Investing.com - สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ทรงตัวในวันนี้หลังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ เนื่องจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการระบุถึงความคืบหน้าในการลดอัตราเงินเฟ้อ
ค่าเงินเยนยังคงอ่อนแอและอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 38 ปี ซึ่งโฟกัสตอนนี้ยังคงอยู่ที่การแทรกแซงตลาดเงินโดยรัฐบาลว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่
ความเชื่อมั่นต่อตลาดภูมิภาคเอเชียยังคงอ่อนแอเพราะข้อมูล PMI ที่น่าผิดหวังจากจีน ขณะที่การคาดการณ์สัญญาณเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังคงทำให้นักลงทุนมีความระมัดระวัง
ดอลลาร์ฟื้นตัวก่อนสัญญาณเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย
ดัชนีดอลลาร์ และ ดัชนีดอลลาร์ฟิวเจอร์ส ทรงตัวในตลาดเอเชียหลังลดลงประมาณ 0.2% ในวันอังคาร
การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์เกิดขึ้นเพราะพาวเวลล์ระบุถึงความคืบหน้าในการลดอัตราเงินเฟ้อ และทางด้านอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ก็ลดลงเช่นกัน
แต่การขาดทุนของดอลลาร์ยังคงมีจำกัด เนื่องจากพาวเวลล์ก็เตือนอีกว่าเฟดยังต้องการความมั่นใจมากกว่านี้ในการเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย
คำพูดของพาวเวลล์เกิดขึ้นก่อนสัญญาณเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการเงินและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งมีทั้ง รายงานการประชุม ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เดือนมิถุนายน พร้อมกับคำปราศรัยเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่เฟดในวันนี้
ด้านข้อมูล การจ้างงานนอกภาคเกษตร ก็มีกำหนดการณ์เปิดเผยในวันศุกร์นี้อีกด้วย
เงินเยนอ่อนแอ USDJPY ขึ้นเหนือ 161 จับตาการแทรกแซง
คู่เงิน USDJPY ของเยนญี่ปุ่นขยับขึ้น 0.1% เป็น 161.63 เยน อ่อนตัวเพิ่มเติมเนื่องจากคำเตือนเกี่ยวกับการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นไม่ได้ช่วยสนับสนุนค่าเงินมากนัก
ความอ่อนแอของเงินเยนในสัปดาห์นี้เกิดจากการปรับลดลงอย่างมากของข้อมูล GDP ญี่ปุ่นในไตรมาสแรก ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาจะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีพื้นที่จำกัดในการปรับนโยบายการเงิน
แต่นักลงทุนยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับมาตรการแทรกแซงจากรัฐบาล รัฐบาลได้มีการแทรกแซงครั้งสุดท้ายในเดือนพฤษภาคมเมื่อตอนที่ USDJPY ทะลุ 160
นักลงทุนคาดการณ์ว่ารัฐบาลกำลังวางแผนที่จะแทรกแซงในช่วงวันหยุดตลาดของสหรัฐฯ ในวันที่ 4 กรกฎาคม เมื่อปริมาณการซื้อขายคาดว่าจะน้อยลง
เงินหยวนของจีนอ่อนตัวจากข้อมูลภาคบริการ PMI ที่น่าผิดหวัง
คู่เงิน USDCNY ของหยวนจีนขยับขึ้นเล็กน้อยและยังคงอยู่ในระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน
ข้อมูล PMI ที่อ่อนแอได้เพิ่มแรงกดดันต่อเงินหยวน อีกทั้งดัชนี Caixin Services PMI ก็ส่งผลน้อยกว่าที่คาดการณ์ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเพิ่มความกังวลว่าการเติบโตในภาคบริการที่เคยเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว
ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของจีนได้กดดันเงินหยวนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ค่าเงินเอเชียอื่น ๆ ทรงตัวจากการขาดทุนเมื่อไม่นานมานี้ แม้ว่าความเชื่อมั่นจะยังคงอ่อนแอท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ
คู่เงิน AUDUSD ของดอลลาร์ออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 0.2% เนื่องจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ยอดค้าปลีก เติบโตมากกว่าที่คาดไว้ในเดือนพฤษภาคม การค้าปลีกที่สูงขึ้นถือเป็นแรงหนุนให้กับแนวโน้มเงินเฟ้อของออสเตรเลีย ซึ่งชี้ไปที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
คู่เงิน USDKRW ของวอนเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 0.3% ขณะที่คู่เงิน USDSGD ของดอลลาร์สิงคโปร์ขยับขึ้น 0.1%
คู่ USDINR ของรูปีอินเดียเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย แต่ยังคงใกล้ระดับสูงสุดในประวัติการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้