InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (26 ก.ค.) โดยถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลง หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่ชะลอตัวซึ่งทำให้นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือนก.ย.
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.04% แตะที่ระดับ 104.314
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 153.73 เยนในวันศุกร์ (26 ก.ค.) จาก 153.79 เยนในวันพฤหัสบดี (25 ก.ค.) แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะ 0.8836 ฟรังก์สวิส จาก 0.8805 ฟรังก์สวิส และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแตะ 1.3838 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.3824 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะ 1.0857 ดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ จาก 1.0848 ดอลลาร์สหรัฐในวันพฤหัสบดี และปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะ 1.2872 ดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ จาก 1.2859 ดอลลาร์สหรัฐในวันพฤหัสบดี
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ลดลง 0.054% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีซึ่งโดยทั่วไปจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ลดลง 0.056% หลังสหรัฐรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE)
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.6% ในเดือนพ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.6% ในเดือนพ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.1% ในเดือนพ.ค.
ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)