Investing.com-- ภาวะเงินฝืดของจีนยังคงส่งผลกระทบ แม้ว่าข้อมูล GDP เมื่อเร็ว ๆ นี้จะแสดงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นบ้าง แต่แนวโน้มดังกล่าวก็ทำให้เกิดคำถามว่าราคาที่อ่อนแอในประเทศอาจลุกลามไปสู่เอเชียหรือไม่
อัตราเงินเฟ้อ CPI อ่อนตัวลงในเดือนมีนาคม ขณะที่เงินเฟ้อ PPI หดตัวมากกว่าที่คาดไว้ ตัวปรับลด GDP ซึ่งครอบคลุมราคาโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ ลดลง 1.04% ในไตรมาสแรก แม้ว่าโดยรวม GDP จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% ก็ตาม
สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามว่าภาวะเงินฝืดของจีนจะส่งผลกระทอบออกไปทั่วโลกหรือไม่
นักวิเคราะห์ของ BoFA กล่าวในบันทึกว่า ปัจจัยขับเคลื่อนภาวะเงินฝืดหลัก ๆ ของจีนคือการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกเย็นลงและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ผ่อนคลายลง
ผลกระทบของภาวะเงินฝืดบางส่วนได้ไหลไปยังยุโรปและเอเชีย แต่นักวิเคราะห์ของ BoFA กล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีผลกระทบเพียงจำกัดต่ออัตราเงินเฟ้อโดยรวมในภูมิภาค เนื่องจากสินค้าของจีนมีส่วนร่วมในการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนเพียงเล็กน้อย
นอกจากนี้ ประเทศเป้าหมายการส่งออกของจีนก็กำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อราคาบริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย
เอเชียก็ไม่เสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดของจีน
นักวิเคราะห์ของ BoFA ยังกล่าวอีกว่าภาวะเงินฝืดของจีนส่งผลกระทบอย่างจำกัดต่ออัตราเงินเฟ้อในเอเชีย แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ทางการค้าและทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้ชิดก็ตาม
การนำเข้าของจีนก็ถือเป็นเพียงส่วนน้อยของการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนในเอเชีย
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในเอเชียจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นผลมาจากราคาอาหารที่ปรับตัวลดลง ซึ่งจีนไม่ใช่ผู้ส่งออกรายใหญ่
ราคาพลังงานที่อ่อนตัวลงยังส่งผลต่อภาวะเงินฝืดในเอเชียอีกด้วย แม้ว่าสิ่งนี้จะเชื่อมโยงกับราคาน้ำมันโลกที่อ่อนตัวลงมากกว่าการส่งออกของจีนก็ตาม
นักวิเคราะห์ของ BoFA เสริมว่าโอกาสที่ภาวะเงินฝืดของจีนจะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ เช่น เหล็กและรถยนต์นั้นมีน้อยมากเช่นกัน เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศได้บดบังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากแผ่นดินใหญ่ได้เกือบหมด
นักวิเคราะห์ของ BoFA ใช้ฮ่องกงเป็นตัวอย่างสำคัญว่าทำไม่ภาวะเงินฝืดของจีนจึงไม่ส่งผลกระทบมากนัก โดยถึงแม้ว่าฮ่องกงจะมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจกับจีน แต่อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงก็ยังคงทรงตัวเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าแผ่นดินใหญ่จะต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดมาเกือบปีก็ตาม