สัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยภาคการผลิตในสหรัฐฯและยุโรปปรับตัวดีขึ้นเกิดคาด
ติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ตลาดคาดว่าจะย้ำแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงขยายตัวได้ดี และหากสอดคล้องกับมุมมองของประธานเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจทำให้ตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) และหนุนให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้
ภาพตลาดเปิดรับความเสี่ยงและบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นจะหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าได้ แต่เงินดอลลาร์จะไม่แข็งค่าไปมาก เพราะยังติดแนวต้านสำคัญแถวระดับ 30.30-30.40 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้ส่งออกจำนวนมากก็พร้อมเข้ามาขายเงินดอลลาร์ หากแข็งค่าใกล้ระดับดังกล่าว
กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 29.90-30.40 บาท/ดอลลาร์
มุมมองนโยบายการเงิน
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ในวันพุธ ตลาดคาดว่าจะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7-Day Repo) ที่ระดับ 1.25% เพื่อรอดูการฟื้นตัวเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ หลัง BOK ได้ลดดอกเบี้ยไปแล้ว 0.50% ในปีนี้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
ฝั่งสหรัฐฯ – วันอังคาร ตลาดมองว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (CB Consumer Confidence) จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 127.0จุด หนุนโดยความหวังข้อตกลงการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ วันพุธ ตลาดคาดว่ายอดสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) จะหดตัวราว 0.7% จากเดือนก่อนหน้า ชี้ว่าบริษัทเอกชนต่างชะลอการลงทุน และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการหยุดงานประท้วงของพนักงาน GM กับปัญหาการผลิตของBoeing อย่างไรก็ดี ตลาดคาดว่ายอดใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Spending) จะเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า ช่วยหนุนแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนสหรัฐฯ และแนวโน้มเศรษฐกิจ เพราะการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ฝั่งยุโรป – ตลาดคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (IFO Business climate) ที่จะรายงานในวันจันทร์จะปรับตัวขึ้นจากระดับ 94.6จุด สู่ระดับ 95.0 จุด มุมมองของภาคธุรกิจต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ชี้ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีอาจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนวันศุกร์ ตลาดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของยูโรโซนจะอยู่ที่ 0.8% ชี้ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อพยุงเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ
ฝั่งเอเชีย – วันพฤหัสฯ ตลาดคาดว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ญี่ปุ่นในเดือนตุลาคมจะหดตัว 4.0% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงผลกระทบจากการขึ้นภาษี (Sales Tax) ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ส่วนในวันศุกร์ ตลาดประเมินว่าเศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัว 4.7% จากปีก่อนหน้า หนุนโดยการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสที่ 2 ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่โตได้ 5.0%