InfoQuest - ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (8 ก.พ.) หลังจากเจ้าหน้าที่หลายคนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ขยับขึ้น 0.005% แตะที่ 103.4170
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 131.37 เยน จากระดับ 131.09 เยน แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9202 ฟรังก์ จากระดับ 0.9227 ฟรังก์
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3439 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3410 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.5932 โครนา จากระดับ 10.5844 โครนา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0723 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0721 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2069 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2037 ดอลลาร์
นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในผู้ว่าการเฟด กล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอาคันซอส์ว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่จบ ซึ่งทำให้เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง
ขณะที่นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์กให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลว่า เฟดจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่คุมเข้ม (Restrictive Level) ต่อไปอีกประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหัฐจะปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำเท่ากับในช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาด
การแสดงความเห็นของนายวิลเลียมส์และนายวอลเลอร์เป็นปัจจัยหนุนดอลลาร์ฟื้นตัว หลังจากที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวในงานเสวนาของสมาคมเศรษฐกิจแห่งวอชิงตันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า เงินเฟ้อในสหรัฐกำลังชะลอตัวลง และปีนี้จะเป็นปีที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งความเห็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนคาดว่าเฟดจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันที่ 14 ก.พ.