Economic Highlight
ปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟด และรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของจีน ส่วนปัจจัยภายในที่สำคัญ คือ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย และรายงานยอดการส่งออก-นำเข้า
**ราคาทองคำ = สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.
FX Highlight
- สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง กดดันโดยแรงขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติและจังหวะการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดบ้าง
- เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ซึ่งต้องจับตาว่า เงินบาทจะสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน หรือ ไม่
- ขณะเดียวกัน หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากฝั่งผู้ประกอบการ ก็อาจลดทอนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ ทำให้เงินบาทยังมีแนวรับหลักแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์
- สัปดาห์นี้ เงินบาทอาจผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และราคาทองคำได้ ท่ามกลาง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟด ที่จะส่งผลต่อมุมมองผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด
- โดยเงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ส่วนประธานเฟดก็ย้ำจุดยืนใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นาน เพื่อคุมเงินเฟ้อให้สำเร็จ ซึ่งภาพดังกล่าว ก็อาจเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และการปรับฐานอีกครั้งของราคาทองคำ
- นอกจากปัจจัยดอกเบี้ยเฟด ควรระวังความผันผวนจากเงินหยวนจีน (CNY) ที่จะอ่อนไหวไปตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการล่าสุด
- ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ก็ยังมีความผันผวน ซึ่งต้องรอลุ้นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินไทย (กนง.) และรายงานยอดการส่งออก/นำเข้าของไทยล่าสุด
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า เงินบาทมีความเสี่ยงที่อาจผันผวนอ่อนค่าลงได้
- อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ Time Frame ที่สั้นลง เช่น H4 และ H1 สัญญาณจากทั้ง RSI และ MACD ชี้ว่า การอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา อาจเริ่มแผ่วลงบ้าง โดยต้องจับตาแนวต้านสำคัญโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซนแนวต้าน 35.60-35.70 บาทต่อดอลลาร์ เป็นโซนแนวต้านถัดไป ขณะที่ โซนแนวรับสำคัญ ยังคงเป็นโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์
Gold Highlight
- ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง มากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ ตามจังหวะการย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
- สัปดาห์นี้ มุมมองผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดและบรรยากาศในตลาดการเงิน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาทองคำ
- ราคาทองคำมีโอกาสผันผวนย่อตัวลงได้บ้าง ตามแรงขายทำกำไร และมีโอกาสปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น
- ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี S&P500 ได้ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านสำคัญ จะต้องจับตาใกล้ชิดว่า ดัชนี S&P500 จะย่อตัวลง หรือ ปรับตัวขึ้นต่อชัดเจน โดยภาพดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงิน และทิศทางราคาทองคำได้
- ในเชิงเทคนิคัล สัญญาณจาก RSI และ MACD (Time Frame รายวัน) ชี้ว่า โมเมนตัมการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำยังมีอยู่ หลังสัญญาณจาก MACD กลับมา Bullish มากขึ้น
- สำหรับ สัญญาณจาก Time Frame ที่สั้นลง อย่าง H4 และ H1 ชี้ว่า ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ แต่เริ่มติดโซนแนวต้านสำคัญ และเสี่ยงที่จะเกิดภาพ Divergence บน RSI ได้ โดยเฉพาะใน TF H4
- หลังจากที่ราคาทองคำสามารถยืนเหนือโซน 1,970-1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้เรามองว่า Trade Idea Long ทองคำ ที่เราได้แนะนำในช่วงก่อนหน้า ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะดังกล่าว สามารถขยับ Trailing Stop มายังโซนแนวรับ 1,985 ดอลลาร์ต่อออนซ์ พร้อมกับพิจารณาขายทำกำไรสถานะ Long ได้บ้าง และควรเตรียมเปิดสถานะ Short ทองคำ หากราคายังไม่สามารถผ่านโซนแนวต้านสำคัญไปได้ และเริ่มเห็นสัญญาณ Divergence โดยอาจตั้ง Stop loss สำหรับ สถานะ Short ไว้แถว 2,010-2,015 ดอลลาร์ต่อออนซ์