- สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น หนุนโดยการขยายตัวดีกว่าคาดของภาคการบริการในจีน ยูโรโซน และสหรัฐฯ
- นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางยุโรป และภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สามารถขยายตัวได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ คือปัจจัยหนุนให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้
- อย่างไรก็ดี มองว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์จะไม่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปได้มาก เพราะผู้ส่งออกจำนวนมากก็พร้อมขายดอลลาร์ เมื่อเริ่มเห็นเงินบาทอ่อนค่า โดยเฉพาะหากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 30.75 บาท/ดอลลาร์
- กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 30.30-30.80 บาท/ดอลลาร์
มุมมองนโยบายการเงิน
- การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ในวันพฤหัสฯ คาดว่าจะ“ลด”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Overnight Rate) 0.25% สู่ระดับ 2.75% นับเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในปีนี้
- การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางตุรกี (CBRT) ในวันพฤหัสฯ คาดว่าจะ“ลด”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (1-Week Repo) 3.00% สู่ระดับ 16.75% หลังลดดอกเบี้ยลง 4.25% ในเดือนกรกฎาคม
- การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสฯ คาดว่าจะ“ลด”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Rate) 0.10% สู่ระดับ -0.50% พร้อมทั้งกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์แบบจัดชั้น (Tiering system) เพื่อลดผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยติดลบต่อสถาบันการเงิน และคาดว่า ECB จะประกาศใช้โครงการซื้อสินทรัพย์ (Quantitative Easing) ด้วยวงเงิน 4.5 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน หลังเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้น
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
- ฝั่งสหรัฐฯ – วันศุกร์ มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังดูสดใส หนุนโดยการขยายตัว 0.3%m/m ของยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนสิงหาคม และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Consumer Confidence) ที่จะปรับตัวขึ้น แตะระดับ 91จุด จากตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง และแนวโน้มจีนกับสหรัฐฯ เปิดโต้ะเจรจาการค้า
- ฝั่งยุโรป –ตลอดทั้งสัปดาห์ ตลาดจะติดตามประเด็นการเมืองของอังกฤษ หลังโอกาสที่อังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรปโดยไร้ข้อตกลง (No Deal Brexit) ลดลงโดยคาดว่าสภาขุนนางมีแนวโน้มจะอนุมัติร่างกฎหมายป้องกันภาวะ No Deal Brexit ซึ่ฃผ่านการอนุมัติจากสภาสามัญชนในสัปดาห์ผ่านมา
- ฝั่งเอเชีย – วันจันทร์ มองว่า ตัวเลขคาดการณ์ครั้งที่ 2 ของอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 2 จะอยู่ที่ระดับ 1.1%q/q ลดลงจากคาดการณ์ครั้งแรกที่ระดับ 1.8%q/q หลังการลงทุนภาคเอกชน (CapEx) ขยายตัว 0.7%q/q ลดลงจากที่ประเมินก่อนหน้านี้ว่าจะโต 1.5%q/q จากผลกระทบของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รวมทั้งญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น