แม้ว่าเมื่อวานนี้ดอลลาร์จะปรับตัวสูงขึ้นเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันเพราะรายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM สามารถเอาชนะตัวเลขคาดการณ์ไปได้ แต่โดยภาพรวมสำหรับเราแล้วก็ยังมองว่าดอลลาร์สหรัฐอยู่ในขาลงอยู่ดีและเรามองว่าขาขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เป็นเพียงการปรับฐานขึ้นมาซึ่งมีโอกาสที่ดอลลาร์จะลงต่อได้อีก
ที่จริงแล้วหากไปดูที่กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐจะเห็นว่าราคายังคงวิ่งอยู่ใกล้กับจุดต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่งอยู่เลยและถ้าหากดัชนีสามารถปรับตัวลดลงไปได้อีก 4% ก็จะสามารถลงไปสู่จุดต่ำสุดในรอบ 6 ปีได้ นักวิเคราะห์ในตอนนี้ส่วนใหญ่เชื่อว่าดอลลาร์สหรัฐจะยังอยู่ในขาลงไปอีกนานหลังจากที่เฟดตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายอัตราเงินเฟ้อระยะยาว
ในขณะเดียวกันสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีนอาจยิ่งทำให้สกุลเงินหยวนก้าวขึ้นสู่บัลลังก์สกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งของโลกแทนดอลลาร์ได้เร็วยิ่งขึ้นแม้ว่านักวิเคราะห์บางคนยังไม่เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะสามารถเกิดได้จริงในเร็วๆ นี้ มีข้อมูลออกมาจากธนาคารโลกและ IMF ที่ระบุว่าภายในปี 2024 ประเทศจีนจะได้รับตำแหน่ง “ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก” แทนที่สหรัฐอเมริกา เมื่อนำทั้งสองสกุลเงินมาเปรียบเทียบกันด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้วเราก็พอจะเห็นภาพในสิ่งที่ IMF และธนาคารโลกพูดขึ้นมาบ้างแล้ว
เมื่อดูกราฟดอลลาร์เทียบหยวนรายสัปดาห์จะเห็นว่ากราฟสร้างรูปแบบ double-top ที่กินเวลามานานกว่า 15 เดือน แม้ว่ากราฟจะสามารถเจาะเส้นเทรนด์ไลน์ขาขึ้นระยะยาวลงมาได้แล้วแต่ราคาก็ยังดีดกลับที่บริเวณเส้นค่าเฉลี่ย 200 สัปดาห์เป็นครั้งแรก ถึงกระนั้นหากดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง (อย่างที่ควรจะเป็นตามนโยบายการเงินของเฟด) เรามีโอกาสที่จะได้เห็นความต้องการถือครองดอลลาร์หดตัวมากกว่านี้และเปิดทางให้กับเหรินหมินปี้มีโอกาสเฉิดฉายมากขึ้น
หากพิจารณาอินดิเคเตอร์ควบคู่ด้วยแล้วจะเห็นว่าสิ่งที่เราวิเคราะห์ไม่ได้เป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิด อินดิเคเตอร์บอกแนวโน้มทั้งสามอย่าง MACD, RSI และ ROC ต่างพากันหลุดกรอบชี้เป็นขาลงหมด เส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นใน MACD ตัดเส้นระยะยาวลงไปแล้วซึ่งถือเป็นสัญญาณขาย ที่น่าสังเกตคือการตัดกันของเส้นค่าเฉลี่ยใน MACD ก่อนหน้าครั้งล่าสุดคือจังหวะเดียวกันกับที่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐร่วงลงมาสู่จุดต่ำสุดในปัจจุบัน ดังนั้นการตัดกันครั้งล่าสุดนี้อาจนำมาสู่ขาลงระยะยาวจนกราฟ USD/CNY สามารถลงไปต่ำกว่าแนวรับของเดือนเมษายนปี 2019
นอกจากนี้อินดิเคเตอร์ ROC ทะลุออกจากกรอบสามเหลี่ยมสมมาตรเป็นแนวโน้มขาลงในขณะที่ RSI ก็สามารถทะลุกรอบราคาขาลงลงมาได้ด้วยเช่นกัน
กลยุทธ์การเทรด
เทรดเดอร์ที่ไม่ชอบความเสี่ยง จะรอจนกว่ากราฟ USD/CNY ลงไปต่ำกว่าจุดต่ำสุดของเดือนกุมภาพันธ์เพื่อยืนยันขาลง
เทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง จะไม่วางคำสั่งขายจนกว่ากราฟจะสามารถลงไปต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 สัปดาห์ได้ หรือในอีกทางหนึ่งจะรอจนกว่ากราฟกลับขึ้นไปทดสอบเส้นแนวรับของรูปแบบ double-top อีกครั้ง
เทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้สูง จะวางคำสั่งขายทันทีที่ต้องการโดยมีแผนการรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและเงินทุนที่มากพอจะรอกราฟให้สวิงได้อยู่แล้ว
ตัวอย่างการเทรด (ขาลง)
- จุดเข้า: 6.8300
- Stop-Loss: 6.8500
- ความเสี่ยง: 200 จุด
- เป้าหมายในการทำกำไร:6.7100 (เหนือจุดต่ำสุดของปี 2019)
- ผลตอบแทน: 1,200 จุด
- อัตราความเสี่ยงต่อผลตอบแทน: 1:6