รับส่วนลด 40%
ใหม่! 💥 รับ ProPicks เพื่อดูกลยุทธ์ที่ให้ผลตอบแทน ชนะดัชนี S&P 500 มากกว่า 1,183% รับส่วนลด 40%

ค่าเงินบาทกำลังจะมุ่งไปที่ 35 เราจะไม่ได้เห็น 37 บาทอีกต่อไปแล้วหรือ?

เผยแพร่ 08/11/2566 08:37
อัพเดท 09/07/2566 17:32

THB is on the way to 35 & Good Bye 37 for now or forever?

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แม้ว่าตลาดการเงินจะยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางปัจจัยกดดันทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางดอกเบี้ยเฟด สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางและความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ทว่า เงินบาทก็สามารถแข็งค่าขึ้นกว่า +1.9% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำและแรงซื้อบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ หลังความกังวลเสถียรภาพการคลังของไทยทยอยลดลง

มุมมองเงินบาทของเราในเดือนก่อนหน้ากลับมาถูกต้องทั้งในส่วนการ Call จุดอ่อนค่าสุดของเงินบาทไม่เกิน 37.50 บาทต่อดอลลาร์ รวมถึง คำแนะนำ “SELL USD on RALLY” และทยอยสะสมสถานะ Long THB (Entry 37.00, Stop loss 37.50) ซึ่งปัจจุบัน Risk-Reward ratio คุ้มความเสี่ยงและสามารถทยอยขายทำกำไรได้ อย่างไรก็ดี เรากลับไม่ได้รู้สึกยินดีนักกับความถูกต้องดังกล่าว เนื่องจาก ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยส่วนใหญ่นั้นมาจากสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางที่หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง (ก่อนเกิดสงคราม เราประเมินไว้อยู่แล้วว่า ราคาทองคำมีโอกาสขึ้น จากข้อมูลเชิงสถิติเท่านั้น) นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากแรงซื้อบอนด์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ หลังความกังวลต่อเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลไทยทยอยคลี่คลายลง จากท่าทีของรัฐบาลที่พร้อมปรับมาตรการ Digital Wallet ให้เหมาะสมมากขึ้น และล่าสุด หลังรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ และดัชนี ISM PMI ที่ออกมาแย่กว่าคาด ผู้เล่นในตลาดก็มีการ “Repricing Higher for Longer” จริงตามที่เราได้ประเมินไว้ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นแตะโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้ 

สำหรับเดือนพฤศจิกายน เรามองว่า ในช่วงแรก การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะมั่นใจว่า เฟดจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้วจริง และนักลงทุนต่างชาติก็เริ่มกลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง จากนั้น เงินบาทก็พร้อมจะทยอยแข็งค่าขึ้นต่อ ซึ่งจะได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ ตาม ช่วง High Season ของการท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของการส่งออกที่ดีขึ้น ทำให้เราประเมินกรอบ 35.00-36.25 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงินที่อาจสูงขึ้น หากสถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงและบานปลาย (ดังที่เราได้วิเคราะห์ไว้ล่าสุด) ก็อาจส่งผลให้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง นอกจากนี้ หากผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลต่อแนวโน้ม Higher for Longer อีกครั้ง (ซึ่งต้องอาศัยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน) อาจทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง กดดันให้ เงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบแนวต้านได้ไม่ยาก และอีกปัจจัยสำคัญ ที่เรายังคงกังวลอยู่ คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอกว่าที่เราคาดหวัง และหากผู้เล่นในตลาดกังวลภาพเศรษฐกิจจีนมากขึ้น ก็อาจกดดันให้เงินหยวนจีนและสกุลเงินฝั่งเอเชียอ่อนค่าลงได้

ทั้งนี้ เรายังคงมีมุมมองว่า จุดอ่อนค่าสุดของเงินบาทอาจไม่เกินระดับ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ และไม่น่าจะเห็นระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ ในปีนี้ (ตามที่เราได้ประเมินไว้ ณ วันที่ 26 กันยายน) ดังนั้น เราจึงคงคำแนะนำ “SELL on RALLY” โดยผู้เล่นในตลาดควรอาศัยจังหวะที่เงินบาทผันผวนอ่อนค่าในการทยอยสะสมสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) หรือปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออก อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทได้อยู่ในช่วงผันผวนสูงกว่าปกติและสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้อาจผิดได้ไม่ยาก (เช่นที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน) ทำให้เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดก็ควรใช้กลยุทธ์ Options เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยง และนอกจากกลยุทธ์ Options ผู้ประกอบการก็อาจศึกษาการทำธุรกรรมบน Local Currency ของคู่ค้า เพื่อเป็นทางเลือกในการป้องกันความเสี่ยงได้

THB is on the way to 35…Good Bye 37 forever?

แม้ เรายังคงมองว่า เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้นได้ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงช่วงเดือนธันวาคม (คงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจแตะระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี) ทว่า เราได้ลองประเมินความเป็นไปได้ ของกรณีที่ เงินบาทอาจพลิกกลับไปอ่อนค่าทดสอบโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ หรือ อ่อนค่ามากกว่านั้น เนื่องจาก เราประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงต่อเนื่องและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ ซึ่งจากมุมมองของบรรดานักวิเคราะห์และผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ รวมถึง เฟด ต่างก็มองเพียงเศรษฐกิจชะลอลง โตต่ำกว่าเทรนด์ หรือ Soft Landing scenario ทำให้ Recession scenario อาจเป็น Tail-Risk ที่ต้องจับตามองและควรค่าแก่การประเมินความเสี่ยง 

จากการศึกษาข้อมูลในอดีตช่วงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2000 (*ข้อมูลอาจจะน้อยเกินไปได้ แต่เราถูกจำกัดด้วยข้อมูลค่าเงินบาท) เราพบว่า เงินบาทจะผันผวนอ่อนค่าลงในช่วงตลาดรับรู้ถึงความเสี่ยง Recession ซึ่งส่งผลให้ตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ในช่วงดังกล่าว (ระยะเวลา การอ่อนค่า หรือ ภาวะ Risk-Off จะขึ้นกับความรุนแรงของ Recession) โดยหากประเมินจาก มุมมองของเราที่คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะ Recession ในช่วงปลายไตรมาสแรก หรือ ต้นไตรมาสสองของปีหน้า (จาก Sahm’s Rule และการกลับตัวของ Near-term Forward Spread) ความเสี่ยง Recession ที่จะสูงขึ้นในช่วงดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ราว 5%-6% และเงินบาทจะทยอยอ่อนค่าลงในช่วง 2 เดือน ก่อนเข้าสู่ภาวะ Recession ทำให้ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับที่เราประเมินไว้ แถว 33-34 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงต้นปีหน้า เงินบาทก็อาจยังไม่อ่อนค่าแตะระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ ได้ (ทำให้ เรายังเชื่อในธีม Good Bye 37) อย่างไรก็ดี หากเงินบาทไม่ได้แข็งค่าตามที่เราประเมิน และอยู่เหนือระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงต้นปีหน้า เรามองว่า ก็มีโอกาสที่จะเห็นระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกครั้ง 

นี่คือโฆษณาของบุคคลที่สาม ไม่ใช่ข้อเสนอหรือคำแนะนำจาก Investing.com ดูการเปิดเผยข้อมูลที่นี่หรือ หรือลบโฆษณา

Fundamental Perspectives

ปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่า/ชะลอการอ่อนค่าในระยะสั้นนี้
1) “Hello! High Season Tourisms” โดยเดือนพฤศจิกายน จะเป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ช่วง High Season ของการท่องเที่ยวมากขึ้น (ซึ่งจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นปีหน้า) นอกจากนี้ เรามองว่า มาตรการฟรีวีซ่าของรัฐบาลก็อาจช่วยหนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น อย่างไรก็ดี เรายังคงติดตามยอดนักท่องเที่ยวจีน ที่ยังฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาด ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์การนิยมท่องเที่ยวในประเทศจีนมากขึ้น และนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนก็อาจเลือกไปเที่ยวเวียดนาม หรือ มีความกังวลด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้ประเมินว่า มาตรการฟรีวีซ่า อาจช่วยทำให้นักท่องเที่ยวจีน กลับมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นได้ราว 4 แสนราย และนอกเหนือจากสถานการณ์นักท่องเที่ยวจีน เรามองว่า สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตาม เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง แม้จะมีสัดส่วนราว 1% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ทว่า กลับเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูงกว่าค่าเฉลี่ยกว่า 70% (ราว 8.3 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป) ซึ่งหากสถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็อาจกระทบต่อการท่องเที่ยวจากภูมิภาคดังกล่าว และทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยลดลงได้ ซึ่งก็มีส่วนทำให้เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าพอสมควรอย่างที่เราประเมินไว้ จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่จะไม่ได้ดีมากดังคาด

2) “Ongoing Exports Recovery” โดยเราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทยที่ทยอยดีขึ้น ซึ่งล่าสุด ยอดการส่งออกของไทย สามารถขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน และมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งจะเป็นช่วง High Season ของการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ดี ภาพเศรษฐกิจคู่ค้าของไทย โดยเฉพาะจีน ที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก อย่างที่เราคาดหวัง ก็อาจทำให้ ยอดการส่งออกของไทยไม่ได้ขยายตัวได้ดีตามคาดได้ แต่โดยรวมเรายังคงมองว่า ดุลการค้าของไทยก็อาจยังคงเกินดุลอยู่ได้บ้าง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท 

3) “No More Higher for Longer” ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองคล้ายกับมุมมองของเรา คือ เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้มากกว่า (และเร็วกว่า) ที่เฟดได้ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดได้ปรับลดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟดลงมาพอสมควรแล้ว (เหลือราว 20%) พร้อมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้กว่า -1% ทำให้เรามองว่า หากตลาดการเงินจะมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน เพิ่มเติม มุมมองของผู้เล่นในตลาดต้องเปลี่ยนไปจากภาพล่าสุด พอสมควร ซึ่งอาจใช้เวลาได้ ทั้งนี้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือ อัตราเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะ Core CPI หรือ  Core PCE ชะลอลงมากขึ้น ก็อาจยิ่งทำให้ ผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทำให้ เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่จะไม่อ่อนค่าลงหนัก จนกว่าตลาดจะมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้เร็วขึ้นและลึกกว่าที่ตลาดประเมินไว้ล่าสุด โดยภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ หากตลาดเริ่มให้โอกาสเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น ซึ่งอาจต้องเห็น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ใกล้ “0” หรือ “ติดลบ” หรือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ ดัชนี PMI อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด (หมายถึง ภาวะหดตัว) พอสมควร (เราคาดว่า อาจเห็นภาพดังกล่าวได้ในช่วงปลายไตรมาสแรกของปีหน้า มากกว่าจะเห็นในเร็วๆ นี้)

4) “Some Foreign Fund Inflows” เราประเมินว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดบอนด์ไทยมากขึ้น หลังโอกาสเงินบาทอ่อนค่าหนักอย่างต่อเนื่อง ได้ลดลงไปมากแล้ว ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็ลดความกังวลต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทย อาจไม่ได้สูงมาก อย่างที่ ธปท. และบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินไว้ จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล อีกทั้ง มาตรการ Digital Wallet ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนพอสมควร เช่น ลดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ ปรับรูปแบบการใช้จ่าย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มคลายกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพการคลังของไทย หลังรัฐบาลเตรียมปรับมาตรการ Digital Wallet และหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วได้จริงแถวระดับ 5% ตามที่เราได้ประเมินไว้ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติก็อาจทยอยเข้ามาซื้อบอนด์ไทยมากขึ้นได้ (Month-to-Date นักลงทุนต่างชาติซื้อบอนด์ไทยสุทธิ ราว 1.2 หมื่นล้านบาท) 

แม้นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยเข้าซื้อบอนด์ไทยเพิ่มเติม แต่เรายังกังวลต่อแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทย โดยเรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่มั่นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโซนเอเชีย ตราบใดที่สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังไม่ชัดเจน ทว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเลือกลงทุน

ในหุ้นไทยบางส่วนที่รายงานผลประกอบการโดดเด่นและดีกว่าคาด รวมถึงรอจังหวะตลาดย่อตัวลง เพื่อเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มที่จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ กลุ่มค้าปลีกและท่องเที่ยว ทำให้ ทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไม่ได้ไหลเข้าต่อเนื่องชัดเจน แต่อาจผันผวน หากนักลงทุนต่างชาติ เน้นใช้กลยุทธ์ Buy on Dip and Sell on Rally ดังที่เราได้เห็นล่าสุด ว่า การรีบาวด์ของดัชนี SET ก็อาจยังเหมือนจะเป็นเพียง Technical Rebound และนักลงทุนต่างชาติก็ยังมีการทยอยขายหุ้นไทยออกมา พร้อมกับเริ่มกลับมาเพิ่มสถานะ Short Futures แต่หาก ดัชนี SET สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ชัดเจน ซึ่งต้องอาศัยบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงความเชื่อมั่นต่อภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ก็อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มสถานะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติมได้มากกว่าที่เราประเมินได้ 

ส่วนปัจจัยฝั่งอ่อนค่าที่อาจกดดันค่าเงินบาทได้ คือ
1) “Ongoing Israel-Hamas & Allies War” โดยสถานการณ์สงครามยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง หลังล่าสุด ทางการอิสราเอลยังคงโจมตีพื้นที่ฉนวนกาซา ซึ่งหากทางอิสราเอลได้เริ่มแผนปฎิบัติการภาคพื้นดินในพื้นที่ความขัดแย้งดังกล่าว ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงที่สถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น ทั้งนี้ เราคงย้ำมุมมองเดิม ตามที่ได้วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้า ว่า ตัวแปรสำคัญ ที่ต้องจับตาใกล้ชิด คือ ท่าทีของอิหร่านต่อสถานการณ์สงคราม โดยหากอิหร่านเข้ามามีส่วนร่วมต่อสงครามชัดเจน จนทำให้มีการตอบโต้อิหร่านจากฝั่งตะวันตก และนำไปสู่ การตอบโต้กลับจากฝั่งอิหร่าน อาทิ การลดกำลังการผลิตน้ำมัน หรือ ลดการส่งออกน้ำมัน และ การปิดช่องแคบฮอร์มุซ สถานการณ์ดังกล่าว ก็อาจทำให้ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นแรง พร้อมกับภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาด ซึ่งอาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ แต่เงินบาทอาจยังพอได้อานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

นี่คือโฆษณาของบุคคลที่สาม ไม่ใช่ข้อเสนอหรือคำแนะนำจาก Investing.com ดูการเปิดเผยข้อมูลที่นี่หรือ หรือลบโฆษณา

2) “Weaker-than-expected China & Europe” แม้ เราจะมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น แต่หาก เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจยุโรป กลับชะลอตัวลงมากกว่าคาด และแย่กว่าฝั่งสหรัฐฯ ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ เงินดอลลาร์สามารถปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้ (เงินดอลลาร์มักจะแข็งค่าขึ้น หากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังดูโดดเด่นกว่าเศรษฐกิจอื่นๆ หรือ ด้านบนขวา ของ Dollar Smile Curve) 

3) “Correction Phase for Gold” ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เราได้ประเมินว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ ทว่า แนวโน้มราคาทองคำปัจจุบัน เริ่มเห็นได้ชัดว่า โมเมนตัมการปรับตัวขึ้นได้แผ่วลงไปมาก เพิ่มความเสี่ยงที่ราคาทองคำอาจปรับตัวลดลงได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือ อย่างน้อยก็อาจแกว่งตัว sideway ทำให้ในบางช่วงที่ ราคาทองคำปรับฐานลง ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนที่จะกดดันให้ เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะส่งผลต่อราคาทองคำในระยะสั้น จะประกอบไปด้วย 1) ทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ซึ่งจะผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด และ 2) สถานการณ์สงคราม

Technical & Quantitative Perspectives

ในเชิงเทคนิคัล ในภาพ Time Frame รายสัปดาห์ (Weekly) สัญญาณจาก RSI และ MACD ชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้ และอาจแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หาก RSI ลดลงต่ำกว่า 50  ทั้งนี้ ต้องจับตาว่า เงินบาทจะสามารถแข็งค่าทะลุแนวรับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะการแข็งค่าค่าทะลุระดับดังกล่าวก็อาจเปิดทางให้เงินบาทยังสามารถแข็งค่าทดสอบโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

ส่วนใน Time Frame รายวัน (Daily) ทั้ง RSI และ MACD ยังคงสะท้อนว่าโมเมนตัมการแข็งค่ายังมีอยู่ แต่ในระยะสั้น เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้ชัดเจน สะท้อนผ่านแท่งเทียนที่แสดงถึงความลังเล และ RSI ก็เริ่มเข้าใกล้โซน Oversold ทำให้เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideway ได้ในระยะสั้น เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

อนึ่ง เราพบว่า การแข็งค่าขึ้นเร็วของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา อาจกระทบต่อการตัดสินใจของผู้เล่นในตลาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มปรับลดระดับในการทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ เพิ่มสถานะ Long THB ทำให้หากเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงบ้าง ก็อาจเผชิญแนวต้านแถวโซน 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ และจะมีโซนแนวต้าน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่อาจผ่านได้ยากพอสมควร

ในกรณีที่ เงินบาทสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จนต่ำกว่าระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเพิ่มสถานะ Long THB มากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทสามารถแข็งค่าต่อทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์

และที่น่าสนใจ เราได้ใช้ข้อมูลค่าเงินบาทย้อนหลัง 20 ปี ในช่วงเดือนพฤศจิกายน เพื่อทำ Monte Carlo Simulation (1,000 ครั้ง) เราพบว่า ค่าเงินบาทอาจอยู่ที่ระดับ 35.75+/-0.45 บาทต่อดอลลาร์ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 

Open Trade Ideas

1) Long THB (Old): Entry 37.00 Stop Loss 37.50
เรามองว่า Risk-Reward ปัจจุบัน คุ้มค่าความเสี่ยงพอสมควรแล้ว ทำให้ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะดังกล่าว ทยอยขายทำกำไรได้ หรือ หากเชื่อในมุมมองของเรา ก็อาจ Let Profits Run ต่อได้ และหากต้องการเพิ่มสถานะ Long THB เรามองว่า ควรเน้นรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง ใกล้โซนแนวต้านที่เราประเมิน

2) Long JPY (New): Entry 150-151 Stop Loss 153
เราคงมุมมองเดิมว่า ค่าเงินเยนญี่ปุ่นได้อ่อนค่าลงมาพอสมควร จนเรียกได้ว่า ระดับ Valuation ปัจจุบัน ถือว่า Undervalued ไปมาก นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นสัญญาณการเริ่มปรับนโยบายการเงินให้มีความผ่อนคลายน้อยลงของทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งหาก BOJ กลับมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้จริง ก็อาจหนุนให้ เงินเยนญี่ปุ่น ทยอยแข็งค่าขึ้นได้ และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า เงินเยนญี่ปุ่น ก็ยังได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว (ที่ฟื้นตัวดีกว่าไทย) และแรงซื้อหุ้นญี่ปุ่นจากนักลงทุนต่างชาติ

Risk Factors to keep eyes on

ปัจจัยความเสี่ยงที่ควรติดตามในเดือนนี้ (เรียงตามความสำคัญและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมากสุดไปน้อยสุด) จะประกอบไปด้วย

1) สถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสและพันธมิตรที่อาจทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น 

2) ความเสี่ยงเศรษฐกิจยุโรป และจีน ที่อาจชะลอตัวลงมากกว่าคาด

3) ตลาดกลับมาเชื่อใน Dot Plot ล่าสุดของเฟด หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด หรือ อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ พลิกกลับมาเพิ่มสูงขึ้น สวนคาดการณ์ของตลาด

นี่คือโฆษณาของบุคคลที่สาม ไม่ใช่ข้อเสนอหรือคำแนะนำจาก Investing.com ดูการเปิดเผยข้อมูลที่นี่หรือ หรือลบโฆษณา

4) การเข้าแทรกแซงค่าเงินของทางการญี่ปุ่น หากทางการญี่ปุ่นพิจารณาแล้วพบว่า เงินเยนอ่อนค่าและผันผวนหนัก

และ

5) สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจร้อนแรงขึ้น จนส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ และ ราคาแก๊สธรรมชาติ หลังสถานการณ์สงครามไม่ได้มีความคืบหน้ามาเป็นระยะเวลานาน  

ความคิดเห็นล่าสุด

ขอบคุณมากครับ^^
ขอบคุณมากครับ
การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย