การที่สหรัฐฯ กับอิหร่านจะหันหน้าเข้าเจรจากันในอนาคตนั้นจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด? และหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลกับราคาน้ำมัน รวมถึงการเปิด IPO หุ้นของบริษัทอรามโกที่ถูกชะลอมานานอย่างไรบ้าง?
คำถามเหล่านี้คือสิ่งที่นักลงทุนน้ำมันต้องการทราบมาตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมห์คว่ำบาตรครั้งใหม่กับอิหร่านเมื่อเกือบปีที่ผ่านมา
คำถามดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากที่เกิดการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันที่ซาอุดิอาราเบียเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งทั้งซาอุดิอาราเบียและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างไมค์ ปอมเปโอต่างก็กล่าวโทษไปที่อิหร่าน
และยังคงจะเกิดคำถามเช่นนี้ต่อไปในการประชุมของผู้นำจากนานาประเทศในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่จะจัดขึ้นที่นิวยอร์ค ซึ่งจะเป็นการประชุมที่ถือว่าเป็นโอกาสไม่บ่อยนักที่ทรัมป์จะได้พบกับคู่ปรับอย่างนายฮัสซัน รูฮานีอย่างซึ่งๆ หน้า
การที่จะทราบได้อย่างชัดเจนว่าราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะคนๆ หนึ่งอาจเป็นเจ้าของน้ำมันหลายร้อยบาร์เรลได้ด้วยกระดาษเพียงแผ่นเดียว หรืออาจมีคลังเก็บถังน้ำมันหลายพันถังในโกดังที่เมืองจีน หรืออาจเก็บไว้บนเรือบรรทุกน้ำมันนอกชายฝั่งเมืองรอทเทอร์ดามก็ไม่มีใครรู้ได้
เหตุการณ์การโจมตีที่ซาอุดิอาราเบียจะทำให้การฟื้นตัวของราคาน้ำมันคงอยู่ได้อีกนานไหม?
กราฟราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสราย 60 นาที - สร้างโดย TradingView
ซาอุดิอาราเบีย อิหร่าน และสหรัฐฯ ถือเป็นผู้เล่นสำคัญตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วิกฤติน้ำมันครั้งใหญ่ในยุคปี 1970 ซึ่งทั้งหมดจะต้องกลับมาพบกันอีกครั้งในสัปดาห์นี้ นักลงทุนจึงอาจต้องตัดสินใจว่าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน 7% ตั้งแต่มีเหตุโจมตีเกิดขึ้นในวันที่ 14 กันยายนนั้นจะคงที่ พุ่งขึ้นต่อ หรือหมดแรงลงแค่เท่านี้
การที่จะตอบคำถามนี้ได้จึงต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ในตลาดปัจจุบันก่อน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าโอกาสที่จะเกิดความสัมพันธ์อันดีทางด้านการทูตระหว่างรัฐบาลของทรัมป์กับอิหร่านนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากอิหร่านยังตกเป็นผู้ต้องสงสัยในการโจมตีซาอุดิอาราเบีย แม้กลุ่มกบฎฮูตีจะเป็นผู้ออกมาแสดงความรับผิดชอบก็ตาม
แต่กระนั้นก็ยังเกิดการเปลี่ยนขั้วขึ้นได้ เมื่อนายจาวาด ซาริฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอิหร่านให้สัมภาษณ์กับคริสเตียน อแมนพัวร์ ผู้สื่อข่าวของ CNN เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่านายรูฮานีจะเข้าพบกับทรัมป์ที่นิวยอร์คสัปดาห์นี้ “แต่ประธานาธิบดีทรัมป์จะต้องพร้อมดำเนินการในสิ่งที่จำเป็นด้วย”
อิหร่านอาจเอาใจทรัมป์ด้วยการยอมให้มีการ “เฝ้าระวังและตรวจสอบการผลิตนิวเคลียร์ได้ตลอดเวลา”
สำหรับอิหร่านแล้วนั่นหมายความว่าสหรัฐฯ จะต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลกระทบกับการซื้อขายและเศรษฐกิจของอิหร่านอย่างหนักด้วย และเพื่อเป็นการตอบแทน นายซาริฟกล่าวว่าอิหร่านยินดีที่จะให้สหรัฐฯ ตรวจสอบโรงงานผลิตนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ตลอดเวลาอย่างถาวร”
คำว่า “เฝ้าระวังและตรวจสอบได้ตลอดเวลา” ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วอาจจะต้องมีการตีความกันอีกพอสมควร แต่ก็น่าจะทำให้ทรัมป์พอใจได้ระดับหนึ่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนกรานว่าเหตุผลที่ยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ในปี 2016 กับอิหร่านซึ่งเคยทำกันไว้ในสมัยของนายบารัค โอบามา นั้นสามารถทำได้ด้วย “เงื่อนไขการยกเลิกหากผิดสัญญา” ซึ่งจะทำให้ข้อห้ามที่เคยจำกัดการใช้แร่ยูเรเนียมและพลูโตเนียมของอิหร่านเป็นโมฆะไปด้วยภายในเวลา 10-15 ปี
ในช่วงกลางดึกของคืนวันจันทร์ ทรัมป์ก็ยังไม่ได้มีการตอบสนอบกับอิหร่านในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด
ประธานาธิบดีกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ตามสไตล์ที่ไม่แน่ไม่นอนของเขาว่า
“เราจะไม่ตัดเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกจากการพิจารณาอย่างสิ้นเชิง แต่ผมไม่มีเจตนาที่จะเจรจากับอิหร่าน แต่มันก็ไม่แน่เสมอไป”
“ผมเป็นคนที่มีความยืดหยุ่นสูง”
ความเป็นคนกระตือรือร้นและนักเจรจาต่อรองของทรัมป์ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้นักกลยุทธ์ด้านการเมืองชี้ว่าข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาได้รับความนิยมในการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 นี้
ด้านนายรูฮานียังมองภาพของการเข้าร่วมสมัชชาสหประชาชาติเสมือนการนำความสงบมาสู่ชาวโลก โดยกล่าวว่าเขาจะนำเสนอแผนการเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการขนส่งผ่านชอบแคบฮอร์มุซและทำให้อ่าวเปอร์เซียเป็นเขตปลอดอาวุธ และในขณะเดียวกันอิหร่านซึ่งปฏิเสธความรับผิดชอบในการโจมตีซาอุดิอาราเบียอยู่ในขณะนี้ก็ “จะไม่ยอมให้ผู้ใดมารุกล้ำ” เขตแดนของตนเช่นกัน
สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนีเริ่มกดดันอิหร่าน
แต่ประธานาธิบดีของอิหร่านก็ไม่ได้ต่อรองในฐานะของผู้มีอำนาจ
ในช่วงที่อิหร่านถูกโจมตีอย่างหนักเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี สามประเทศพันธมิตรของอิหร่านในช่วงที่ถูกคว่ำบาตรจากทรัมป์กลับเห็นด้วยกับสหรัฐฯ ในการกล่าวโทษว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีซาอุดิอาราเบีย
ทั้งสามประเทศกล่าวไว้ในแถลงการณ์ร่วมกันนอกรอบการประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่า “ถึงเวลาแล้วที่อิหร่านจะต้องยอมรับและทำตามข้อกำหนดการเจรจาในระยะยาวเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งปัญหาทางด้านความปลอดภัยในประเทศ ซึ่งหมายรวมถึงเรื่องขีปนาวุธด้วย”.
เมื่อทั้งสามประเทศซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในยุโรปสนับสนุนสหรัฐฯ ในการกล่าวโทษอิหร่านเช่นนี้ ทรัมป์ยังจะยอมตกลงเจรจากับรูฮานีเพื่อยกเลิกหรือผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรเป็นการชั่วคราวให้กับอิหร่านอยู่อีกหรือไม่?
นายโอลิเวียร์ จาค็อบ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงจากบริษัท Petromatrix ในเมืองซุก ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ไม่ได้ลดความเป็นไปได้ในเรื่องดังกล่าวลงเลย
นายจาค็อบกล่าวไว้ในรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า
“ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดเป็นขาลงในสัปดาห์นี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาน้ำมันดิบกลายเป็นแนวราบ หรือมีการเคลื่อนที่อย่างยืดเยื้อต่อไปนั้นน่าจะเกิดขึ้นหากการพบปะกันของทรัมป์และรูฮานีในนิวยอร์คได้ข้อสรุปออกมาว่าจะมีการยกเลิกหรือยกเว้นมาตรการคว่ำบาตรในเรื่องการส่งออกน้ำมันบางส่วนให้กับอิหร่าน” “จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ นี้ทำให้โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นมีน้อยลง แต่จะเอาแน่เอานอนกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ไม่ได้เช่นกัน สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบจึงยังต้องอยู่ในช่วงเตรียมพร้อม หลังจากผ่านประเด็นในเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นระหว่างรูฮานีกับทรัมป์แล้ว ยังต้องไปพิจารณากันต่อในเรื่องระยะเวลาที่จะใช้ในการซ่อมแซมโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดิอาราเบียเป็นเรื่องต่อไป”
หากทั้งสองประเทศเปิดโต๊ะเจรจากันจริงๆ ราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร?
ราคาน้ำมันจะกลับมายืนในระดับก่อนที่จะเกิดการโจมตีซาอุดิอาราเบียอีกหรือไม่?
นายจอห์น คิลดัฟฟ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทกองทุนบริหารความเสี่ยงด้านพลังงาน Again Capital จากนิวยอร์คกล่าวว่า หากเพียงสหรัฐฯ และอิหร่านกำหนดวันที่จะเจรจากันเมื่อใด ราคาน้ำมันดิบก็อาจกลับไปยืนที่ระดับก่อนเกิดเหตุการณ์การโจมตีโรงกลั่นน้ำมันที่ซาอุดิอาราเบียได้ ซึ่งก็หมายความว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI จะกลับไปอยู่ที่ $54.85 ส่วน ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ก็จะไปอยู่ที่ $60.22 เมื่อวันอังคารที่ผ่านมามีการเทขายออกไปจนทำให้ราคาลดลงประมาณ $4 ต่อบาร์เรล หรือคิดเป็นเกือบ 7%
นายคิลดัฟฟ์กล่าวว่า
“การคำนวนผลตอบแทนที่เกิดจากความเสี่ยงของน้ำมันในช่วงนี้ง่ายมาก โดยแทบไม่ต้องสนใจในเรื่องที่บริษัทอรามโกเร่งดำเนินการซ่อมแซมโรงกลั่นน้ำมันของตนให้กลับมาผลิตได้เต็มกำลังอีกครั้งโดยเร็วที่สุดเพื่อพิสูจน์ว่าสถานะทางการเงินของบริษัทยังดีก่อนที่จะมีการเปิดจำหน่ายหุ้น IPO”
บริษัทอรามโกกล่าวว่าโรงกลั่นน้ำมันที่เมืองอับกาอิกซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการโจมตีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาสามารถกลับมาผลิตน้ำมันได้สองในสามส่วนของปริมาณที่ผลิตได้ต่อวันตามปกติที่ระดับ 5.7 ล้านบาร์เรลแล้ว และการซ่อมแซมจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์
ส่วนอิหร่านเองก็ได้กล่าวไว้ในเดือนพฤษภาคมว่าต้องการผลิตน้ำมันให้ได้อย่างน้อย 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันหากต้องเข้าร่วมข้อตกลงนิวเคลียร์ครั้งใหม่กับประเทศมหาอำนาจของโลกอีกครั้ง สิ่งนี้อาจเป็นภาระอันหนักหนาของตลาดซึ่งเคยคิดว่าจะไม่มีน้ำมันจากอิหร่านเข้าสู่ตลาดอีกต่อไปนับตั้งแต่มีการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรในเดือนพฤศจิกายน 2018
...หรือว่าราคาน้ำมันอาจปรับเพิ่มจากปัจจุบันไปอีก $10?
นักวิเคราะห์บางคนอย่างนายฟิล ฟลีนน์ จากกลุ่มบริษัท Chicago’s Price Futures ได้โต้แย้งว่าข้อมูลที่อรามโกชี้แจงออกมานั้นไม่เป็นความจริง รวมถึงการที่ทำเนียบขาวจะยอมรับข้อเสนอของนายรูฮานีนั้นก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก
นายฟลีนน์กล่าวว่า
“ผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นที่เมืองอับกาอิกแล้วคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมนานหลายเดือนกว่าที่จะสามารถกลับมาสู่สภาวะปกติได้ การเปิดจำหน่ายหุ้น IPO ของอรามโกคือปัจจัยหลักที่ทำให้ซาอุดิอาราเบียต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดโดยการยืนยันว่ากำลังการผลิตจะกลับมาปกติได้อย่างรวดเร็ว แต่น่าเสียดายที่ทำได้เพียงทำให้ราคานิ่งอยู่กับที่เท่านั้น”
“หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป มีเพียงปัญญาเท่านั้นที่จะเอาชนะทุกอย่างได้ ผมคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ ราคาน้ำมันดิบน่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันไปอีก $10 ต่อบาร์เรล”