InfoQuest - ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 200 จุด หลังสหรัฐเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนดิ่งลงมากกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ผ่อนคันเร่งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ ราคาหุ้นได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อเก็งกำไรของนักลงทุน หลังจากที่ราคาหุ้นดิ่งลงอย่างหนักในสัปดาห์ที่แล้ว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ณ เวลา 21.51 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,044.77 จุด บวก 227.85 จุด หรือ 0.69%
ในการซื้อขายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีทั้ง 3 ของตลาดหุ้นวอลล์สตรีททำสถิติดิ่งลงหนักที่สุดเมื่อเทียบรายสัปดาห์นับตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลง 3% ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 ขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ดิ่งลง 2.7% และ 3.3% ตามลำดับ
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ดิ่งลง 4.5% ในเดือนม.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าลดลงเพียง 3.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 5.1% ในเดือนธ.ค.
ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวลง 54.6% ของคำสั่งซื้อเครื่องบิน
ตลาดหุ้นยังได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์และการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์จะช่วยเพิ่มกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนการชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถเพิ่มการลงทุน และเพิ่มการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
นักลงทุนเกาะติดการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทกลุ่มค้าปลีกในสัปดาห์นี้ เพื่อจับตาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมทั้งการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐ ก่อนที่จะมีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในสัปดาห์หน้า