ขอขอบคุณภาพประกอบจาก:CQG
- ดอลลาร์สหรัฐสามารถเจาะแนวรับสำคัญหลายๆ ด่านลงไปได้
- นักลงทุนในตลาดแร่โลหะกำลังจับดูสถานการณ์ของดอลลาร์อย่างใกล้ชิด
- ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและเกษตรก็มีการปรับตัวขึ้นด้วย
- ช่วงเวลาระหว่างปี 2008-2011 อาจเป็นสัญญาณบอกว่าดอลลาร์ที่กำลังอ่อนมูลค่าจะช่วยส่งเสริมราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ปรับตัวสูงขึ้น
ดอลลาร์สหรัฐคือสกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งของโลกซึ่งความหมายของสถานะนี้คือทุกประเทศทั่วโลกจะต้องซื้อดอลลาร์มาเก็บเอาไว้เป็นสินทรัพย์สำรองของตนเองเพื่อให้ง่ายต่อการแลกเปลี่ยน ติดต่อค้าขายกับประเทศอื่นๆ และรวมไปถึงความไว้วางใจว่าเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศที่เป็นเจ้าของสกุลเงินนั้นมีเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือสูง
นอกเหนือจากการเป็นสกุลเงินสำรองของโลกแล้ว ดอลลาร์สหรัฐยังถูกใช้ในฐานะสกุลเงินหลักที่เอาไปอ้างอิงเปรียบเทียบมูลค่ากับสินค้าโภคภัณฑ์เช่นทองคำ แร่เงิน ทองแดง ฯลฯ การเพิ่มของมูลค่าในดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับสินค้าโภคภัณฑ์หมายความว่าเศรษฐกิจของโลกยังมีความแข็งแกร่งดีและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสินทรัพย์แลกเปลี่ยนอื่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเมื่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ถึงปรับลดลงและในทางตรงกันข้ามหากดอลลาร์อ่อนมูลค่าลงสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวสูงขึ้น
นอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐที่ใช้เป็นสกุลเงินสำรองของโลกแล้วเรายังมีสกุลเงินยูโรที่ถือเป็นสกุลเงินสำรองอันดับสองของโลก จากรายงานข่าวระบุว่าปัจจุบันสัดส่วนการเก็บสกุลเงินดอลลาร์ไว้เป็นสินทรัพย์สำรองมีมากถึง 57% ในขณะที่ของยูโรมีเปอร์เซนต์อยู่เพียง 30% กว่าๆ เท่านั้น แต่จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้นทั่วโลกและระบาดอย่างหนักในสหรัฐฯ ทำให้มูลค่าของดอลลาร์สหรัฐอ่อนลง ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเคยขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดเอาไว้ที่ 103.96 ในช่วงที่ก่อนโควิดจะระบาดในประเทศและมีจุดต่ำสุดอยู่ที่ 88.15 ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 ปัจจุบันจะมีราคาอยู่ 93.12
การลงมาจากจุดสูงสุด 103 มาจนถึง 93 ในปัจจุบันถือเป็นการหลุดแนวรับที่สำคัญๆ ลงมามากมายและการอ่อนมูลค่าลงของดอลลาร์สหรัฐนี้เองที่มีส่วนทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทะยานสูงขึ้นในทุกวันนี้
ดอลลาร์สหรัฐที่สามารถเจาะแนวรับสำคัญลงมาได้
ในสัปดาห์ที่แล้วดัชนีดอลลาร์สหรัฐสามารถเจาะหน้าด่านสำคัญที่เปิดโอกาสให้ดัชนีสามารถลงไปทดสอบจุดต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 ได้
จากรูปกราฟด้านบนเราได้ไฮไลท์จุดต่ำสุดที่ดอลลาร์สหรัฐเคยลงไปสร้างเอาไว้ จากรูปจะเห็นว่ากราฟสามารถลงไปยังแนวรับสำคัญซึ่งอยู่ที่ $93.33 ของวันที่ 29 กรกฎาคมที่อยู่ต่ำกว่าแนวรับ $93.395 ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของเดือนพฤษจิกายนปี 2018 ปัจจุบันการหลุดแนวรับเหล่านี้ลงไปแล้วของดัชนีทำให้กราฟมีโอกาสลงไปถึงจุดต่ำสุดที่ $88.15
อินดิเคเตอร์สำคัญอย่าง Momentum และ RSI ในกราฟรายเดือนอยู่ในแนวโน้มขาลงในขณะที่ดัชนีชี้วัดความผันผวนของกราฟรายเดือนกำลังทะยานตัวสูงขึ้นซึ่งผลที่ตามมาก็คือเราได้เห็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของดัชนีดอลลาร์สหรัฐของทั้งฝั่งซื้อและขายมีปริมาณที่ต่างกันอย่างชัดเจน สัญญาที่อยู่ทางฝั่งขายยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มาตั้งแต่เดือนมิถุนายนในขณะที่ตัวดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนมูลค่าลงและเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ตลาดโลหะแร่มีค่ามีราคาสูงขึ้น
นักลงทุนในตลาดแร่โลหะกำลังจับดูสถานการณ์ของดอลลาร์อย่างใกล้ชิด
ทองคำถือว่าเป็นได้ทั้งสินค้าโภคภัณฑ์และสกุลเงินได้ในเวลาเดียวกัน ไม่มีธนาคารกลางใดในโลกที่ไม่ถือทองคำเอาไว้ในฐานะสินทรัพย์สำรอง
จากกราฟรายไตรมาสของตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้าในตลาด COMEX แสดงให้เห็นกราฟราคาทองคำล่วงหน้าที่พึ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ราคาทองคำสามารถทะลุขึ้นผ่านจุดสูงสุดของปี 2011 ที่ $1920.70 ได้และปัจจุบันราคาทองคำล่วงหน้าสามารถทะลุผ่าน $2000 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ไปดูกันที่ภาพรวมตลาดซื้อขายแร่เงินล่วงหน้าในตลาด COMEX รายเดือนกันบ้าง ก่อนหน้านี้ราคาแร่เงินล่วงหน้าเคยปรับตัวลดลงไปยัง $12 ต่อออนซ์ในเดือนมีนาคมก่อนที่จะปรับตัวขึ้นมาเป็น 2 เท่าจากจุดต่ำสุดนั้นจนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแร่เงินมีราคาล่าสุดอยู่ที่ $24.60
ราคาทองแดงซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่นักลงทุนชอบใช้เพื่อตรวจสอบชีพจรเศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดที่อยู่ต่ำกว่า $2.06 ต่อปอนด์ในช่วงกลางเดือนมีนาคมขึ้นมายืนเหนือ $2.85 ได้ในวันที่ 31 กรกฎาคม
จากการยกตัวอย่างกราฟของสินค้าโภคภัณฑ์ทั้ง 3 นี้จึงสามารถสรุปได้ว่าการอ่อนมูลค่าลงของดอลลาร์มีส่วนทำให้สินค้าแร่โลหะมีค่าเหล่านี้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและเกษตรก็มีการปรับตัวขึ้นด้วย
ในเดือนเมษายนปี 2020 ถือเป็นครั้งแรกที่ราคาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าในตลาด NYMEX สามารถลงไปสู่ระดับติดลบได้นับตั้งแต่ปี 1980 ที่ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนน้ำมันดิบล่วงหน้าถือกำเนิดขึ้น
กราฟรายสัปดาห์แสดงให้เห็นการฟืนตัวกลับขึ้นมาจากระดับติดลบ $40.32 ขึ้นมายัง $40 ในสัปดาห์ที่แล้วคิดเป็นระยะทาง $80 ต่อบาร์เรล นอกจากการลดโควตาการผลิตน้ำมันดิบและการจัดการกลไกน้ำมันจากกลุ่ม OPEC ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักในตลาดน้ำมันดิบแล้ว การอ่อนมูลค่าของดอลลาร์สหรัฐก็มีส่วนทำให้กราฟราคาน้ำมันในตลาดพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
กราฟราคาซื้อขายถั่วเหลืองล่วงหน้า ข้าวโพดและข้าวสาลีก็มีการปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกันมาตั้งแต่เดือนเมษายน
กราฟราคาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าในตลาด ICE ขึ้นจากจุดต่ำสุด 9.05 เซนต์ในเดือนเมษายนซึ่งเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2007 ขึ้นมายังระดับราคา 12.60 เซนต์ ทั้งหมดนี้จึงสามารถสรุปได้ว่าตลาดพลังงานและสินค้าเกษตรก็ได้รับแรงหนุนขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐด้วยเช่นกัน
ช่วงเวลาระหว่างปี 2008-2011 อาจเป็นสัญญาณบอกว่าดอลลาร์ที่กำลังอ่อนมูลค่าจะช่วยส่งเสริมราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ปรับตัวสูงขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสาเหตุหลักที่ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนมูลค่าลงในปี 2020 เป็นอย่างมากจนสังเกตได้เป็นเพราะวิกฤตโรคระบาดและการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ และธนาคารกลาง (FED) ยิ่งเฟดกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์เงินออกมามากเท่าไหร่ยิ่งส่งผลให้สินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นมากเท่านั้น
จากรูปแสดงให้เห็นว่าดัชนีดอลลาร์สหรัฐร่วงลงจากจุดสูงสุด 89.71 ในช่วงต้นปี 2009 หลังจากที่วิกฤตการเงินปี 2008 พึ่งผ่านพ้นไปแต่ผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงลากยาวไปอีกหลายปี ครั้งนั้นดัชนีดอลลาร์สหรัฐสามารถลงมาถึง 72.86 ได้ในปี 2011 ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองก็เป็นเวลาที่สินค้าโภคภัณฑ์หลายๆ ตัวทะยานขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์
แม้จะมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาแร่โลหะมีค่าปรับตัวขึ้นแต่ตราบใดที่ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนมูลค่าอยู่เช่นนี้เราก็ยังจะได้เห็นราคาของสินทรัพย์สำรองปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขาขึ้นนี้อาจจะกินเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี ในปี 2020 นี้ธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ตัดสินใจกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินที่สูงมากแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลกการเงิน ในฐานะนักลงทุนเราต้องจับตาดูทิศทางขาขึ้นของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ให้ดีเพราะว่าเราอาจจะได้เห็นจุดสูงสุดใหม่ที่สูงเกินกว่านักวิเคราะห์ระดับท็อปของโลกคาดการณ์เอาไว้ก็เป็นได้