สกุลเงินยูโร EUR และตลาดหุ้นยุโรปร่วงลง จากความพ่ายแพ้ของมาครง
สกุลเงินยูโร EUR ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งเดือนหลังจากประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง เสนอให้มีการเลือกตั้งอย่างรวดเร็วหลังการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป ในขณะที่สกุลเงินเยนร่วงลงหลัง GDP ของญี่ปุ่นกลับมาติดลบอีกครั้ง ก่อนการประชุม BOJ ในวันศุกร์นี้
สกุลเงินยูโรร่วงลงถึง 0.5% พร้อมกับตลาดหุ้นฟิวเจอร์สของยุโรปและยังกดดันตลาดพันธบัตรฝรั่งเศส คาดว่าพรรคฝ่ายขวาจะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มาครงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติอย่างรวดเร็วในประเทศของเขา ในความพยายามที่จะหยุดยั้งการขึ้นสู่ตำแหน่งของมารีน เลอแปน ผู้ท้าชิงจากพรรคฝ่ายขวา
พรรคสังคมนิยมเดโมแครตของนายกรัฐมนตรีเยอรมัน โอลาฟ ชอลซ์ ประสบความพ่ายแพ้ครั้งประวัติศาสตร์ ในขณะที่พรรคฝ่ายขวาของนายกรัฐมนตรีจอร์จีย์ เมโลนี กำลังจะชนะการเลือกตั้งในอิตาลี
นักลงทุนอาจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความตั้งใจของเฟดที่จะผ่อนปรนนโยบายทางการเงินเมื่อผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐจะอัปเดตการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย หรือ Dot Plot ในคืนวันพุธ ในขณะที่การประกาศอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นในวันศุกร์ และนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะทางธนาคารกลางจะยังคงรักษาเสถียรภาพของนโยบายต่อไป หลังจากที่ GDP ของญี่ปุ่นออกมาติดลบอีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้สกุลเงินเยน JPY ร่วงลงเป็นอันดับที่ 2 รองจากสกุลเงินยูโร EUR ในวันนี้
สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นปรับเพิ่มการประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2567 โดยระบุว่า GDP ไตรมาส 1 หดตัวลง 1.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าการประเมินเบื้องต้นที่ระบุว่า GDP หดตัวลง 2%
ญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มการประเมินตัวเลขการใช้จ่ายประเภททุน (capital expenditure) ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนอุปสงค์ในภาคเอกชน โดยระบุว่าการใช้จ่ายประเภททุนในไตรมาส 1 ลดลงเพียง 0.4% ซึ่งดีกว่าการประเมินเบื้องต้นที่ระบุว่าลดลง 0.8% โดยการปรับเพิ่มการประเมินตัวเลขการใช้จ่ายประเภททุนถือเป็นปัจจัยสำคัญของการปรับเพิ่มการประเมินตัวเลข GDP ในไตรมาส 1
เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลข GDP ไตรมาส 1 หดตัวลง ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินเบื้องต้น
ส่วนการบริโภคในภาคเอกชนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น ลดลง 0.7% ในไตรมาส 1 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากการประเมินเบื้องต้น เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินของภาคครัวเรือน
นักลงทุนในตลาดการเงินมีความวิตกกังวลว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่นจะปรับตัวขึ้นอีก และกังวลว่าตลาดพันธบัตรญี่ปุ่นอาจเผชิญกับความผันผวน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นลงจำนวนมาก
BOJ ซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเพียง 4.5 ล้านล้านเยน (2.9 หมื่นล้านดอลลาร์) ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2556 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กว่าครึ่งหนึ่งคาดการณ์ว่า BOJ จะปรับลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นในการประชุมครั้งต่อไปซึ่งจะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 14 มิ.ย.นี้ และมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากขึ้นที่คาดการณ์ว่า BOJ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ค.
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีมีความผันผวนอย่างมาก โดยพุ่งแตะระดับสูงถึง 1.1% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงในเวลาต่อมา
เนื่องจากความผันผวนของตลาด คาดว่า BOJ อาจจะไม่ส่งสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการดำเนินนโยบายคุมเข้าด้านการเงินเชิงรุกในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่า BOJ จะเดินหน้าปรับลดการซื้อพันธบัตรในอนาคต ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แนะนำให้ BOJ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยป็นค่อยไป หลังจากที่ BOJ ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปีในการประชุมเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับแนะนำว่า BOJ ควรใช้กลยุทธ์การสื่อสารกับตลาดอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
สกุลเงินยูโร EUR ยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป
ดูเหมือนว่าตัวเลขการจ้างงาน Non-Farm Payrolls ของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นในวันศุกร์นั้นยังแย่ไม่พอสำหรับสกุลเงินยูโร EUR ในขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงสุดสัปดาห์ได้เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินยูโร EUR เข้าไปอีก ส่งยังคงกดดันสกุลเงินยูโรมาเรื่อยๆจนถึงในตอนนี้
แรงกดดันด้านลบนี้เกิดขึ้นจากความพ่ายแพ้อย่างราบคาบของประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีโชลซ์ของเยอรมนีต่อพรรคฝ่ายขวาในการเลือกตั้งของยุโรปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ได้ทำให้ประธานาธิบดีมาครงเรียกร้องให้มีการลงคะแนนเสียงสภานิติบัญญัติอย่างรวดเร็ว แผนของเขาในเรื่องนี้คือการพยายามรวบรวมเสียงสนับสนุนให้มากพอที่จะตอบโต้กลุ่มคู่แข่งของเขาอย่าง Marine Le Pen ซึ่งคาดว่าจะได้รับคะแนนเสียงประมาณ 32% และกลุ่มเรอเนซองส์ของ Macron คาดว่าจะได้รับคะแนนเสียงเพียง 15% เท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจคือตัวเลขเหล่านี้ค่อนข้างสอดคล้องกับผลการสำรวจ แต่สิ่งที่น่าตกใจไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่กลับเรียกร้องให้ Macron จัดให้มีการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ค่าเงิน EUR ร่วงลงมากที่สุดในบรรดาสกุลเงินหลักในวันนี้
นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประกาศยุบสภาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 มิ.ย.) พร้อมเดินหน้าเลือกตั้งใหม่ หลังจากพรรคพันธมิตรสายกลางของเขาพ่ายแพ้ให้กับพรรคเนชันแนลแรลลี (National Rally) ฝ่ายขวาจัดในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป
สำนักข่าว DW ของเยอรมนีรายงานว่า การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของฝรั่งเศสรอบแรกจะมีขึ้นในวันที่ 30 มิ.ย. และรอบสองในวันที่ 7 ก.ค.
ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนหน้าคูหาเลือกตั้ง หรือ เอ็กซิตโพล (Exit Poll) เมื่อวานนี้บ่งชี้ว่า พรรคเนชันแนลแรลลีได้รับคะแนนเสียงราว 32% ซึ่งมากกว่าคะแนนเสียงที่พรรคพันธมิตรฝ่ายสนับสนุนสหภาพยุโรป (EU) ของปธน.มาครงได้รับถึง 2 เท่า โดยได้ไปเพียง 15% เท่านั้น
นอกจากนี้ เอ็กซิตโพลยังแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายขวาจัดได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศสมาชิกอื่น ๆ ของ EU ในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป รวมถึงในเยอรมนีและออสเตรียด้วย
"ผมตัดสินใจที่จะให้คุณเป็นผู้กำหนดอนาคตของรัฐสภาของเราผ่านการลงคะแนนเสียง ดังนั้น ผมจึงขอประกาศยุบสภา" ปธน.มาครงแถลง
ปธน.มาครงกล่าวว่าผลการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป "ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีสำหรับพรรคการเมืองที่ปกป้องยุโรป"
"พรรคฝ่ายขวาจัด... กำลังคืบหน้าไปทั่วทั้งทวีป ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผมไม่อาจนิ่งเฉยได้" ปธน.มาครงกล่าว
"นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องทำให้กระจ่าง... ผมได้ยินสารของคุณ ความกังวลของคุณ และผมจะไม่ปล่อยให้เรื่องเหล่านี้ไร้คำตอบ" ปธน.มาครงกล่าว
"การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเรื่องจริงจังและยากลำบาก แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันคือการแสดงออกถึงความไว้วางใจ ไว้วางใจในตัวพวกคุณ พี่น้องร่วมชาติที่รักของผม" ปธน.มาครงกล่าว พร้อมย้ำว่าเขาไม่สามารถ "แสร้งทำเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้"
ปธน.มาครงสนับสนุนให้ประชาชน "ออกไปใช้สิทธิ์อย่างล้นหลาม" ในการเลือกตั้ง โดยกล่าวว่า "ฝรั่งเศสต้องการเสียงข้างมากที่ชัดเจน"
ด้านนางมารีน เลอ เปน ผู้นำพรรคเนชันแนลแรลลี แสดงความยินดีกับการประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ของปธน.มาครง
"เราพร้อมที่จะเข้ารับอำนาจ หากชาวฝรั่งเศสมอบความไว้วางใจให้เราในการเลือกตั้งระดับชาติที่กำลังจะมาถึง" นางเลอ เปน กล่าว
ทั้งนี้ ปธน.มาครงชนะการเลือกตั้งแบบสองรอบเหนือนางเลอ เปน แต่จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกหลังจากดำรงตำแหน่งครบสองสมัยแล้ว
การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งต่อไปคาดว่าจะมีขึ้นในปี 2570
อนึ่ง พรรคพันธมิตรสายกลางของปธน.มาครงสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาไป หลังการเลือกตั้งในเดือนมิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา
นายอเล็กซานเดอร์ เดอ ครู นายกรัฐมนตรีเบลเยียม ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.) ที่ผ่านมาว่า เขาจะลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ หลังพรรค Open VLD ของเขาทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวังในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ
"สำหรับพวกเรา คืนนี้เป็นค่ำคืนที่ยากลำบากเป็นพิเศษ พวกเราแพ้แล้ว และนับจากวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ผมจะเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์" นายเดอ ครู กล่าว พร้อมแสดงความยินดีกับผู้ชนะการเลือกตั้ง
พรรค Open VLD ของนายเดอ ครู ได้รับคะแนนเสียงเพียง 5.9% ในการเลือกตั้งระดับชาติ และ 8.1% ในการเลือกตั้งระดับภูมิภาคเท่านั้น
ผลการเลือกตั้งเบื้องต้นระบุว่า พรรค N-VA ยังคงครองอันดับหนึ่งในสภา ด้วยจำนวนที่นั่ง 24 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรค Reformist Movement (MR) ที่กวาดไปได้ 22 ที่นั่ง
พรรค MR คว้าชัยชนะแบบถล่มทลายทั้งในกรุงบรัสเซลส์และแคว้นวอลลูน (วอลโลเนีย) ด้วยคะแนนเสียง 26.1% และ 29.8% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ชาวเบลเยียมต่างออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ รัฐสภาภูมิภาค และสมาชิกสภายุโรปพร้อมกันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ปัญหาเศรษฐกิจ การอพยพ และความขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นข้อกังวลอันดับต้น ๆ สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสหภาพยุโรป (EU)
ผลการเลือกตั้งเบื้องต้นสำหรับการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 มิ.ย.) พบว่าพรรคชาตินิยมและพรรคที่ต่อต้าน EU ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น โดยพรรคเหล่านี้มุ่งรณรงค์เรื่องการปราบปรามผู้อพยพ ปัญหาเศรษฐกิจ และการยกเลิกนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผลสำรวจพบว่า การยกระดับเศรษฐกิจและการลดอัตราเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญมากที่สุด เมื่อถูกถามถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงคะแนนเสียง
การสำรวจความคิดเห็นพลเมือง 6,000 รายจาก 5 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของ EU ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และโปแลนด์ รวมถึงสวีเดน พบว่า ความขัดแย้งและสงครามระหว่างประเทศกลายเป็นข้อกังวลที่สำคัญที่สุดอันดับสอง รองลงมาคือปัญหาผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นข้อกังวลอันดับ 3 ในสวีเดนและสเปน เนื่องจากทั้งสองประเทศเผชิญกับภาวะภัยแล้งมานานหลายปี และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับฝรั่งเศส อิตาลี และโปแลนด์ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกล่าวว่า ความกังวลทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการลงคะแนนเสียง ขณะที่ฝรั่งเศสกังวลปัญหาเรื่องผู้อพยพมาเป็นอันดับ 2 ส่วนอิตาลีและสเปนกังวลเรื่องสงครามมาเป็นอันดับ 2
ส่วนในเยอรมนี ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ปัญหาผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัยเป็นข้อกังวลสูงสุด รองลงมาคือปัญหาสงคราม และปัญหาทางเศรษฐกิจ
พรรคภราดรอิตาลี (Brothers of Italy) สายอนุรักษนิยมสุดขั้วของนางจอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี โกยคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.) ผลักดันให้สถานะของนางเมโลนีแข็งแกร่งขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
หลังนับคะแนนไปแล้ว 96% พรรคภราดรอิตาลีได้รับคะแนนเสียง 28.8% ทะยานขึ้นจากคะแนนเสียงที่ได้รับในการเลือกตั้งสหภาพยุโรป (EU) ครั้งล่าสุดในปี 2562 ถึง 4 เท่า และเหนือกว่าคะแนนเสียง 26% ที่ได้รับในการเลือกตั้งระดับชาติปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่พรรคฯ ขึ้นสู่อำนาจ
"ดิฉันภูมิใจอย่างยิ่งที่อิตาลีจะได้ก้าวสู่เวทีโลกทั้งในกลุ่ม G7 และในยุโรปภายใต้รัฐบาลที่แข็งแกร่งที่สุด นี่คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแต่กำลังเกิดขึ้นจริงในยุคของเรา มันเป็นทั้งความพึงพอใจและเป็นความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง" นางเมโลนีกล่าวในเช้าวันจันทร์ (10 มิ.ย.) จากสำนักงานใหญ่ของพรรคฯ
ผลการเลือกตั้ง EU บ่งชี้ว่ารัฐบาลผสมของนางเมโลนี ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองตั้งแต่ฝ่ายกลางขวาไปจนถึงฝ่ายขวาจัด ต่างก็ได้รับอานิสงส์คะแนนนิยมพุ่งสูงกว่า 47% จากเดิมเพียงไม่ถึง 43% ในปี 2565
"ดิฉันภูมิใจที่พลังของคนส่วนใหญ่ที่ร่วมกันบริหารประเทศชาตินี้สามารถเติบโตไปด้วยกันได้ นับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งทั้งสำหรับดิฉันและพวกเราทุกคน สารจากชาวอิตาลีคือ ?จงก้าวต่อไป? และถ้าเป็นไปได้ จงก้าวไปอย่างเด็ดเดี่ยวยิ่งกว่าที่เคย" นางเมโลนีกล่าว
ทั้งนี้ พรรคของนางเมโลนีมีรากเหง้ามาจากกลุ่มนีโอฟาสซิสต์ และชัยชนะของพรรคฯ ในปี 2565 ส่งสัญญาณชัดถึงกระแสความนิยมฝ่ายขวาจัดที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วยุโรป กระแสนี้ชัดเจนมากขึ้นในการเลือกตั้ง EU ครั้งล่าสุดนี้ที่บ่งชี้ว่า ยุโรปกำลังเลี้ยวขวาเต็มตัว
อย่างไรก็ตาม นางเมโลนีได้ปรับภาพลักษณ์ของเธอในเวทีโลก โดยลดการใช้วาทกรรมต่อต้าน EU ที่เคยมีมาก่อน แล้วผันตัวมาเป็นสะพานเชื่อมระหว่างฝ่ายกลางขวาหลักกับค่ายอนุรักษนิยมชาติอิตาลีของเธอเอง
อนึ่ง ตัวเลขที่ทำให้ทุกพรรคต้องผิดหวังคือจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าอยู่ที่ต่ำกว่า 50% เล็กน้อย ถือเป็นสถิติต่ำสุดในอิตาลีที่เป็นประเทศที่มีประวัติการมีส่วนร่วมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในระดับสูง
ในขณะที่หากพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งของอังกฤษในเดือนหน้าจะถือเป็นสัญญาณบวกต่อสกุลเงินปอนด์ GBP แต่ไม่น่าจะสามารถฟื้นฟูความเสียหายจากการเบร็กซิต (Brexit) ได้
ชัยชนะของพรรคแรงงานจะส่งผลดีมากที่สุดกับเงินปอนด์ของอังกฤษ แม้พวกเขาจะเสียงแตกว่าการชนะอย่างขาดลอยหรือการชนะแบบสูสีแบบใดจะดีกว่ากัน ขณะที่การไม่มีพรรคใดคว้าที่นั่งในสภาได้เกินครึ่งหนึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
พรรคแรงงานของนายเคียร์ สตาร์เมอร์ ฉายแววจะชนะการเลือกตั้งแบบแลนสไลด์ จุดประกายความหวังในหมู่นักวิเคราะห์ของอังกฤษว่า รัฐบาลใหม่จะนำประเทศไปสู่เสถียรภาพและจัดการกับการเบร็กซิตที่เกินขอบเขตซึ่งฉุดรั้งสินทรัพย์ของอังกฤษมานานหลายปี โดยพรรคแรงงานให้คำมั่นว่าจะกระชับสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นอีกก้าวที่สามารถช่วยบรรเทาความขัดแย้งทางการค้าและกระตุ้นการเติบโตได้
อย่างไรก็ตาม สกุลเงินปอนด์ GBP ไม่น่าจะรอดพ้นจากผลเสียของการเบร็กซิตในเร็ว ๆ นี้ สกุลเงินปอนด์ GBP อาจจะใช้เวลามากกว่า 5 ปีกว่าจะเทรดที่ระดับประมาณ 1.50 ดอลลาร์/ปอนด์ ซึ่งเป็นระดับล่าสุดก่อนที่จะประกาศผลการลงมติเบร็กซิต
แต่หากพรรคแรงงานคว้าที่นั่งในสภาได้มากกว่าพรรคอนุรักษนิยมอย่างมาก จะเป็นสัญญาณถึงเสถียรภาพที่ดีขึ้นในอนาคต
ความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปมักจะไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับสกุลเงินยูโร EUR และ Scholz ของเยอรมนีก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และด้วยการเลือกตั้งที่กำลังจะถูกจัดขึ้นอย่างรวดเร็วโดย Macron ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 30 ที่กำลังจะถึงนี้นั้น ส่งผลให้สกุลเงินยูโร EUR ตกอยู่ในจุดที่ยากลำบาก ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง สิ่งต่างๆเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น และยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆที่จะส่งผลต่อค่าเงินยูโร EUR ตั้งแต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะเข้ามามีผลต่อสกุลเงินยูโรด้วยเช่นเดียวกัน และตลาดเริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อ ECB น้อยลง และด้วยการอ่อนค่าลงล่าสุดในวันนี้ที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในความเชื่อมั่นของเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สกุลเงินยูโร EUR เข้ามาอยู่ในจุดที่ยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ธนาคารกลางสหรัฐที่กำลังจะประกาศอัตราดอกเบี้ยในคืนวันพุธที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกับการประกาศดัชนี CPI หรืออัตราเงินเฟ้ออย่างเป็นทางการของสหรัฐ