InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 200 จุด ขณะที่ดัชนี Nasdaq และ S&P 500 พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขานรับตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 22.26 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 39,812.61 จุด บวก 254.50 จุด หรือ 0.64% ขณะที่ดัชนี Nasdaq บวก 0.92% และดัชนี S&P 500 บวก 0.81%
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงหลุด 4.4% หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าว
นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ในเดือนก.ย. และปรับลดอีกครั้งในเดือนธ.ค. หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดในวันนี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 52.1% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนก.ย. หลังจากให้น้ำหนัก 50.5% เมื่อวานนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 38.6% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนธ.ค. หลังจากให้น้ำหนัก 36.8% เมื่อวานนี้
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 3.5% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.4% ในเดือนมี.ค.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.6% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 3.8% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.4% ในเดือนมี.ค.