เมื่อมองย้อนหลังกลับไปตลอดทั้งปี 2020 ต้องยอมรับว่านี่เป็นปีที่ตลาดน้ำมันผันผวนมากที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ เชื่อว่าจากนี้ไปอีกนานแสนนาน นักวิเคราะห์รุ่นหลังจะต้องอ้างอิงความผันผวนในปีนี้เป็นตัวอย่างประกอบการวิเคราะห์อย่างแน่นอน ใครจะคิดว่าครั้งหนึ่งจะเคยได้เห็นราคาน้ำมันดิบ WTI วิ่งลงไปสร้างจุดต่ำสุดที่ติดลบ $40 ต่อบาร์เรลก่อนที่จะสามารถวิ่งกลับขึ้นมาได้จนเกือบแตะ $50 ต่อบาร์เรลภายในปีเดียวกัน
ในช่วงแรกของการฟื้นตัวยังไม่มีอะไรน่าประหลาดใจมาก ราคาน้ำมันสามารถทรงตัวอยู่ที่ระดับราคา $40 มาเกือบตลอดทั้งปี จนกระทั่งมีข่าววัคซีนต้านโควิดถูกผลิตออกมาจากบริษัทไฟเซอร์ (NYSE:PFE) และโมเดิร์นนา (NASDAQ:MRNA) ออกมา นักลงทุนก็มีความเชื่อมั่นราวกับวิกฤตครั้งนี้ได้จบลงแล้ว ทำให้ราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นเหนือ $45 ต่อบาร์เรลได้ แม้จะไปไม่ถึง $50 แต่ก็สามารถยืนอยู่ได้บริเวณ $48 ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่
ปัจจัยหลักที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในปี 2021
หากพูดถึงตลาดน้ำมันดิบ องค์กรแรกที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างกลุ่มโอเปก (OPEC) ในการประชุมครั้งล่าสุดที่ได้ผลการประชุมว่าจะค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันวันละ 500,000 บาร์เรลต่อวันนั้นดูเหมือนว่ากลุ่มโอเปกจะสามารถควบคุมกลุ่มประเทศสมาชิกได้ดีในเรื่องของการต่อรองเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน อย่างไรก็ตามการให้สิทธิพิเศษกับประเทศลิเบีย หนึ่งในสมาชิกที่พึ่งผ่านภัยการเมืองภายในประเทศมาได้ให้สามารถผลิตน้ำมันได้มากกว่าประเทศสมาชิกอื่นชั่วคราวอาจกลายเป็นปัญหาได้ในปีหน้า
ในตอนนี้บริษัทเอกชนผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในลิเบียได้เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็นสองเท่า มีน้ำมันมากกว่า 100,000 บาร์เรลต่อวันถูกขุดขึ้นมาเทียบกับก่อนที่ปัญหาภายในจะเกิดขึ้นตอนนั้นลิเบียสามารถผลิตน้ำมันได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 55,000 บาร์เรล ในขณะเดียวกันบริษัทผู้ผลิตน้ำมันจากฝรั่งเศส (TOT) ในลิเบียก็มีแผนที่จะอัดเงินลงทุนเพื่อขุดน้ำมันเพิ่มในปีหน้าและพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ขึ้นสู่ระดับสูงสุด
ปัญหายังไม่จบแค่นั้น กลุ่มโอเปกยังมีเรื่องให้ปวดหัวมากกว่าลิเบียอีกเมื่อต้องนึกถึงสถานการณ์ของประเทศอิหร่าน ที่ผ่านมากลุ่มโอเปกพยายามจะทำเหมือนกับเรื่องของอิหร่านไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ทันทีที่นายโจ ไบเดนขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ ในวันที่ 20 มกราคม เกมการเมืองครั้งใหม่ก็จะเริ่มต้นขึ้น สิ่งใดที่ทรัมป์เคยทำไม่ว่าจะเป็นการคว่ำบาตร การออกจากสนธิสัญญานิวเคลียร์ ไบเดนมีโอกาสพาสหรัฐฯ กลับเข้าสู่สิ่งที่เคยยกเลิกไปทั้งหมด
ประธานาธิบดีของอิหร่านฮัสซัน รูฮานีเคยออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าเขาต้องการพาอิหร่านกลับขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งด้วยการผลิตน้ำมันอย่างที่เคยทำได้ในปี 2018 ซึ่งคิดเป็นปริมาณการผลิตรวมทั้งสิ้นในตอนนั้น 2 ล้านบาร์เรลต่อวันก่อนที่จะถูกโดนัลด์ ทรัมป์สกัดความร้อนแรง แม้ว่าตอนนี้อิหร่านจะให้สัญญากับกลุ่มโอเปกเอาไว้ว่าจะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างช้าๆ แต่ใครๆ ต่างก็รู้ดีว่าเบื้องหลังแล้วอิหร่านกำลังเตรียมพร้อมกลับมาผลิตน้ำมันในปริมาณมหาศาล
เรียกได้ว่ารับศึกหลายด้านทีเดียวเพราะเมื่อโอเปกหันไปมองพันธมิตรคนสำคัญอย่างประเทศรัสเซียแล้ว พวกเขาเองก็ยังยืนอยู่ข้างการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันแม้ว่าจะเป็นการค่อยๆ เพิ่มกำลังการผลิตตามที่ตกลงเอาไว้กับทางกลุ่มก็ตาม อ้างอิงตามคำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซียนายอเล็กซานเดอร์ โนวาค กล่าวว่าตอนนี้ราคาน้ำมันดิบภายในประเทศแกว่งอยู่ในระดับ $45 - $55 ต่อบาร์เรลซึ่งยังถือว่ายอมรับได้ ส่วนทางซาอุดิอาระเบีย พี่ใหญ่ของกลุ่มโอเปกก็ไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ต่อคำพูดนี้ แม้สถานการณ์จะดูเหมือนว่าไม่มีอะไร แต่อย่าลืมว่าในช่วงต้นปี 2020 รัสเซียเคยลองงัดข้อกับซาอุดิอาระเบียมาแล้ว จนนำไปสู่การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบียและทำให้ราคาน้ำมันดิบตกต่ำลงไปจนติดลบเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์วงการน้ำมัน
นาย Osama Rizvi นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ตลาดน้ำมันประเมินว่าหากรัสเซียสามารถเพิ่มกำลังการผลิตแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปจนได้ตามโควตาที่ต้องการ มีความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจเรียกร้องมากขึ้นและหากถึงตอนนั้นประเทศสมาชิกรายย่อยอื่นๆ ที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรมากนักก็จะทำตาม และต่อให้ซาอุดิอาระเบียจะไม่ทำตามขำขอของรัสเซีย ประเทศอื่นๆ อาจจะแอบเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเอาเองได้
“อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นประเด็นในกลุ่มโอเปกมาตลอดคือการโกงด้วยการแอบเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันภายในประเทศสมาชิก ตัวเลข 500,000 บาร์เรลต่อวันอาจเป็นตัวเลขที่ตั้งขึ้นมาสวยๆ ไปอย่างนั้น เพราะแม้แต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาก็มีข่าวว่าบางประเทศสมาชิกได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันขึ้นมาเป็น 670,000 บาร์เรลต่อวัน นี่ยังไม่นับการผลิตน้ำมันของลิเบียที่จะเข้ามาในตลาดอีก 1,300,000 บาร์เรลต่อวัน รับรองได้ว่าเราจะได้เห็นดราม่าของกลุ่มโอเปกในเรื่องเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในปี 2021 อย่างแน่นอน”
นอกจากกลุ่มโอเปกแล้ว บริษัทผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาก็มีความต้องการเพิ่มกำลังการผลิตด้วยเช่นกัน ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานพบจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันถูกเปิดใช้งานมากขึ้นในรอบ 13 สัปดาห์ล่าสุด ตอนนี้สหรัฐฯ มีการเปิดใช้งานแท่นดังกล่าวแล้วทั้งสิ้น 264 แท่นเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 258 แท่น
อุปทานน้ำมันดิบเสี่ยงล้นตลาดเมื่ออุปสงค์ฟื้นตามไม่ทัน
เรื่องที่น่าเป็นกังวลสำหรับตลาดน้ำมันดิบยังไม่จบเพราะเมื่อหันมามองฝั่งอุปสงค์พบว่าตัวบ่งชี้การกลับมาของความต้องการน้ำมันดิบมีค่อนข้างน้อยและยังไม่ชัดเจนมากนักแม้จะมีวัคซีนต้านโควิดแล้ว เมื่อช่วงต้นเดือน กลุ่มโอเปกก็พึ่งจะลดตัวเลขคาดการณ์ความต้องการน้ำมันดิบในรายงานภาพรวมในตลาดน้ำมันดิบปี 2021 เหลือ 5.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นการหายไปของน้ำมันดิบจำนวน 350,000 บาร์เรลต่อวันโดยให้เหตุผลว่า
“เพราะการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกครั้งทำให้ไม่สามารถคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันได้อย่างแม่นยำโดยเฉพาะในครึ่งปีแรกของปี 2021”
รายงานปริมาณน้ำมันดิบจาก EIA ของสหรัฐอเมริกาและปารีสต่างก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าความต้องการน้ำมันดิบภายในปี 2021 จะหายไปจากตัวเลขในปี 2019 ประมาณ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่สิ่งที่รายงานของ EIA เน้นย้ำและเป็นห่วงเป็นอย่างมากคือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ตอนนี้ทำให้ 40 ประเทศสั่งแบนเที่ยวบินจากสหราชอาณาจักรแล้ว พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการคุมเข้มและล็อกดาวน์ไปทั่วยุโรป ปัจจัยนี้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็น 10% ของความต้องการน้ำมัน
ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจาก PVN ก็ระบุว่าการใช้งานรถยนต์ทั่วโลกลดลง 20-25% และอาจลงไปถึง 30% ได้หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในสหรัฐอเมริกาไม่ดีขึ้น แน่นอนว่าตัวเปลี่ยนเกมที่ทุกคนหวังอย่างวัคซีนก็ได้ออกมาแล้ว แต่ความเร็วของการแจกจ่ายวัคซีนไปทั่วโลกที่แข่งกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในตอนนี้ ฝั่งเชื้อไวรัสยังคงถือแต้มต่ออยู่เป็นอย่างมาก ที่สำคัญการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะยิ่งเป็นการตอกย้ำแผลทางเศรษฐกิจให้กลายเป็นแผลเป็นและต้องใช้เวลากว่าจะกลับไปในระดับเดียวกันกับปี 2019 ได้นานขึ้น
กว่าจะกลับขึ้นไปยืนเหนือ $50 ได้อีกครั้งยังต้องใช้เวลา
Julian Lee นักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์กแสดงความเห็นว่า
“ใครก็ตามที่คิดว่าวัคซีนมาแล้ว เรื่องทุกอย่างจะจบลงทันทีคงจะอ่านนิยายมาเยอะไปหน่อย ยังเหลืออีกหลายก้าวให้มนุษยชาติได้ฝ่าฝันกับวิกฤตครั้งนี้อีกหลายเดือน ยิ่งถ้าพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจแล้ว เรายังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลยด้วยซ้ำ”
ในตอนนี้ดูเหมือนว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์คงจะปิดปี 2020 ด้วยการปรับตัวลดลง 20% จากระดับราคาเปิดในช่วงต้นปี มีราคาซื้อขายอยู่เหนือ $50 ต่อบาร์เรล ในขณะที่น้ำมันดิบ WTI คงจะหมดหวังในการกลับขึ้นมายืนเหนือ $50 ได้ก่อนปีใหม่
นาย Osama Rizvi วิเคราะห์ว่าแนวต้าน $50 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดน้ำมันดิบ WTI
“การวางคำสั่งซื้อที่ราคาบริเวณ $50 ต่อบาร์เรลถือว่าเป็นอะไรที่เสี่ยงมาก การปรับฐานที่ $50 อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้เพราะเป็นแนวต้านจิตวิทยา นอกจากนี้ที่ราคาดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานเกิดขึ้นเช่น ปริมาณความต้องการน้ำมันดิบจากจีนในปีหน้า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในยุคของไบเดน การโกงเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกและที่สำคัญการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19”