Economic Highlight
ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลาง ทั้ง เฟด, BOE, BOJ และธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของบรรดาประเทศเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน
**ราคาทองคำ = Spot Gold price (XAUUSD)
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์ กดดันโดยการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงแรงของราคาทองคำ และแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทว่าเงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนบ้างจากแรงขายเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้เล่นในตลาดอย่างผู้ส่งออก
- สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดการเงินเสี่ยงผันผวนสูง ท่ามกลางผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟด BOE และ BOJ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก อย่าง รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน
- หาก เฟดลดดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณทยอยลดดอกเบี้ยในอัตราที่มากกว่าที่ผู้เล่นในตลาดประเมินไว้ เช่น เฟดมองว่าอาจลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีหน้า และจบรอบการลดดอกเบี้ยแถว 3.00% ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง หนุนทั้งราคาทองคำและเงินบาท
- ทั้งนี้ แนวโน้มเงินดอลลาร์จะขึ้นกับทิศทางบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY)
- ในกรณีที่ BOJ คงดอกเบี้ยตามคาด แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย อย่างที่ผู้เล่นในตลาดกำลังประเมินว่า BOJ อาจขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ก็อาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงต่อเนื่องทดสอบโซน 156-157 เยนต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก
- เรามองว่า ควรจับตาทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้ โดยการเคลื่อนไหวของเงินหยวนจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน ทั้ง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production)
- และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น เงินบาทจะยังคงได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบ โดยต้องติดตามประเด็นความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์และทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก
- เราประเมินว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ อาจไม่ได้ช่วยหนุนเงินบาทมากนัก หลังในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาทยอยขายสินทรัพย์ และแรงขายสินทรัพย์ไทยอาจดำเนินต่อไปได้บ้าง
- ในเชิงเทคนิคัล แม้ว่าสัญญาณจาก MACD ใน Time Frame รายวัน สำหรับ USDTHB จะยังคงสะท้อนแนวโน้มการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ทว่าสัญญาณจาก RSI และ Stochastic กลับชี้ว่า เงินบาทอาจชะลอการแข็งค่า และมีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง หรือ แกว่งตัว Sideways
- ส่วนสัญญาณจาก RSI Stochastic และ MACD ใน Time Frame H4 สะท้อนภาพไม่ต่างจาก Time Frame รายวัน โดยโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทมีกำลังมากขึ้น หลังเงินบาทได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า Stochastic เริ่มเข้าสู่โซน Overbought สะท้อนว่าการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงได้บ้าง
- ขณะที่สัญญาณจาก RSI Stochastic และ MACD ใน Time Frame H1 สะท้อนว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทอาจชะลอลงแถวโซนแนวต้าน 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว Sideways ก่อนที่จะเลือกทิศทางอย่างชัดเจน หลังรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
- โดยรวม เราประเมินว่า เงินบาทอาจกลับมาแกว่งตัว Sideways ในกรอบกว้าง และมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทผันผวนสูงพอสมควร ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงอย่างผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลาง ทั้งเฟด, BOE, BOJ และธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น
- ต้องจับตาว่า เงินบาทจะสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.20 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจนหรือไม่ (แนวต้านถัดไป 34.50 บาทต่อดอลลาร์) เพราะการอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว อาจทำให้แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาตามกลยุทธ์ Trend-Following เปลี่ยนแปลงไปได้ (กลับมาแกว่งตัว Sideways หรือทยอยอ่อนค่าลง) ส่วนโซนแนวรับแรกยังคงอยู่แถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีแนวรับถัดไป 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์
Gold Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงหนัก ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของ ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่น่ากังวลในช่วงนี้ ก็ลดความน่าสนใจในการถือครองทองคำเพิ่มเติม
- เรามองว่า ในระยะสั้น ราคาทองคำยังคงขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในส่วน Geopolitical Risk Premium (หรือ War Premium) หลังความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่ตะวันออกกลางรวมถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนดูคลี่คลายลงบ้าง ขณะเดียวกันแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ต่างก็เป็นปัจจัยที่ผู้เล่นในตลาดรับรู้ไปแล้วพอสมควร
- ทั้งนี้ สถานการณ์ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทำให้ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ทุกเมื่อ หากผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลความเสี่ยงดังกล่าว
- ในส่วนนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก นั้น เรามองว่า อาจต้องลุ้นคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ ที่อาจสะท้อนแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้บ้าง ซึ่งอาจช่วยหนุนราคาทองคำ หรืออย่างน้อยก็พยุงไม่ให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงหนัก
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณของทั้ง RSI และ MACD ใน Time Frame รายวัน สะท้อนว่า ราคาทองคำมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways ขณะที่ Stochastic สะท้อนความเสี่ยงราคาทองคำอาจย่อตัวลงได้บ้าง
- ในส่วน Time Frame H4 สัญญาณจากทั้ง RSI Stochastic และ MACD สะท้อนว่า โมเมนตัมการปรับตัวลงของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมายังคงมีกำลังอยู่ ทว่า Stochastic สะท้อนโอกาสที่ราคาทองคำอาจเริ่มแกว่งตัว Sideways แถวโซน 2,640-2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์
- ทั้งนี้ สัญญาณจาก RSI Stochastic และ MACD ของ Time Frame H1 สะท้อนว่า การปรับตัวลดลงของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา อาจชะลอลง เพิ่มโอกาสให้ ราคาทองคำแกว่งตัว Sideways
- โดยรวม เราประเมินว่า ราคาทองคำอาจแกว่งตัว Sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
- โซนแนวต้านของราคาทองคำจะอยู่แถว 2,675 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และโซนแนวต้านถัดไป แถว 2,725 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนโซนแนวรับจะอยู่แถว 2,625 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีแนวรับถัดไปในช่วง 2,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์