InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงกว่า 400 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ หลังการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
ณ เวลา 20.41 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 39,157.31 จุด ลบ 409.54 จุด หรือ 1.04%
ราคาหุ้นเทสลาดิ่งลง 6% ในวันนี้ หลังรายงานตัวเลขการผลิตและส่งมอบรถยนต์ในไตรมาส 1/67 ที่น่าผิดหวัง
นักลงทุนเริ่มให้น้ำหนักใกล้เคียงกันต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดหรือคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 56.3% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 63.8% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 42.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 29.8% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.3 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 47.8 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 48.1
ดัชนีปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตสหรัฐมีการขยายตัว โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 17 เดือน
นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวแสดงความเห็น หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ว่า แม้ว่าดัชนี PCE สอดคล้องกับที่เฟดคาดการณ์ไว้ แต่เฟดจะไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวที่แข็งแกร่ง และเงินเฟ้ออยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟด
"เราจำเป็นต้องเห็นความคืบหน้ามากขึ้นอีกเกี่ยวกับเงินเฟ้อก่อนที่จะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการตัดสินใจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ทำให้เราต้องใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้" นายพาวเวลกล่าวนักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 205,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ชะลอตัวจากระดับ 275,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ขณะที่คาดว่าอัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.9%