หลังจากการประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 2 ของสหราชอาณาจักร (UK) ออกมาติดลบ 20.4% ซึ่งถือเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจที่หนักที่สุดของสหราชอาณาจักรจนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการไปแล้ว แม้แต่ธนาคารกลางแห่งอังกฤษ (BoE) ยังออกมายอมรับเองว่าประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยที่หนักที่สุดในรอบศตวรรษหรือาจจะในรอบ 300 ปีเลยก็ได้ ด้วยสาเหตุนี้หลายๆ คนก็มีคำเรียกสหราชอาณาจักรในตอนนี้ว่า “คนป่วยแห่งยุโรป”
แต่เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกันแบบปีต่อปีระหว่างเดือนเมษายนไปจนถึงมิถุนายนของสกุลเงินปอนด์และดอลลาร์สหรัฐพบว่าปอนด์มีตัวเลขการหดตัวในไตรมาสที่ 2 ดีกว่าของดอลลาร์ สิ่งที่นักลงทุนตั้งคำถามเลยคือ “เกิดอะไรขึ้น?” “ทำไมประเทศที่แบงก์ชาติออกมายอมรับว่ากำลังถดถอยอย่างเต็มปากเต็มคำกลับมีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า?”
สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะอันที่จริงแล้วสกุลเงินปอนด์ชินกับการอยู่ในสภาพที่อ่อนมูลค่ามานานกว่าดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์ประสบปัญหามรสุม Brexit มาตั้งแต่ปี 2016 และลากยาวมาจนถึงโควิด-19 ในปัจจุบัน แม้ว่าสาเหตุหลักๆ ทั้งสองจะส่งผลให้ปอนด์อ่อนมูลค่ากว่าสกุลเงินหลักอื่นๆ แต่ล่าสุดปอนด์พึ่งได้รับข่าวดีจากตัวเลขยอดค้าปลีก ตัวเลขในภาคบริการและตัวเลขการว่างงานที่ดีขึ้น
ที่สำคัญการอ่อนมูลค่าลงของดอลลาร์ในตอนนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ช่วยดันสกุลเงินปอนด์ให้ดูแข็งค่ากว่าและเมื่อนำปอนด์ไปเทียบกับยูโร ปอนด์มีความได้เปรียบยูโรอยู่นิดหน่อยเพราะนักลงทุนตั้งความหวังกับสัปดาห์แห่งการเจรจา Brexit สัปดาห์นี้เอาไว้มากว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมเสียที นักวิเคราะห์บางคนถึงกับบอกว่าสัปดาห์นี้ปอนด์จะรุ่งหรือจะร่วงขึ้นอยู่กับผลการเจรจา Brexit ล้วนๆ
แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ปัจจัยทั้งสาม (Brexit, ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีและเศรษฐกิจที่หดตัวน้อยกว่าสหรัฐฯ) จะช่วยหนุนสกุลเงินปอนด์ แต่ก็มากพอที่จะดันกราฟ GBP/USD ให้ปรับตัวสูงขึ้นไปอีกอย่างที่แสดงในการวิเคราะห์ทางเทคนิค
หากนับจากวันที่ 17 กรกฏาคมมาจนถึง 31 กรกฏาคมจะพบว่ากราฟปอนด์เทียบดอลลาร์ขึ้นมาแล้วมากกว่า 5.28% หลังจากนั้นกราฟมีการพักตัวเล็กน้อยเนื่องจากข่าวดีในฝั่งดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อน จนกระทั่งเมื่อวันอังคารที่ความเชื่อมั่นในสกุลเงินปอนด์มีมากกว่าดอลลาร์พากราฟทะลุกรอบสามเหลี่ยมออกมาได้ถึง 1% สร้างความหวังให้กับการไปต่อของขาขึ้น ถ้าจะให้เข้าใจในภาษานักวิเคราะห์ทางเทคนิคง่ายๆ ก็คือนี่คือการย่อพักตัวเพื่อรอขึ้นต่อหลังจากพึ่งทะลุแนวต้านหลัก (เส้นสีฟ้า) ขึ้นมา
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับขาขึ้นครั้งนี้คือหาสังเกตดีๆ จะพบว่าขาขึ้นครั้งใหญ่ขนาด 6% ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคมไปจนถึงวันที่ 10 มิถุนายนเกิดขึ้นหลังจาก BoE ออกมายอมรับว่าเศรษฐกิจกำลังหดตัวมากที่สุดในรอบ 300 ปี แต่ตอนนั้นข่าวร้ายนี้ไม่อาจกดกราฟลงไปได้นั่นคือข่าวดีสำหรับนักลงทุน ก่อนหน้านี้ปอนด์ก็เคยดีดตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคมได้มากถึง 11%
อันที่จริงแล้วในภาพรวมของกราฟ GBP/USD ตั้งแต่ขาลงใหญ่วันที่ 9 มีนาคมจนถึงวันที่ 20 และกราฟดีดตัวกลับขึ้นมาจะเห็นว่ากราฟสร้างเป็นรูปแบบ “ลิ่มลู่ขึ้น” (Rising Wedge) ตามตำราแล้วรูปแบบนี้มีไว้เพื่อหนุนแนวโน้มขาลงแต่ทันทีที่กราฟสามารถหลุดกรอบรูปลิ่มด้านบนขึ้นไปได้ก็เกิดเป็นความเชื่อมั่นที่ตีกลับไปทางขาขึ้น นักลงทุนในตลาดเปลี่ยนมุมมองต่อสกุลเงินปอนด์ใหม่และนั่นนำไปสู่แนวโน้มขาขึ้นของปอนด์ในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นขาขึ้นครั้งล่าสุดพักตัวที่บริเวณแนวต้านที่กลายเป็นแนวรับของรูปแบบลิ่มยิ่งเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพิ่มเข้าไปอีก
แม้การพิจารณาราคาอย่างเดียวจะดูไม่น่ากังวลสำหรับขาขึ้นแต่หากมองร่วมกับอินดิเคเตอร์อย่าง RSI เข้าไปด้วยแล้วขาขึ้นครั้งนี้ก็ไม่ควรประมาท ก่อนหน้านี้ RSI เคยขึ้นไปยังโซน overbought ที่ระดับ 80 มาแล้วก่อนจะย่อลงมาได้เล็กน้่อยในสัปดาห์ก่อนและขาขึ้นครั้งนี้ก็พา RSI ให้กลับขึ้นไปยัง 76 อีกครั้ง ความกดดันที่มีจากนักลงทุนกลุ่มที่เชื่อในอินดิเคเตอร์อาจทำให้กราฟปอนด์เทียบดอลลาร์ไม่อาจผ่านโซนแนวต้านที่ 1.35 ขึ้นไปได้โดยง่าย
แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมทุกอย่างทั้งข่าวปัจจัยพื้นฐานและการวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้วภาพรวมทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรมีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าสหรัฐฯ ซึ่งนั่นส่งผลดีต่อสกุลเงินปอนด์มากกว่าดอลลาร์ด้วย ทั้งหมดนี้คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงเชื่อว่ากราฟปอนด์เทียบดอลลาร์มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ
กลยุทธ์การเทรด
เทรดเดอร์ที่ไม่ชอบความเสี่ยง จะรอจนกว่ากราฟจะสามารถขึ้นยืนเหนือจุดสูงสุดที่ 1.3516 ในวันที่ 2 ธันวาคมได้ก่อนที่จะวางคำสั่งซื้อ
เทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง จะรอให้กราฟวิ่งกลับลงมาทดสอบแนวรับที่ลิ่มลู่ขึ้นอีกครั้งก่อนและจะเป็นการยืนยันกรอบสามเหลี่ยมเล็กๆ ก่อนหน้านั้นด้วย
เทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้สูง จะวางคำสั่งซื้อทันทีเพราะเชื่อว่ากราฟจะสามารถขึ้นไปถึง 1.35 ได้ ที่สำคัญนักลงทุนกลุ่มนี้ยังรู้จักวิธีการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมกับทุนของตนเอง
ตัวอย่างการเทรด
- จุดเข้า: 1.3200
- Stop-Loss: 1.3100
- ความเสี่ยง: 100 จุด
- เป้าหมายในการทำกำไร:1.3500 (ตัวเลขจิตวิทยาก่อนถึงแนวต้านที่แท้จริงของจุดสูงสุดวันที่ 2 ธันวาคม)
- ผลตอบแทน: 300 จุด
- อัตราความเสี่ยงต่อผลตอบแทน: 1:3