InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทรุดตัวลงกว่า 1,000 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรดังกล่าว ได้ซ้ำเติมตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ หลังการเปิดเผยภาคการผลิตที่อ่อนแอ และจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่สูงกว่าคาด
ณ เวลา 22.01 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 38,662.23 จุด ลบ 1,075.03 จุด หรือ 2.71%
ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 65 ในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 หลังจากอยู่ที่ระดับ 23 เมื่อวันศุกร์
นักลงทุนมองว่าความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐเกิดจากการที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไป โดยล่าช้ากว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ซึ่งได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้ ขณะที่เฟดยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี
ล่าสุด นายออสแตน กูลสบี ประธานเฟด สาขาชิคาโก กล่าวในวันนี้ว่า เฟดควรมีมาตรการตอบรับต่อสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอในเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยไม่ควรที่จะเข้มงวดเกินไปในขณะนี้
"ภารกิจของเฟดมีความชัดเจนมาก คือการทำให้การจ้างงานสูงสุด รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของราคาและระบบการเงิน นี่เป็นสิ่งที่เราจะกระทำ ดังนั้น ถ้าสถานการณ์โดยรวมเริ่มส่งสัญญาณย่ำแย่ลง เราก็จะทำการแก้ไข" นายกูลสบีกล่าวในรายการ Squawk Box ของสำนักข่าว CNBC
ต่อคำถามที่ว่า ความอ่อนแอในตลาดแรงงานและภาคการผลิตจะทำให้เฟดมีมาตรการตอบรับหรือไม่ นายกูลสบีไม่ได้ตอบอย่างชัดเจนว่าเฟดจะดำเนินการอย่างไร แต่เขากล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลที่เฟดจะยังคงใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด ถ้าหากเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะอ่อนแอ
ด้านนายเจเรมี ซีเกล ศาสตราจารย์จาก Wharton School ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าวเรียกร้องให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.75% หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี
นอกจากนี้ นายซีเกลยังกล่าวว่า เฟดควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างน้อยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนก.ย.
"นี่เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยที่สุดที่เฟดควรกระทำ โดยอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขณะนี้ควรอยู่ระหว่าง 3.5-4.00%" นายซีเกลกล่าวนายซีเกลระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินของเฟดจะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นให้ดีดตัวขึ้น เหมือนกับที่นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟด ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.50% ในช่วงต้นปี 2544 หลังจากที่ไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค.2543 ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินดังกล่าวได้ช่วยให้ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นอย่างมาก
นักลงทุนเทน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมที่เหลือในปีนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่อ่อนแอเมื่อวันศุกร์ โดยจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จำนวน 2 ครั้ง และ 0.25% จำนวน 1 ครั้ง รวมเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1.25% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดแตะระดับ 4.00-4.25% ในช่วงสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5.25-5.50%
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนก.ย.
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 80.3% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนพ.ย.
ขณะเดียวกัน นักลงทุนให้น้ำหนัก 57.4% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือนธ.ค.
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 177,000 ตำแหน่ง และชะลอตัวจากระดับ 179,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย.
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.1%
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนมิ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 179,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 206,000 ตำแหน่ง