โดย Peter Nurse
Investing.com - ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นต่อเนื่องหลังเปิดตลาดยุโรป ท่ามกลางการซื้อขายอย่างระมัดระวังระหว่างที่เฝ้ารอข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐและผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป เพื่อคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต
เมื่อเวลา 2:55 น. ET (07:55 GMT) ดัชนีดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.1% อยู่ที่ 90.180 และยังคงผันผวนในกรอบแคบ ๆ ที่ระดับ 90 จุด
ค่าเงินยูโร ลดลง 0.1% อยู่ที่ 1.2167 โดยลดลงจากระดับสูงสุดในรอบสัปดาห์ที่ 1.2218 ในช่วงก่อนหน้า
ค่าเงินเยน ลดลง 0.1% ที่ 109.55
ค่าเงินปอนด์ ลดลง 0.1% มาที่ 1.4112
ขณะที่ ค่าเงินออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 0.1% อยู่ที่ 0.7737
ค่าเงินบาท แข็งค่าขึ้นอีกในช่วงบ่าย เพิ่มขึ้น 0.03% โดยขณะนี้ซื้อขายอยู่ที่ 31.160 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กิจกรรมภายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศถูกจำกัดไว้ตลอดทั้งสัปดาห์ สกุลเงินหลัก ๆ เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ระหว่างที่บรรดาเทรดเดอร์รอการเปิดเผยข้อมูลราคาผู้บริโภคของสหรัฐสำหรับเดือนพฤษภาคมอย่างระมัดระวัง
รายงานของเดือนที่แล้วแสดงให้เห็นว่า ราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 12 ปี และนั่นทำให้เกิดความเคลือบแคลงในแถลงการณ์ของเฟดที่ว่า แรงกดดันจากเงินเฟ้อในปัจจุบันจะเป็นเพียงการชั่วคราวและมาตรการกระตุ้นทางการเงินจะคงอยู่ต่อไปอีกสักระยะ
หากมีข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งรายงาน จะเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้เฟดเคลื่อนไหวมากขึ้นไปอีก ซึ่งอาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯสูงขึ้นและจะส่งผลดีต่อเงินดอลลาร์
นักเศรษฐศาสตร์กำลังคาดหวังว่า ตัวเลข CPI จะพุ่งขึ้น 0.4% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะทำให้เพิ่มขึ้นโดยรวม 4.7% ต่อปี ส่วน ตัวเลขพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมการขึ้นราคาจากภาคอาหารและพลังงานที่มีความผันผวน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% ต่อเดือน หรือ 3.4% ต่อปี
นักวิเคราะห์จาก Nordea กล่าวในรายงานว่า “เราอาจจะเจอภาวะเงินเฟ้อที่น่าตกใจอีกครั้ง” โดยชี้ไปที่องค์ประกอบหลักสองส่วนที่น่าจับตามองในรายงานภาวะเงินเฟ้อพื้นฐาน รวมถึงดัชนีราคาที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจรถยนต์มือสองและค่าเช่า
“หากราคาค่าเช่าที่พักสูงถึง 2.5% (เราพบว่ามีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า) และราคารถยนต์มือสองเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบปีต่อปี นั่นจะเป็นส่วนผสมที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่า 4% ซึ่งมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 3.4% อย่างเห็นได้ชัด และนี่เป็นสภาวการณ์ที่มีความเสี่ยงในเดือนพฤษภาคม แต่ดูเหมือนว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นจริงในเดือนมิถุนายน”
เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ในวันนี้ คือ การตัดสินใจด้านนโยบายล่าสุดโดย ธนาคารกลางยุโรป ซึ่งนักลงทุนจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพื่อหาเบาะแสเกี่ยวกับการชะลอตัวของโครงการซื้อพันธบัตร
“ในขณะที่สภาปกครองยังคงมีความแตกแยก แต่สมาชิกส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการตัดสินใจซื้อพันธบัตรต่อไปในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน เนื่องจากการฟื้นตัวยังไม่มั่นคง” Nordea ระบุในอีกหนึ่งรายงาน
ค่าเงินแคนาดา เพิ่มขึ้น 0.1% มาอยู่ที่ 1.2115 ดอลลาร์ หลังจากที่ ธนาคารแห่งประเทศแคนาดา ประกาศว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ยังคงรักษาสัดส่วนการซื้อพันธบัตรในระดับปัจจุบันไว้ต่อไป
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้ความสนใจของนักลงทุนมุ่งไปที่การประชุมในเดือนหน้า ท่ามกลางความคาดหวังสำหรับการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบฉุกเฉินอีกครั้ง
ธนาคารกลางเป็นหนึ่งในสถาบันแรก ๆ ในประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนมาใช้นโยบายรัดกุมในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเร่งระยะเวลาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและลดสัดส่วนการซื้อพันธบัตร