-
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินเข้าสู่ภาวะปรับฐาน หลังการระบาดของ COVID-19 ทวีความรุนแรงในหลายพื้นที่
-
จับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจทั่วโลกและสถานการณ์ COVID-19 โดยตลาดการเงินอาจปิดรับความเสี่ยงได้ จากความกังวลผลกระทบของ COVID-19 ระลอก 2 ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะเริ่มสะท้อนผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ
-
ความไม่แน่นอนของตลาดการเงิน คือปัจจัยหนุนเงินดอลลาร์ โดยในระยะสั้นปัจจัยความไม่แน่นอนสำคัญคือ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มกดดันให้ข้อมูลเศรษฐกิจออกมาแย่กว่าคาด หรือการเจรจา Brexit ซึ่งก็เริ่มกลับมามีแนวโน้มที่จะตกลงกันไม่ได้ก่อนกำหนดสิ้นปีนี้
-
กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 30.15-30.55 บาท/ดอลลาร์
-
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ในวันพฤหัสฯ ตลาดคาดว่า BOK จะ“คง”อัตราดอกเบี้ย (7-Day Repo) ไว้ที่ระดับ 0.50% หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ขณะเดียวกัน BOK ยังคงกังวลผลกระทบของดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น BOK จะเลือกใช้เครื่องมือการเงินอื่นๆ แทนการลดดอกเบี้ย อาทิ การซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อคุมต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล
-
ฝั่งสหรัฐฯ – ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยตลาดมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board เดือนพฤศจิกายนจะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 97.9จุด จากระดับ 100.9จุด ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ยอดการใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Spending) เดือนตุลาคมจะขยายตัวเหลือ 0.4% จากเดือนก่อนหน้า ลดลงจากที่ขยายตัวถึง 1.4% ในเดือนกันยายน
-
ฝั่งยุโรป – ประเด็นสำคัญในสัปดาห์นี้ จะเริ่มจากการเจรจาข้อตกลง Brexit ที่เริ่มกลับมามีความเสี่ยงว่าทั้งอังกฤษและ EU จะไม่สามารถตกลงกันได้ภายในสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกันปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงรุนแรง จะทำให้ตลาดกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปมากขึ้น โดย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (IFO Business Climate) ในเดือนพฤศจิกายนจะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 90.3จุด จากระดับ 92.7จุด ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ (Mfg. and Services PMIs) ของยูโรโซนในเดือนพฤศจิกายนจะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 53.3จุด และระดับ 42จุด ตามลำดับ สะท้อนถึงภาวะชะลอตัวในภาคการผลิตและภาวะหดตัวมากขึ้นของภาคการบริการ
-
ฝั่งไทย – การส่งออกในเดือนตุลาคมมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังคงหดตัวราว 5% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ยอดนำเข้าจะหดตัวถึง 13% ส่งผลให้ดุลการค้ายังคงเกินดุลกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ แม้จะไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติ
มุมมองนโยบายการเงิน
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก