ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าภายในระยะเวลาเพียง 4 สัปดาห์เท่านั้นที่ราคาน้ำมันดิบจะเปลี่ยนจากขาขึ้นกลายเป็นขาลงได้ สาเหตุที่ราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างรุนแรงเป็นผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ยังไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อใด ตลาดลงทุนยังคงหวังว่าการลงครั้งนี้จะชะลอตัวได้โดยเร็ว
ไม่ใช่เฉพาะนักลงทุนเท่านั้นที่เป็นกังวลกับสถานการณ์ตลาดน้ำมันดิบแต่กลุ่มที่รับผิดชอบเรื่องการควบคุมราคาน้ำมันดิบของโลกอย่างกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรเองก็จับตาดูสถานการณ์นี้อยู่เช่นกัน จากตอนแรกที่มีแผนว่าจะประชุมที่เวียนนาในเดือนมีนาคมต้องเลื่อนขึ้นมาเป็นเดือนกุมภาพันธ์เสียแล้ว
ตอนนี้สื่อทั่วโลกกำลังรอจับตาดูท่ีาทีของกลุ่มโอเปกอย่างใกล้ชิด ทุกๆ คำพูด ทุกๆ การกระทำที่ออกมาอย่างเป็นทางการจะถูกบันทึก วิเคราะห์ เผยแพร่โดยสื่อออกสู่สาธรณชนและจะกระทบถึงตลาดน้ำมันดิบอย่างแน่นอน สื่อต่างๆ ทั่วโลกต่างจับตารอดูว่าโอเปกจะแก้วิกฤติครั้งนี้เพื่อหยุดการร่วงลงของราคาน้ำมันดิบอย่างไร
ตลาดน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากทราบข่าวดีการประชุมด่วนของโอเปก
ราคาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดของราคาในรอบ 13 เดือนในช่วงเช้าของวันอังคารทันทีที่ตลาดหลักทรัพย์ฝั่งเอเชียเปิด ก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์สร้างจุดต่ำสุดอยู่ที่ $55 และราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงไปต่ำกว่าระดับราคาจิตวิทยา $50
หลังจากนั้นในช่วงบ่ายอ้างอิงตามเวลาของสิงคโปร์พบว่าการดีดตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบชะงักลงเหมือนจะเป็นการบ่งบอกว่าตลาดกำลังเตรียมรับมือกับข่าวร้ายของไวรัสโคโรนาจากจีนอีกระลอก ถ้าการประชุมที่เวียนนาซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นไม่ได้ทำให้สถานการณ์ ”ดีขึ้น” หรือ “ดีกว่า” ที่ตลาดตั้งความหวังไว้ ราคาน้ำมันดิบพร้อมปรับตัวลงต่อแน่นอน
อ้างอิงจากบทความในวรสารวอลล์สตรีทระบุว่าการปรับขึ้นมาเพียงเล็กน้อยของราคาน้ำมันดิบในตอนนี้มีนัยสำคัญอยู่ เป็นไปได้ว่าลูกพี่ใหญ่แห่งโอเปกอย่างซาอุดิอาระเบียอาจจะตัดสินใจลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีกในระยะสั้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันซาอุดิอาระเบียผลิตน้ำมันอยู่ที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ซาอุดิอาระเบียอาจจะให้ประเทศในกลุ่มสมาชิกรายอื่นช่วยกันลดกำลังการผลิตลงในระยะสั้นเช่นกัน คาดว่าอาจจะให้ลดลงเหลือ 500,000 บาร์เรลต่อวัน
ชาอุดิฯ อาจยอมลดแต่ประเทศสมาชิกอื่นอาจไม่
ความยุ่งยากซับซ้อนเกิดขึ้นตรงนี้ละครับท่านผู้อ่าน นอกเหนือจากสิ่งที่โอเปกและกลุ่มประเทศสมาชิกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว เราไม่สามารถทราบข้อมูลที่อยู่นอกเหนือจากนั้นหรือสิ่งที่โอเปกและผองเพื่อนจะทำจริงๆ ว่ามีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน ทำให้การวัดผลการทำงานของโอเปกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าโอเปกจะลดกำลังการผลิตลงตามที่พูดได้หรือไม่
อ้างอิงจากข้อมูลล่าสุดที่โอเปกและกลุ่มประเทศสมาชิกกล่าวถึงการลดกำลังการผลิตน้ำมันลงในเดือนธันวาคม แม้ซาอุดิอาระเบียและประเทศสมาชิกบางประเทศจะยอมทำตามซาอุดิอาระเบียแต่ประเทศในกลุ่มสมาชิกอื่นๆ กลับไม่สามารถลดกำลังการผลิตลงได้ในเดือนที่สองหลังจากให้วาจาสัญญาไปแล้ว
จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามี 11 จาก 13 ประเทศกลุ่มสมาชิกโอเปกที่ยอมทำตามนโยบายการลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 1.345 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบกับการลดกำลังการผลิตเดิมตามสัญญาซึ่งอยู่ที่ 812,000 บาร์เรลต่อวัน ลำพังซาอุดิอาระเบียตอนนี้ผลิตน้ำมันด้วยตัวเองอยู่ที่ 871,000 บาร์เรลต่อวันจึงเท่ากับว่าการลดกำลังการผลิตได้ลดลงไปแล้ว 65%
ไปดูข้อมูลที่ฝั่งรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรหลักกับซาอุดิอาระเบียกันบ้าง รัสเซียมีการลดกำลังการผลิตลงรวมทั้งหมด 383,000 บาร์เรลต่อวันจากสัญญาที่ตกลงไว้ที่ 224,000 บาร์เรลต่อวัน หากมองจากตัวเลขจะพบว่ารัสเซียเองก็ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงที่คุยกันไว้ได้ ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมพบว่ารัสเซียลดกำลังการผลิตลงเพียง 151,000 บาร์เรลต่อวันจากที่เคยสัญญาไว้ที่ 230,000 บาร์เรลต่อวัน
ดังนั้นนักวิเคราะห์จึงมองว่านี่อาจจะเป็นอีกครั้งที่ซาอุดิอาระเบียอาจจะลุกขึ้นมากระตุ้นลูกทีมอยู่เพียงคนเดียวเพื่อรักษาสถานการณ์ของน้ำมันดิบและยังต้องรักษาตำแหน่งของตัวเองในฐานะกัปตันทีมด้วยในขณะที่ลูกทีมก็อาจจะตบปากรับคำไปอย่างนั้นและสุดท้ายก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม ความท้าทายในครั้งนี้จึงอยู่ที่ว่าซาอุดิอาระเบียจะสามารถทำให้ประเทศกลุ่มสมาชิกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของโลกได้มากกว่าประโยชน์ส่วนตนในช่วงวิกฤตินี้ได้มากน้อยแค่ไหน
ตอนนี้เป็นปัญหาของเรื่องอุปสงค์ไม่ใช่อุปทาน
ปัญหาของราคาน้ำมันดิบในตอนนี้ไม่เหมือนในอดีตตรงที่ทุกครั้งจะเป็นเรื่องของการกักตุนน้ำมันไว้มากเกินไป แต่ครั้งนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเป็นเรื่องของความขาดแคลนที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดตรงไหนตราบเท่าที่โลกยังไม่เจอวิธีรักษาไวรัสโคโรนาอย่างเด็ดขาด
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความต้องการในตลาดตอนนี้ที่ลดลงไม่ได้เกิดมาจากน้ำมันในตลาดมีมากเกินไปหรือล้นออกมาเหมือนในสมัยที่ตลาดน้ำมันรั่วไหลในปี 2014-2017 แต่เกิดมาจากการที่ประเทศจีนมีกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้น้ำมันลดลง การงดเดินทาง การไม่ออกจากบ้านเพราะกลัวติดโรค ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความต้องการน้ำมันดิบในประเทศจีนลดลง
ประเทศจีนถือเป็นผู้ซื้อน้ำมันดิบที่สำคัญของโลก ทุกคนทราบดีถึงความสำคัญของเศรษฐกิจจีนในยุคนี้จากปีที่แล้วที่สามารถมีข่าวสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ได้แทบทุกวัน ดังนั้นการหายไปของลูกค้ารายหลักก็ไม่แปลกใจที่ผู้ขายอย่างโอเปกจะต้องออกมาทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาร้านค้าของตัวเองเอาไว้ แม้จะไม่ใช่การระบาดครั้งแรกของเชื้อไวรัสแต่ก็ถือว่าเป็นการระบาดครั้งแรกในจีนยุคใหม่ เมื่อสมดุลทางเศรษฐกิจจีนเสีย เศรษฐกิจจีนไม่คงที่ คนไม่เดินทาง สายการบินยกเลิกเที่ยวบิน ราคาน้ำมันดิบจึงได้รับผลกระทบ
สถานการณ์ในประเทศจีนที่ยากจะคาดเดา
ตอนนี้มีเพียงประเทศจีนเท่านั้นที่จะสามารถให้คำตอบได้ว่าสามารถหยุดการแพร่ระบาดของโคโรนาได้มากน้อยแค่ไหนและจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจกลับมาได้เมื่อไหร่ ในปีที่ผ่านมาประเทศจีนมีส่วนกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกมากถึง 66% แต่ตอนนี้หลังจากที่โคโรนาระบาด สถาบันการลงทุนโกลด์แมน แซคส์ได้ออกมาลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลงจาก 5.9% เหลือ 5.5%
บลูมเบิร์กคาดว่าปริมาณความต้องการน้ำมันในจีนจะลดลง 3 ล้านบาร์เรลต่อวันคิดเป็น 20% ของการบริโภคทั้งหมดในประเทศ ตอนนี้ที่ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาเพิ่มเป็น 360 รายและมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 17,000 คน โรงกลั่นน้ำมันเอกชนในประเทศจีน 18 จาก 40 แห่งตัดสินใจลดการผลิตน้ำมันไปแล้ว การลดลงของปริมาณน้ำมันดิบในครั้งนี้อาจเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 -2009 และเกิดขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ 911
บทวิเคราะห์จากบริษัทจัดอันดับชื่อดังมูดีส์รายงานว่า “วิกฤติครั้งนี้อาจทำราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลงไปมากถึง 43% จากการขึ้นมาครั้งล่าสุด ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ลงไปถึง $40 ต่อบบาร์เรลได้ คิดเป็นการปรับตัวลงไปอีก 25% จากตำแหน่งราคาปัจจุบัน”
สรุปแล้วบทความนี้แสดงให้เห็นว่าโอเปกไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่ม? และปริมาณความต้องการน้ำมันในจีนจะลดลงเร็วกว่าตอนนี้อีกหรือไม่?….นี่คือสิ่งที่นักลงทุนอยากได้คำตอบ