โดย Peter Nurse
Investing.com -- บทสรุป 5 ข้อเกี่ยวกับภาวะการลงทุนฝั่งสหรัฐ-ยุโรปในวันพฤหัสบดี 11 มิถุนายนมีดังต่อไปนี้
1. ภาพรวมของเฟดไม่สู้ดีนัก, ตลาดควรกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดหรือไม่
คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ดังเดิมเมื่อวานนี้ระหว่าง 0-0.25% และยังคง ยึดมั่น ที่จะรักษานโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเช่นนี้ต่อไปอีกสักระยะ
"ทางคณะกรรมการคาดว่าจะรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเป้าหมายนี้จนกว่าจะมั่นใจว่าเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นช่วงเวลาในปัจจุบันไปได้ และกำลังมุ่งหน้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดแรงงานและเสถียรภาพของราคาผู้บริโภค"
โดยสมาชิกเฟด 2 ท่านจากทั้งหมด 17 ท่านเชื่อว่าควรปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นก่อนสิ้นปี 2022
ทั้งนี้เฟดคาดว่า เศรษฐกิจ ในปี 2020 จะหดตัวลง 6.5% และอัตราการว่างงานในปีนี้จะเท่ากับ 9.3%
นักวิเคราะห์จาก Nordea ชี้ว่าในการแถลงข่าวของ ประธานเฟด นายเจอโรม เพาเวลล์ ได้ "กล่าวถึงแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนแอ แต่เขาดูไม่กังวลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมากนัก" และ "ขณะที่พวกเรากลับเล็งเห็นความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งต่อภาวะเงินฝืดและได้พยายามส่งสัญญาณเตือนมาสักระยะหนึ่งแล้ว"
เมื่อวานนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานได้ออกมาติดลบและลดลงมาสามเดือนติดต่อกันแล้ว ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์
ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐประจำเดือนพฤษภาคมมีกำหนดการรายงานในเวลา 8:30 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (12:30 GMT) ซึ่งเป็นดัชนีที่วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าจากผู้ผลิตและจึงเป็นดัชนีหลักที่บ่งบอกถึงอัตราเงินเฟ้อในราคาผู้บริโภค
นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่าดัชนี PPI ในเดือนพฤษภาคมจะสูงขึ้น 0.1% จากเดือนที่แล้วที่ลดลง 1.3%
2. ความหวาดหวั่นต่อการระบาดระลอกสองในสหรัฐ
เริ่มเกิดกระแสความหวาดหวั่นว่าการเร่งเปิดเศรษฐกิจในรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐจะส่งผลให้เกิดการระบาดซ้ำเป็นระลอกที่สอง และน่าจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักกว่าเดิมจากที่ย่ำแย่อยู่แล้วเป็นทุนเดิม
ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ดร. ฮานส์ คลูจ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ขั้นสูงขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนว่าการระบาดยังไม่ยุติลง และเวลานี้เป็น "เวลาของการเตรียมตัว ไม่ใช่เวลาของการเฉลิมฉลอง"
เมื่อวานนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จากรัฐเท็กซัสจำนวน 2,504 ราย ซึ่งเป็นยอดรายวันที่สูงสุดนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการระบาด ส่วนฟลอริดาก็พบผู้ป่วยรายใหม่ถึง 8,553 ในสัปดาห์นี้และเป็นตัวเลขรายสัปดาห์ที่สูงที่สุด ขณะที่แคลิฟอร์เนียก็มียอดผู้ป่วยปัจจุบันที่กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้เตือนเมื่อวานนี้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2020 จะหดตัวลง 7.6% หากมีการระบาดเกิดขึ้นซ้ำสอง แต่หากไม่มีการระบาดเกิดขึ้นซ้ำก็จะยังคงหดตัวลง 6%
3. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐรายสัปดาห์
ในวันนี้จะมีการรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ในเวลา 8:30 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (12:30 GMT) และคาดว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ประจำสัปดาห์จะเท่ากับ 1.55 ล้านราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ 1.87 ล้านราย
ส่วน อัตราการว่างงาน น่าจะยังคงสูงกว่า 13% เมื่ออ้างอิงจากรายงานล่าสุด ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง คาดว่าจะเกือบถึง 20 ล้านราย จากสัปดาห์ก่อน 21.5 ล้านราย
4. ตลาดหุ้นเตรียมเปิดตัวในแดนลบ, รอจับตากลุ่มหุ้นเทคโนโลยี
ตลาดหุ้นสหรัฐเตรียมปรับตัวลงฉับพลันหลังทัศนะของเฟดเป็นไปในแง่ลบ
เมื่อเวลา 6:30 น. (1030 GMT) สัญญาซื้อขายดัชนี Dow Jones 30 ล่วงหน้า ปรับตัวลง 496 จุดหรือ 1.8% สัญญาซื้อขายดัชนี S&P 500 ล่วงหน้า ขยับลง 1.5% และ สัญญาซื้อขายดัชนี Nasdaq 100 ล่วงหน้า ปรับตัวลง 1.1%
ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones และดัชนี S&P 500 ทำผลงานได้ย่ำแย่เมื่อคืนนี้ แต่ดัชนี Nasdaq Composite ปิดเหนือระดับ 10,000 เป็นครั้งแรก
แรงหนุนสำคัญของกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีส่วนหนึ่งมาจาก Apple (NASDAQ:AAPL) ซึ่งได้กลายเป็นสัปดาห์แรกที่บริษัทมีมูลค่าตามราคาตลาดถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
หุ้นที่น่าสนใจในวันนี้ได้แก่หุ้นผู้ผลิตซอฟต์แวร์กราฟฟิก Adobe (NASDAQ:ADBE) ซึ่งจะรายงานผลประกอบการในวันนี้ และจะเผยมุมมองเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ต่อธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งของบริษัทด้วย
5. ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐส่งสัญญาณอุปทานเกิน
ราคาน้ำมันยังปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐที่สูงขึ้นได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันเกินอีกครั้ง
สำนักงานสารสนเทศพลังงาน (EIA) ได้รายงาน ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์ที่แล้วสูงขึ้น 5.72 ล้านบาร์เรล ต่างจากที่ตลาดคาดไว้ว่าจะลดลงเล็กน้อย แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ รายงาน ของสถาบันปิโตรเลียมแห่งอเมริกา (API)
การลดกำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลกและการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ล้วนมีส่วนหนุนราคาน้ำมันขึ้นหลังจากที่ทรุดตัวลงต่ำกว่าศูนย์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อเดือนเมษายน แต่สถานการณ์ก็ยังน่ากังวลเนื่องจากหากราคาน้ำมันสูงกว่า $30 บาร์เรลก็อาจทำให้ผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีกและจึงส่งผลให้อุปทานน้ำมันเกินในที่สุด
เมื่อเวลา 6:30 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบสหรัฐ ขยับลง 2.8% เท่ากับ $38.48 ต่อบาร์เรล สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนท์ ติดลบ 2.7% เท่ากับ $40.62 ต่อบาร์เรล