InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (26 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกลับเข้าซื้อหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ถูกเทขายในช่วงต้นสัปดาห์ และการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อทำให้มีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 40,589.34 จุด พุ่งขึ้น 654.27 จุด หรือ +1.64%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,459.10 จุด เพิ่มขึ้น 59.88 จุด หรือ +1.11% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 17,357.88 จุด เพิ่มขึ้น 176.16 จุด หรือ +1.03%
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์บวก 0.75% ขณะที่ S&P500 ลดลง 0.82% และ Nasdaq ลดลง 2.08%
การปรับตัวขึ้นของดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ในวันศุกร์นั้น ไม่สามารถชดเชยการร่วงลงในช่วง 2 วันก่อนหน้าได้ทั้งหมด และดัชนีทั้งสองปิดตลาดสัปดาห์นี้ลดลงเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน
ดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนบวกได้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ได้แรงหนุนจากหุ้น 3M ซึ่งพุ่งขึ้น 23% ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นรายวันสูงที่สุดในรอบหลายสิบปี หลังจากบริษัทปรับเพิ่มคาดการณ์ผลกำไรประจำปี
หุ้น 5 ตัวในกลุ่มที่เรียกว่า Magnificent Seven พุ่งขึ้นในวันศุกร์ นำโดยหุ้นเมตา แพลตฟอร์มส ซึ่งพุ่งขึ้น 2.7% ยกเว้นหุ้น 2 ตัวได้แก่หุ้นเทสลาและหุ้นอัลฟาเบท ซึ่งประกาศผลกำไรที่ไม่ค่อยดีนักทำให้เกิดการเทขายหุ้นในตลาดครั้งใหญ่ในวันพุธ โดยหุ้นทั้งสองตัวลดลง 0.2% และหุ้นอัลฟาเบทร่วงลงสู่ระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.
เนื่องจากจะมีการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทในกลุ่ม Magnificent Seven เพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า แนวโน้มของตลาดอาจขึ้นอยู่กับการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทเหล่านั้น
เกร็ก บูทเล่ หัวหน้ากลยุทธ์หุ้นสหรัฐและอนุพันธ์ของบีเอ็นพี พารีบาส์กล่าวว่า "สิ่งที่เราจะได้รับในสัปดาห์หน้าจากแอปเปิ้ล, ไมโครซอฟท์, อะเมซอน.คอม และเมตา จะเป็นตัวกำหนดทิศทางว่า การย้ายกลุ่มลงทุนจะดำเนินต่อไปหรือไม่ และตลาดจะปรับตัวไปในทิศทางใด"
นักลงทุนโยกย้ายการลงทุนออกจากกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าในปัจจุบันสูงเกินจริง ไปยังกลุ่มหุ้นที่ปรับตัวแย่กว่า เช่น หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก
หุ้นขนาดเล็กที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นปานกลางในเดือนมิ.ย. ซึ่งตอกย้ำถึงภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอลง และอาจทำให้เฟดเริ่มผ่อนคลายนโยบายในเดือนก.ย.
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.6% ในเดือนพ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.6% ในเดือนพ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.1% ในเดือนพ.ค.
ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
เครื่องมือ FedWatch ของ CME บ่งชี้ว่า มีโอกาส 88% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมเดือนก.ย.หลังการเปิดเผยข้อมูล PCE ขณะที่ข้อมูลจาก LSEG แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงคาดหวังว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งภายในเดือนธ.ค. 2567
อดัม เฮทส์ หัวหน้าฝ่ายสินทรัพย์หลายประเภทระดับโลกของจานัส เฮนเดอร์สันกล่าวว่า "เราเห็นว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพเป็นประโยชน์ต่อการซื้อขายโดยรวม" พร้อมทั้งระบุว่า หุ้นขนาดเล็กปรับตัวได้ดีกว่าดัชนี S&P500 มากกว่า 10% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา
การซื้อขายหุ้นในวงกว้างยังส่งผลดีต่อหุ้นที่ปรับตัวตามวัฏจักรของเศรษฐกิจอีกด้วย โดยในวันศุกร์ หุ้นทั้ง 11 กลุ่มของ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มวัสดุ เป็นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุด
ในบรรดาหุ้นที่ได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการนั้น หุ้นเด็คเคอร์ เอาท์ดอร์ พุ่งขึ้น 6.3% หลังจากปรับเพิ่มคาดการณ์ผลกำไรประจำปี ขณะที่หุ้นเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการด้านน้ำมัน พุ่งขึ้น 5.8% หลังจากเปิดเผยผลกำไรไตรมาส 2 ที่สูงเกินคาด