เฟดไม่ผ่อนคลายนโยบายทางการเงินมากจนเกินไปนัก ซึ่งนำโดยเอสเตอร์ จอร์จ และโลเร็ตตา เมสเตอร์ ผู้ว่าการธนาคารกลางเมืองเคนซัส และเคลเวอร์แลนด์ กับอีกฝั่งหนึ่งคือฝ่ายที่สนับสนุนให้เฟดผ่อนคลายทางการเงินเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจเอาไว้ก่อน ซึ่งนำโดย นายนีล คัชคาริ และเจมส์ บลูราร์ด ในปีหน้าแถลงการณ์ของเฟดที่มีต่อสภาคองเกรสจะยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้นเพราะเฟดจะต้องตอบคำถามที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ได้ในวันที่โควิดจากมนุษยชาติไปแล้ว
สถานการณ์คล้ายๆ กันนี้ก็เกิดขึ้นที่ฝั่งยุโรปด้วยเช่นกันเมื่อเหล่าผู้วางนโยบายการเงิน 25 คนของธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) จะเป็นผู้ซักถามการดำเนินงานของประธานธนาคารกลางเยอรมันหรือเนเธอร์แลนด์เกี่ยวกับการรัดกุมหรือผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ที่น่าสนใจก็คือประธานธนาคารกลาง ECB นางสาว คริสตีน ลาการ์ด จะมีท่าทีอย่างไรกับการซักถามนี้ในเมื่อเธอคือคนที่มักจะเลือกวิธีการประนีประนอมทางการเงินมาโดยตลอด
ที่ผ่านมาธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ก็ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยให้ลงไปต่ำกว่า 0% มาโดยตลอด แต่ในปีหน้าเราเชื่อว่าอีกหนึ่งคำถามที่ BoE จะต้องตอบกับสาธารณชนด้วยก็คือธนาคารกลางฯ จะมีนโยบายทางการเงินอย่างไรกับข้อตกลง Brexit ที่พึ่งจะได้ข้อตกลงร่วมกันไปไม่นานมานี้ และคำถามที่สำคัญที่สุดที่รับประกันได้ว่าทุกๆ ธนาคารกลางจะต้องถูกถามเป็นอย่างมากในปีหน้าคือ “ธนาคารกลางจะมีนโยบายแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่ถูกเร่งให้เร็วขึ้นได้อย่างไร?”
แม้ว่าที่ผ่านมาตลอดทั้งปี 2020 เฟดและธนาคารกลางอื่นๆ ต่างแสดงจุดยืนที่เหมือนกันก็คือไม่คิดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปี 2023 แต่ก็อย่างที่ทราบกันว่าคำสัญญานั้นเป็นเพียงการคาดการณ์ พวกเขาพร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเลขปีนั้นได้ทุกเมื่อตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ ปี ตัวอย่างที่ใกล้ตัวเราที่สุดคือการที่เฟดยอมให้อัตราเงินเฟ้อสามารถขึ้นเกิน 2% ได้เป็นครั้งคราวแล้วแต่จะเห็นควรทั้งๆ ที่นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 1930 เฟดไม่เคยยอมให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ขึ้นไปไกลกว่า 2% ได้อีกเลย
ในขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ อาจเลือกเดินตามสิ่งที่สหรัฐฯ ทำ แต่ความน่าสนใจในปีหน้าอีกประเด็นหนึ่งจะอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงอำนาจของสกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งของโลกที่อาจเกิดขึ้นจริง ในตอนนี้ประเทศจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลก และอาจก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งได้ภายในปี 2028 จีนกำลังมีความพยายามอย่างมากที่จะผลักดันสกุลเงินหยวน ของตนให้เป็นที่ยอมรับในโลกสากลให้ได้ โดยจีนพยายามบอกว่าแผนการนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคุกคามมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อันที่จริงแล้วสกุลเงินยูโรเองก็เคยถูกเก็งเอาไว้ว่าอาจขึ้นมาแทนดอลลาร์สหรัฐได้ แต่จากเศรษฐกิจที่ถูกโควิดเล่นงานอยู่ในตอนนี้ ภาพนั้นอาจจะไกลว่าภาพการเติบโตของสกุลเงินหยวนจากจีน
ดังนั้นก็ต้องมาจับตาดูความสามารถของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีหน้ากันแล้วว่าจะสามารถควบคุมในสิ่งที่พวกเขาทำลงไปตลอดทั้งปี 2020 ได้มากแค่ไหน เฟดจะคุมอัตราเงินเฟ้อให้ไม่ไปไกลเกินกว่า 2% ได้ตามที่พูดหรือไม่ เฟดจะหยุดซื้อบอนด์เมื่อไหร่ จะเริ่มกลับมาควบคุมดุลงบประมาณได้เมื่อไหร่ และที่สำคัญที่สุดคือเราจะได้เห็นภาพการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อไหร่