โดย Yasin Ebrahim
Investing.com - ผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเป็นระยะเวลานานเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่ "สูงจนไม่อาจยอมรับได้" ตามรายงานการประชุมเดือนธันวาคมของเฟดที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ
รายงานการประชุมของเฟดระบุว่า "ผู้เข้าร่วมการประชุมให้ข้อสังเกตว่าการรักษาจุดยืนนโยบายที่เข้มงวดในระยะเวลาประมาณหนึ่งจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงชัดเจนสู่เป้าหมาย 2 % นั้นเหมาะสมจากมุมมองของการบริหารความเสี่ยง"
ในช่วงสรุปของการประชุมครั้งก่อนเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม FOMC ได้ปรับเกณฑ์ อัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน ขึ้นอีก 0.5% ทำให้อยู่ในช่วง 4.25% ถึง 4.5%
การตัดสินใจด้านนโยบายของเฟดในเดือนธันวาคมนั้นช้าลงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สี่ครั้งติดกันในการประชุมครั้งก่อน แม้เฟดจะเต็มใจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในอัตราที่น้อยลง แต่สมาชิกเฟดในที่ประชุมสนับสนุนว่ายังมีความจำเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม โดยยกระดับการคาดการณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับระดับสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราสุดท้ายขึ้น
สมาชิกเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นและนานขึ้นจะเป็นการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจและควบคุม เงินเฟ้อ ซึ่งยังคงอยู่ในระดับ "สูงจนยอมรับไม่ได้" ตามรายงานการประชุม
ในการประชุม สมาชิกเฟดประเมินอัตราดอกเบี้ยสุดท้ายที่ 5.1% ในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 4.6% โดยเสนอช่วงเป้าหมายที่ 5%-5.25% หรือประมาณ 75 จุดพื้นฐานของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิงรุกมากขึ้นของธนาคารกลางนี้ มีสาเหตุมาจากสมาชิกของเฟดที่เตรียมพร้อมสำหรับอัตราเงินเฟ้อที่เร็วขึ้น โดยเพิ่มมุมมองต่อแรงกดดันด้านราคาเป็น 3.5% ในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 3.1%
การอภิปรายระหว่างสมาชิกเฟดมุ่งเน้นไปที่ความเสี่ยงสองประการ อยา่งแรกคือ ความเสี่ยงของการหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวเร็วเกินไปนั้นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับลงสู่เป้าหมาย 2% ล่าช้าออกไป และความเสี่ยงอีกอันคือการเงินที่ตึงตัวมากเกินไปจะกดดันให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
"ผู้เข้าร่วมหลายคนเน้นย้ำว่าคณะกรรมการจำเป็นต้องรักษาสมดุลของความเสี่ยงสองประการต่อไป ความเสี่ยงหนึ่งคือนโยบายการเงินที่เข้มงวดไม่เพียงพออาจทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่เหนือเป้าหมายของคณะกรรมการนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งนำไปสู่การคาดการณ์เงินเฟ้อที่ไม่คงที่...ความเสี่ยงอื่น ๆ คือการดำเนินการรัดกุมทางการเงินที่ไม่ต่อเนื่องอาจทำให้สุดท้ายแล้วจะต้องจบที่นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากเพื่อดึงอัตราเงินเฟ้อกลับลงสู่กรอบเป้าหมายที่ 2%"
อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด สมาชิกของคณะกรรมการยังคงมองว่าแนวโน้มเงินเฟ้อเป็น "ปัจจัยสำคัญที่กำหนดแนวโน้มของนโยบาย" ตามรายงาน
ก่อนหน้านี้ในวันพุธ Neel Kashkari ประธานธนาคารกลางเมืองมินนีแอโพลิสกล่าวว่า แม้ว่าจะมีสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่อนคลาย แต่เฟดยังมีงานต้องทำอีกมาก
"มันเหมาะสมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอย่างน้อยในการประชุม 2-3 ครั้งถัดไป จนกว่าเราจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อถึงจุดสูงสุดแล้ว" Kashkari กล่าวโดยคาดการณ์ว่าเฟดจะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวเมื่อแตะที่ประมาณ 5.4%
“ผมคาดว่าเฟดจะหยุดที่ 5.4%” Kashkari กล่าว “ในมุมมองของผม รับประกันได้เลยว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจสูงขึ้นมาก”
ข้อมูลล่าสุดชี้ไปที่ตลาดแรงงานที่ยังคงตึงตัว ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการเติบโตของค่าจ้างและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่เฟดจะต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป
ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่จาก JOLTs ซึ่งเป็นมาตรวัดความต้องการแรงงาน แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งงานที่ลดลงน้อยกว่าที่คาดไว้ในเดือนพฤศจิกายนเหลือ 10.458 ล้านคนจาก 10.512 ล้านคนในเดือนตุลาคม ตามรายงานของสำนักสถิติแรงงาน
“รายงานจาก JOLTS นั้นแข็งแกร่งมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความไม่สมดุลของแรงงานไม่ดีขึ้น” Jefferies กล่าวในบันทึก “หากความต้องการแรงงานยังไม่ลดลงมากขึ้น เฟดคงจะไม่ยินดีที่จะหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราว โดยที่เรายังไม่ต้องพูดถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเสียด้วยซ้ำ”
อย่างไรก็ตาม สมาชิกเฟดคาดว่าภายใต้ "เส้นทางนโยบายการเงินที่จำกัดอย่างเหมาะสม" อุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงานจะ "เข้าสู่สมดุลที่ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันด้านค่าจ้างและราคาขั้นต่ำ" รายงานการประชุมระบุ
เทรดเดอร์ประมาณ 84% คาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ตามข้อมูลของ เครื่องมือการติดตามอัตราดอกเบี้ยเฟด ของ Investing.com
“เรายังคงคาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 25 จุดพื้นฐานอีก 3 ครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และพฤษภาคม เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยเงินกองทุนอยู่จุดสูงสุดที่ 5-5.25%” Goldman Sachs กล่าวในบันทึกล่าสุดก่อนบันทึกการประชุม FOMC