สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่ได้ดำเนินมาเกือบ 2 สัปดาห์ และยังไม่มีทีท่าที่จะจบลงได้ง่าย ได้สร้างความสูญเสียอย่างประเมินค่ามิได้ ต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเราขอแสดงความเสียใจต่อผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และหวังว่า สถานการณ์สงครามจะคลี่คลายลงได้ในเร็ววัน เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่า เราจะคาดหวังว่า สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสและพันธมิตร Axis of Resistance (ที่มีเป้าหมายเหมือนกันคือ ต่อต้านการเข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่ตะวันออกกลางของสหรัฐฯ และพันธมิตรของสหรัฐฯ อาทิ อิสราเอลและซาอุฯ) จะยุติลงได้ในเร็ววันนี้ ทว่า สถานการณ์สงครามก็มีความเสี่ยงที่จะลุกลาม ขยายวงกว้าง จนอาจกลายเป็นความขัดแย้งในระดับภูมิภาคในระดับที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการก่อตั้งประเทศอิสราเอล เช่น สงคราม Yom-Kippur 1973 ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การประเมินความเป็นไปได้ของสถานการณ์สงครามและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จึงมีความสำคัญและเราจะพยายามวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยมี Framework สำหรับประเมินความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ซึ่งเรามองว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นความเสี่ยงที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
เนื่องจากในช่วงบทวิเคราะห์ถูกเผยแพร่ เรามองว่า ผู้อ่านอาจได้รับทราบข้อมูลเบื้องหลังหรือความเป็นมาของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสมาพอสมควรแล้ว ดังนั้น ในบทวิเคราะห์นี้ เราจะไม่ขอลงรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ทว่า เราอยากเน้นย้ำว่า ความขัดแย้งในพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังการจัดตั้งประเทศอิสราเอลในปี 1948แต่เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานนับพันปี ดังนั้น ในการจะวิเคราะห์สถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้น เรามองว่าควรทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคดังกล่าว เพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นไปได้ของการตัดสินใจของผู้มีส่วนร่วมในความขัดแย้งนั้นๆ โดยการทำความเข้าใจดังกล่าว ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Framework ในการประเมินและวิเคราะห์เความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ เหมือนกับที่เราได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ในปีที่แล้ว ทั้งนี้ ผู้อ่านท่านใดต้องการที่จะเข้าใจความเป็นมาของความขัดแย้งดังกล่าวเพิ่มเติม เราได้มีแหล่งข้อมูลแนะนำในส่วนท้ายของบทวิเคราะห์นี้
สำหรับ Framework ในการประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ที่เราใช้นั้นจะมีขั้นตอนดังนี้
สำหรับเหตุผลที่เราจะให้ความสนใจต่อผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบนั้น มาจากการที่เรามองว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีการพึ่งพาพลังงานในระดับที่สูง ดังจะเห็นได้จากการที่ ระดับอัตราการบริโภคพลังงานต่อ GDP หรือ Energy-Intensity ที่ทรงตัวในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา สวนทางกับแนวโน้มการปรับตัวลดลงของตัวเลขดังกล่าวในฝั่งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศในฝั่งอาเซียนด้วยกัน ดังนั้น ทิศทางของราคาน้ำมันดิบจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและแนวโน้มของเงินบาทได้ โดยจากการศึกษาข้อมูลในอดีตของเราพบว่า การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบสามารถส่งผลกระทบต่อดุลการค้าของไทย และเป็นอีกปัจจัยที่อาจกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวขึ้นแรงและอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน หรือ ในช่วงที่การส่งออกมีปัญหา
และนอกเหนือจากเหตุผลโครงสร้างพลังงานของประเทศไทย เรามองว่า สถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่กำลังร้อนแรงอยู่นั้น แม้ว่าคู่ขัดแย้งจะมิใช่ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันที่มีความสำคัญอย่างมีนัยสำคัญต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก ทว่า หากสงครามทวีความรุนแรงมากขึ้นและบานปลายจนนำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบได้อย่างมีนัยสำคัญโดยจากข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 1973 พบว่า สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญ (อาทิ ประเทศในกลุ่ม OPEC+) จะส่งผลให้ ราคาน้ำมันดิบสามารถพุ่งสูงขึ้นกว่า +100% โดยเฉลี่ย (Outlier คือ สงคราม Yom-Kippur 1973 ที่นำมาสู่ Oil Embargo ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นกว่า +279%) อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสนใจว่า หากความขัดแย้งจำกัดอยู่เพียงอิสราเอลกับปาเลสไตน์ (ในกรณีล่าสุด คือ กลุ่มฮามาส) พบว่า ความขัดแย้งดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบผันผวนสูงได้ในระยะสั้น
ดังนั้น ในการประเมิน Scenario ที่เป็นไปได้ของสถานการณ์สงคราม เราจะตั้งต้นจากตัวแปรที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบ ซึ่งในกรณี คือ ท่าทีของกลุ่มประเทศใน OPEC+ ซึ่งจากการศึกษาจากข้อมูลความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางในอดีตจนถึงปัจจุบัน เราพบว่า กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของนโยบายแบ่งแยกและปกครอง (Divide and Conquer/Rule) ในยุคล่าอาณานิคม จนถึงช่วงศตวรรษที่ 21 แต่ละประเทศอาจมีเป้าหมายในการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ คือ สหรัฐฯ รัสเซียและจีน ที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ หากพิจารณาจากขอบเขตของความขัดแย้งอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส (อ้างอิงการศึกษาโดย Independent Strategy) เราอาจแบ่ง Scenario ที่อาจเป็นไปได้ดังนี้