ภาพรวมตลาดฟอเร็กซ์รายวัน: 10 กุมภาพันธ์ 2020
โดยคุณเคธี่ เหลียน กรรมการผู้จัดการวางกลยุทธ์การลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ของบริษัทจัดการสินทรัพย์บีเค
เรียกได้ว่าทันทีที่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เปิดทำการเป็นวันแรกของสัปดาห์ความโกลาหลก็เข้าสู่โหมดทำงานต่อทันที เริ่มต้นที่ดัชนีดาวโจนส์ก่อนเลยที่ร่วงลงไปถึง 2,013 จุด พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งหน้าลงสู่จุดต่ำสุดใหม่ กราฟ USDJPY มุ่งหน้าลงสู่จุดต่ำสุดในรอบ 3 ปีในขณะที่สกุลเงินหลักอื่นๆ ที่จับคู่เปรียบเทียบกับดอลลาร์อย่างสวิสฟรังก์ ยูโรและปอนด์ต่างปรับตัวสูงขึ้น ดัชนีวัดความผันผวนของกราฟ USDJPY พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาและยังสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 ด้วย
ความกระหายในการครอบครองสกุลเงินดอลลาร์หายไปทันทีที่มีข่าวออกมาว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 50-75 จุดเบสิสภายในระยะเวลาอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ การอ่อนมูลค่าลงของสกุลเงินดอลลาร์สร้างผลกระทบให้กับประเทศอื่นซ้ำเข้าไปอีกจากเดิมที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนาอยู่แล้ว
การที่นักลงทุนเลือกวิธีปลอดภัยด้วยการกระจายความเสี่ยงไปถือสกุลเงินที่สามารถทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์สำรองได้อย่างเช่นสกุลเงินเยนหรือสวิสฟรังก์กลายเป็นว่าเพิ่มความกดดันให้กับธนาคารกลางของทั้งสองประเทศ ในตอนนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเองก็ถือว่าอยู่ในความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยด้วยหลังจากทราบว่าในไตรมาสที่ 4 มีการหดตัวมากถึง 7% ยิ่งการถือครองสกุลเงินเยนกระทบกับภาคการนำเข้าส่งออกสินค้ายิ่งทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากต้องดำเนินการบางอย่างซึ่งภายในไม่ถึง 24-48 ชั่วโมงเราอาจจะได้เห็นมาตรการบางอย่างจากทางธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่น (BoJ)
ในวันพฤหัสบดีนี้เราคาดหวังว่าจะได้เห็นการผ่อนคลายทางการเงินจากทางธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) เพื่อช่วงเสริมความมั่นคงให้กับสกุลเงินยูโรในช่วงนี้ การร่วงลงของตลาดราคาน้ำมันดิบอาจจะทำให้ธนาคารกลางแคนาดาและธนาคารกลางแม็กซิโกต้องตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม็กซิโกที่ธนาคารกลางของตนยังถือว่ามีกระสุนพอให้ลดอัตราดอกเบี้ยได้ ในทางทฤษฏีแล้วการที่ราคาน้ำมันดิบลดลงควรจะเป็นการกระตุ้นให้คนอยากเดินทางอยากออกไปจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้นแต่กลายเป็นว่าเพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนลดความต้องการอยากเดินทางลง รัฐจึงไม่ได้ผลประโยชน์ในส่วนนี้ไป
นักลงทุนในวันนี้ต่างรอดูการตอบโต้ไวรัสโคโรนาจากทำเนียบขาว จากการทวีตของโดนัลด์ ทรัมป์เมื่อคืนทำให้เราได้ทราบว่าเขาไม่ได้นิ่งนอนใจและกำลังพิจารณาหาวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ นักลงทุนบางส่วนเชื่อว่าหนึ่งในวิธีนั้นคือการกดดันให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกแม้ว่าเราจะทราบดีว่าวิธีการนี้ไม่ได้ผลเพราะขนาดลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 50 จุดเบสิสในสัปดาห์ที่แล้วยังไม่อาจจะช่วยอะไรได้ ดังนั้นนักวิเคราะห์จึงมองว่าเฟดอาจจะรอจังหวะสวยๆ ในการลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ในสัปดาห์หน้าทางธนาคารกลางสหรัฐฯ เองก็จะมีการประชุมกันเพื่อปรับอัตราดอกเบี้ยอยู่แล้ว ดังนั้นพวกเขาอาจจะรอเวลานี้และรอดูมาตรการจากทำเนียบขาวและพ่วงได้ผลการตัดสินใจจากกลุ่ม G7 เพื่อให้การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
โปรดจับตาดูข่าวเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทำเนียบขาวภายใน 24-48 ชั่วโมงนี้เอาไว้ให้ดี สิ่งที่นักลงทุนต้องดูในตอนนี้คือ “ทางรัฐจะออกมาตรการอะไรมาช่วยหยุดยั้งการร่วงลงของตลาดหุ้น?” และ “ตลาดจะตอบสนองต่อมาตรการนั้นดีแค่ไหน?” นายแลร์รี่ คัดโลว์ ผู้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเศรษฐกิจสหรัฐฯ กล่าวว่า “ยิ่งภาครัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ตรงจุดมากแค่ไหนก็จะยิ่งส่งผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ดีมากเท่านั้นและยิ่งเพิ่มโอกาสให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เจอจุดต่ำสุดที่แท้จริงได้โดยเร็ว”
นอกจากจับตูการตอบโต้ของทำเนียบขาวแล้วยังต้องจับตาดูมาตรการของกลุ่ม G7 ด้วย เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าพวกเขาเห็นด้วยกับการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินภายในประเทศของตนท่ามกลางช่วงเวลาที่เศรษฐกิจฝืดเคืองและภาคธุรกิจยังคงถูกทำร้ายอย่างต่อเนื่อง พวกเขาจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในกลุ่มของตัวเองให้ได้เสียก่อน ถ้าความร่วมมือกันระหว่างกลุ่ม G7 สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประเทศภายในกลุ่มได้รับการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างตรงจุด เราอาจจะได้เห็นความอัดอั้นตันใจของขาขึ้นระเบิดออกมาในตลาดลงทุนเพราะไม่มีขาขึ้นครั้งไหนจะรุนแรงไปได้มากกว่าขาขึ้นที่เกิดในตลาดขาลง
https://www.investing.com/analysis/calling-g7for-what-3-ways-they-can-help-200514599