หุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่นักลงทุนในตลาดค่อนข้างตั้งความหวังเอาไว้สูงมากหลังจากที่หุ้นกล่มนี้สามารถทะยานกลับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดเมื่อเดือนมีนาคมได้ ปัจจุบันดัชนีเซมิคอนดักเตอร์ของฟิลาเดเฟียซึ่งเป็นดัชนีที่รวมเอาเฉพาะบริษัทคอมพิวเตอร์ชื่อดังเช่น Intel (NASDAQ:INTC), NVIDIA (NASDAQ:NVDA) และ Advanced Micro Devices (NASDAQ:AMD) ปรับตัวขึ้นมาแล้วประมาณ 55% นับตั้งแต่เดือนมีนาคมซึ่งมากกว่าดัชนี S&P 500's ที่สามารถขึ้นมาได้ 37% ภายในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
สัญญาณขาขึ้นล่าสุดอาจทำให้บริษัทผู้ผลิตชิปที่น่าสนใจบางแห่งได้รับความนิยมขึ้นมาด้วยยกตัวอย่างเช่นบริษัท Micron Technology (NASDAQ:MU) และ Xilinx (NASDAQ:NASDAQ:XLNX) ที่สามารถทำผลงานได้ดีกว่าที่คาดการณ์จากการรายงานผลประกอบการไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน จากรายงานผลประกอบการนี้ชี้ให้เห็นว่าบริษัทที่อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตชิปฯ อื่นๆ กำลังจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอนาคตหากว่าการล็อกดาวน์ในสหรัฐฯ จะต้องยืดระยะเวลาออกไป
บริษัท Micron ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปทางด้านการเก็บข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ กล่าวว่าผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสนี้อยู่ระหว่าง $5,750 - $6,250 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์วอลล์ สตรีทคาดการณ์เอาไว้
ข้อมูลจากรายงานดังกล่าวยังทำให้หุ้นของบริษัท Micron ปรับตัวขึ้นมากกว่า 6% ในช่วง 2 วันล่าสุด มีราคาปิดอยู่ที่ $51.52 เมื่อวานซึ่งกราฟปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 5% ตลอดทั้งวัน นอกจาก Micron จะสร้างชิปเก็บความจำของคอมพิวเตอร์แล้วบริษัทยังทำชิปให้กับการเก็บข้อมูลในโทรศัพท์มือถืออีกด้วย ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดและผู้คนต้องอยู่กับบ้านบริษัท Micron ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากวิกฤตนี้ ความต้องการในชิปคอมพิวเตอร์มากขึ้นทั้งจากวงการ E-commerce เกมออนไลน์และการสตรีมเกมเพื่อความบันเทิง
Xilinx คือบริษัทผู้ผลิตชิปสำหรับการทำเครือข่ายไร้สาย จากรายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2020 พบว่า Xilinx มียอดขายเพิ่มขึ้นจากการซื้อขายออนไลน์ใน E-commerce นอกจากนี้บริษัทได้รับความคาดหวังมากขึ้นกับเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะมาถึงเพราะเครือข่ายไร้สายจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในยุคของ 5G ล่าสุดเมื่อวานนี้หุ้นของ Xilinx มีราคาปิดอยู่ที่ $98.39 กราฟปรับตัวขึ้นตอนทั้งวัน 7%
Vivek Arya นักวิเคราะห์จากแบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) เขียนในโน๊ตให้กับลูกค้าของธนาคารว่า “ในระยะยาวเราเชื่อว่าวงการเซมิคอนดักเตอร์จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากกับเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการประมวลผล เก็บข้อมูล ขยายเครือข่ายไร้สายไปในที่ที่เราไม่เคยคิดว่าจะสามารถไปถึงได้ในโลกใบนี้”
ความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน
อย่างไรก็ตามความเสี่ยงหนึ่งที่ถือว่าต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดคือความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีนซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างมากที่สุดของอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ พึ่งออกกฎห้ามบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ สนับสนุนบริษัทหัวเว่ยจากจีนเป็นอันขาด กฎนี้ยังครอบคลุมไปถึงการสร้างชิปคอมพิวเตอร์ระดับสูงด้วย
สำหรับวงการเซมิคอนดักเตอร์แล้วผู้บริโภคของจีนคิดเป็น 35% ของส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งหมดในขณะที่บริษัทผู้ผลิตชิปของสหรัฐฯ อย่างเช่น Intel ได้กำไรมากถึง 30% จากผู้บริโภคในประเทศจีน CEO ของบริษัท Micron แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหานี้ว่า “สงครามการค้าและนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลทรัมป์ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ การแบนหัวเว่ยจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเทคโนโลยีในระยะสั้น”
และเพื่อเป็นการปกป้องบริษัทหัวเว่ยรัฐบาลจีนจึงได้มีการประกาศคว่ำบาตรบริษัทที่มาจากสหรัฐฯ ที่พึ่งพารายได้จากในประเทศจีนอย่างเช่นบริษัทแอปเปิล (NASDAQ:AAPL) และโบอิ้ง (NYSE:BA) แต่ถึงอย่างนั้นนักวิเคราะห์จากแบงก์ ออฟ อเมริกากลับมองว่าความสามารถในการตอบโต้ของจีนนั้นมีจำกัดเพราะตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ยังคงเป็นที่ยอมรับจากมุมอื่นๆ ของโลกอยู่ดีและยังเป็นที่ยอมรับในประเทศโซนเอเชียอื่นที่ไม่ใช่จีนอีกด้วย
“นี่คือสาเหตุว่าทำไมเราถึงไม่เห็นการแก้เกมเพื่อเอาคืนสหรัฐฯ จากจีนที่เกี่ยวกับเรื่องของหัวเว่ยอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากนัก เพราะท้ายที่สุดแล้วหัวเว่ยก็จะต้องเจอความยุ่งยากจากกฎหมายของสหรัฐฯ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังยอมรับเทคโนโลยีของสหรัฐฯ มากกว่าจีนอยู่ดี”
โดยสรุปแล้ว
ในความเห็นของพวกเรามองว่าหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์หรือเซมิคอนดักเตอร์ยังคงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ดี เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างเรื่องความเป็นไปได้ในการเติบโตของเทคโนโลยีเช่น 5G การทำศูนย์กลางของข้อมูลด้วยระบบคลาวด์กับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีนแล้วความต้องการชิปคอมพิวเตอร์ยังไงก็มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ