InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลง 300 จุด ท่ามกลางความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดไว้ หลังเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมวานนี้ และสหรัฐเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตและภาคบริการ รวมทั้งตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง
ณ เวลา 22.30 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 39,370.35 จุด ลบ 300.69 จุด หรือ 0.76%
นอกจากนี้ ตลาดถูกกดดันจากการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในวันนี้
นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนพ.ย. จากเดิมที่คาดไว้ในเดือนก.ย.
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 47.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนก.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 32.4% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 46.7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 44.5% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ขณะเดียวกัน นักลงทุนให้น้ำหนัก 40.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนธ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 31.1% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 54.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 25 เดือน จากระดับ 51.3 ในเดือนเม.ย.
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 8,000 ราย สู่ระดับ 215,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 220,000 ราย
นอกจากนี้ เฟดเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. ระบุว่า กรรมการเฟดได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และไม่มั่นใจว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงมากพอที่จะทำให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่
นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
"ผมคิดว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงนานกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ เนื่องจากเม็ดเงินจำนวนมากจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังยังคงอยู่ในระบบ และยังคงผลักดันสภาพคล่องในตลาด" นายไดมอนกล่าวในการประชุม JPMorgan Global China Summit ที่นครเซี่ยงไฮ้
ส่วนนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกบอร์ดผู้ว่าการเฟด และเป็นสมาชิกถาวรของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) กล่าวว่า เขายังไม่พร้อมที่จะสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยเขาต้องการเห็นเงินเฟ้อชะลอตัวเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าว
ตลาดจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 31 พ.ค. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้กำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)