สัปดาห์ที่ผ่านมา ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ได้กดดันให้ภาคการบริการทั่วโลกยังคงหดตัวหนัก
ติดตามรายงานการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาสแรกทั่วโลกและการประชุม 3 ธนาคารกลางหลักโดยภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยหนัก จะกดดันให้ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายหรือมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ประสบปัญหา
เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น หากตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ผลประกอบการที่อ่อนแอและความผันผวนของราคาน้ำมัน แต่นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของเฟดและภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ซบเซาจะกลับมากดดันดอลลาร์ในที่สุด
กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 32.25-32.75 บาท/ดอลลาร์ ( อัพเดทอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท USD/THB ประจำวันล่าสุด ที่นี่ )
มุมมองนโยบายการเงิน
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันพฤหัสฯ ตลาดมองว่า FOMC จะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Target Rate) ที่ระดับ 0.00-0.25% ทั้งนี้ประธานเฟดมีแนวโน้มส่งสัญญาณว่าเฟดยังมีเครื่องมือที่พร้อมใช้เพื่อพยุงตลาดการเงินและเศรษฐกิจซึ่งตลาดคาดว่าจะเป็นการเพิ่มขอบเขตประเภทของสินทรัพย์เฟดจะเข้าซื้อ มากกว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ยจนติดลบ (Negative Interest Rate )
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสฯ ตลาดมองว่า ECB จะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ที่ระดับ -0.50% แต่ ECB จะพิจารณาเพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์โครงการ Pandemic Emergency Purchase Program อีก 2.5 แสนล้านยูโร เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดการเงิน ซึ่งจะช่วยพยุงทั้งตลาดการเงินและเศรษฐกิจจริง
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันจันทร์ ตลาดมองว่า BOJ จะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Balance Rate) ที่ระดับ -0.10% พร้อมคงเป้าหมายบอนด์ยีลด์10ปีไว้ที่ระดับ 0.00+/-0.20% ทั้งนี้ภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาหนัก จะทำให้ BOJ ต้องออกนโยบายเงินกู้พิเศษเพื่อพยุงภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาและเพิ่มวงเงินการซื้อสินทรัพย์มากขึ้นเท่าตัว
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโล
ฝั่งสหรัฐฯ –ตลาดคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสแรกจะหดตัวราว 4.0% จากไตรมาสก่อนหน้า หลังมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจชะงักงันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่จะหดตัวถึง 3.0% นอกจากนี้แนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยจะสะท้อนผ่านยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน (Initial Jobless Claims) ที่เพิ่มขึ้นราว 3.5 ล้านราย และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนเมษายนที่จะดิ่งลงสู่ระดับ 36จุด จาก 49จุด ในเดือนก่อน
ฝั่งยุโรป – ความพยายามควบคุมการระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายประเทศในยุโรปใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดส่งผลให้เศรษฐกิจเผชิญการถดถอยที่หนักสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ -3.3% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และซบเซาหนักกว่าไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนที่โต 1.0%
ฝั่งเอเชีย – เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง ชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51จุดและ 52.8จุด ตามลำดับ
บทความนี้มาจากศูนย์วิจัยกรุงศรี สามารถอ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ www.krungsri.com