ในคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินสหรัฐเริ่ม "ตึงตัว" จากตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน
เห็นได้จากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) ในระดับ 2.1 ล้านคนสัปดาห์ก่อน หมายความว่าในช่วงวิกฤตที่ผ่านมามีผู้ขอยื่นสวัสดิการการว่างงานกว่าแล้ว 40 ล้านคนในสหรัฐ แม้ในปัจจุบันจะมีผู้ขอรับสวัสดิการต่อเนื่องลดลงเหลือ 21.1 ล้านคนจาก 24.9 ล้านคนในสัปดาห์ก่อน แต่ก็ถือว่าเป็นระดับการว่างานที่สูงผิดปกติ
เช่นเดียวกันตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกที่หดตัวเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 5.0% ในการรายงานครั้งที่สอง (เทียบกับไตรมาสก่อนปรับเป็นรายปี) พร้อมกับปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) ที่หดตัวลง 17.2% ในเดือนเมษายน
ภาพดังกล่าวส่งผลให้ S&P500 ปรับตัวลดลง 0.2% สวนทางกับดัชนีหุ้นยุโรป Stoxx 600 ที่ปรับตัวขึ้นต่อได้ถึง 1.6% นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องด้วย โดยล่าสุดเบรนท์ขยับขึ้นแตะระดับ 35.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลบวก 1.8% ขณะเดียวกันราคาทองคำก็กลับมายืนได้ที่ 1719 ดอลลาร์ต่อออนซ์หลังจากปรับตัวลงไปต่ำกว่า 1700 ดอลลาร์ต่อออนซ์เพียงหนึ่งวัน
ฟากของตลาดเงิน ก็เห็นได้ชัดว่าเงินดอลลาร์ USD/EUR อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโร (EUR) ทันทีที่ตลาดหุ้นยุโรปฟื้นตัวแข็งแรงกว่าฝั่งสหรัฐ กดดันให้ดัชนีดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลง 0.5% โดยมีเพียงเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ทรงตัวในระดับ 107.7 เยนต่อดอลลาร์ และดอลลาร์แคนาดา (CAD) ที่ปรับตัวลงในคืนก่อน
ส่วนของเงินบาทก็น่าสนใจเมื่อแข็งค่าลงมาสู่ระดับที่เชื่อว่าเป็น “แนวรับ” ของผู้นำเข้าส่วนใหญ่ พร้อมกันกับที่ฝั่งของตลาดหุ้น ก็เริ่มติดแนวต้านที่ระดับ 1350 จุด ชี้ว่าเงินบาท USD/THB ควรชะลอการแข็งค่าลงได้บ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องจับตาทิศทางของการค้าระหว่างประเทศที่จะกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไปด้วย เพราะถ้าการส่งออกกลับมาได้เร็ว เงินบาทก็จะถูกกดดันอีกครั้งทันที และในระยะสั้นมีเพียงภาพการแข็งค่าของดอลลาร์จากภาวะตลาดทุนที่พักฐานเท่านั้นที่สามารถดึงให้เงินบาทอ่อนค่ากลับขึ้นไปได้
ไม่อยากพลาดบทความดีๆ อย่าลืมกด "ติดตาม" นะครับ