โดย Barani Krishnan
Investing.com – ทิศทางราคาน้ำมันอาจจะชัดเจนขึ้นหรือเข้าสู่ภาวะตลาดกระทิงมากขึ้นก็เป็นได้ หลังจากที่รัสเซียและซาอุฯ ได้ตกลงที่จะยืดการลดกำลังการผลิตออกไปอีกราวหกถึงแปดเดือน อีกทั้งสหรัฐฯ และจีนก็ยังตกลงกันแล้วว่าจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่สองไปอีกหกเดือนเพื่อยุติสงครามการค้าที่กินเวลามานานนับแรมปี
ทางด้านทองคำ เนื่องด้วยความคาดหวังที่ลดลงต่อการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด อีกทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดน้ำมันที่ดูเหมือนว่ามีแรงกระตุ้นต่อการลงทุนความเสี่ยงสูงจะหวนกลับมาอีกครั้ง แรงซื้อทองอาจไม่มากพอที่จะรักษาราคาทองให้อยู่เหนือระดับ $1,400 ต่อออนซ์ได้อีกต่อไป
ภาพรวมตลาดพลังงาน
การประชุมกลุ่มโอเปกและโอเปก+ ในวันที่ 1-2 กรกฎาคมนี้อาจซบเซาและไม่น่าสนใจเท่าที่ควร สาเหตุมาจากชายผู้เดียวนั่นก็คือ นายวลาดิมีร์ ปูติน
ประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดิมีร์ ได้ทำลายความไม่แน่นอนและความตึงเครียดของการประชุมครั้งนี้ไปเสียจนหมดสิ้น ด้วยการออกมาประกาศเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ณ ที่ประชุม G20 ว่าเขาได้ตกลงกับเจ้าชายโมฮัมเม็ด บิน ซัลมานจากซาอุฯ แล้วว่า โอเปก+ จะเดินหน้าลดกำลังการผลิตน้ำมันที่อัตรา 1.2 ล้านบาร์เรลตามข้อตกลงเดิมไปจนถึงเดือนธันวาคมหรือมีนาคม โดยข้อตกลงฉบับก่อนหน้านี้มีกำหนดการสิ้นสุดในเดือนนี้
ด้วยการประกาศแค่ครั้งเดียว นายปูตินได้แสดงให้โอเปกเห็นแล้วว่า ใครกันแน่ที่เป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในการตัดสินใจต่าง ๆ
หากไม่พิจารณาถึงปัจจัยทางการเมืองแล้ว คำถามที่สำคัญที่สุดคือราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวไปยังทิศทางใดในสัปดาห์นี้ โดย สัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าเวสท์เท็กซัส ของสหรัฐฯ อาจขึ้นไปถึง $60 ต่อบาร์เรลหรือมากกว่านั้น และกำลังมุ่งหน้ากลับขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในปี 2019 ที่ $66.60 เมื่อเดือนเมษายน ส่วนทางด้าน สัญญาเบรนท์ ของสหราชอาณาจักรนั้นหนทางยังอีกยาวไกลกว่าจะสามารถขึ้นไปทวงระดับสูงสุดที่ $75.60 เมื่อเดือนเมษายนได้ แม้ว่าระดับ $70 อาจไม่ได้ไกลเกินเอื้อมสักเท่าไร
ปฏิทินตลาดพลังงานในสัปดาห์นี้
วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม
การประชุมโอเปก
วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม
การประชุมโอเปก+
สถาบันปิโตรเลียมแห่งอเมริกา รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังรายสัปดาห์
วันพุธที่ 3 กรกฎาคม
สำนักงานสารสนเทศพลังงานสหรัฐฯ หรือ EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังรายสัปดาห์
วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม
รายงาน ปริมาณก๊าซธรรมชาติคงคลัง รายสัปดาห์จาก EIA
วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม
จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันรายสัปดาห์จาก Baker Hughes
ภาพรวมตลาดโลหะมีค่า
ก่อนหน้านี้ผู้ลงทุนตลาดกระทิงของทองคำต่างก็คึกคักเป็นพิเศษ ท่ามกลางความคาดหวังว่าเฟดจะยอมขึ้นอัตราดอกเบี้ยราว 50 จุดในเดือนกรกฎาคมนี้
แต่ความคาดหวังเหล่านั้นกลับต้องพังทลายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากประธานเฟด นายเจอโรม เพาเวลล์ และสมาชิกเฟด นายเจมส์ บุลลาร์ด ส่งสัญญาณให้ตลาดผ่านคำกล่าวว่า เฟดจะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเพียงแค่ 25 จุดเท่านั้น
เท่านั้นยังไม่พอ การประชุมระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายสี จิ้นผิงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาก็อาจเปลี่ยนแปลงทิศทางของการลดอัตราดอกเบี้ยได้ ดังที่เฟดเคยกล่าวไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า เฟดจะเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจเพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้นโยบายแบบผ่อนคลายหรือไม่
ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ เครื่องมือติดตามอัตราดอกเบี้ยของเฟด จาก Investing.com ชี้ว่ามีโอกาสมากถึง 100% ที่จะมีการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเพียงแค่ผลคาดการณ์ล่วงหน้าก่อนการเจรจาระหว่างทรัมป์-สีในวันเสาร์
สรุปแล้ว ราคาทองโลก ที่เคยทำระดับสูงสุดเมื่อวันอังคารที่ $1,438.99 และย่อตัวลงไปเหลือ $1,409.50 เมื่อวันศุกร์ อาจย่อตัวลงไปอีกจนถึง $1,385 หรือต่ำกว่านั้นในสัปดาห์นี้
สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า สำหรับการส่งมอบเดือนสิงหาคม ในตลาดโคเม็กซ์ของนิวยอร์ค เมอร์แคนไทล์ เอ็กซ์เชนจ์ ทำระดับสูงสุดเมื่อวันอังคารที่ $1,433.30 ก่อนจะลงมาปิดเมื่อวันศุกร์ที่ $1,412.50 หากพิจารณาในแง่ของทางเทคนิคแล้วน่าจะย่อตัวลงมาเหลือ $1,390 และดิ่งลงไปอีกในสัปดาห์นี้
ปฏิทินตลาดโลหะมีค่าในสัปดาห์นี้
วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม
ดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก Caixin (มิ.ย.)
สมาชิกเฟด นายคลาริดา ให้คำกล่าว
ดัชนี PMI จาก ISM (มิ.ย.)
วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม
ผลพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางออสเตรเลีย
สมาชิกเฟด นายวิลเลียมส์ ให้คำกล่าว
วันพุธที่ 3 กรกฎาคม
ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP (มิ.ย.)
จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ
ดุลการค้าสหรัฐฯ (พ.ค.)
ยอดคำสั่งซื้อโรงงานสหรัฐฯ (พ.ค.)
ดัชนี PMI นอกภาคการผลิตจาก ISM (มิ.ย.)
วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม
ตลาดสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุดเทศกาล
วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ (มิ.ย.)