📈 คุณจะเริ่มลงทุนอย่างจริงจังในปี 2025 ไหม? เริ่มต้นก้าวแรกพร้อมรับส่วนลด 50% สำหรับสมาชิก InvestingProรับส่วนลด

ลุ้นเงินบาทจบรอบการอ่อนค่า หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของไทยมีความชัดเจนมากขึ้น

เผยแพร่ 09/08/2566 08:25
USD/THB
-
DX
-
THB/USD
-

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมเปิดรับความเสี่ยง โดยเฉพาะตลาดการเงินฝั่งเอเชียที่ได้แรงหนุนจากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนส่งสัญญาณพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจบการประชุม Politburo ทั้งนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วนั้น ได้หนุนให้สกุลเงินส่วนใหญ่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

มุมมองเงินบาท sideway ของเราในเดือนก่อนหน้าถูกเพียงครึ่งแรกของเดือนจนมาถึงจุดเปลี่ยน คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยเพียงอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนกรกฎาคม ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทแข็งค่าเร็วไป ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทำให้เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสกลับมาอ่อนค่าได้ (Call Bottom 33.75 บาท/ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม) หลังจากนั้น เงินบาทก็อ่อนค่าลง ตามแรงขายสินทรัพย์ไทยในช่วงตลาดกังวลความเสี่ยงการเมือง และการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด ทำให้ในเดือนกรกฎาคม เงินบาทมีการเคลื่อนไหว “sideway down” หรือทยอยแข็งค่าขึ้น 

อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม เงินดอลลาร์ได้กลับมาแข็งค่าขึ้นตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสหรัฐฯ ถูก Fitch Rating หั่นเครดิตเรทติ้งลงจากระดับ AAA เหลือ AA+ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ได้ย่อตัวลงมาบ้าง หลังยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ตลาดยังคงมั่นใจว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ซึ่งเรามองว่า ปัจจัยนโยบายการเงินของเฟดอาจมีผลต่อตลาดน้อยลง ขณะที่ การตอบรับของผู้เล่นในตลาดต่อรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน จะมีผลกับตลาดการเงินมากขึ้น และที่สำคัญ สถานการณ์การเมืองของไทย ก็อาจส่งผลต่อทิศทางฟันด์โฟลว์และค่าเงินบาทได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสำหรับเดือนสิงหาคม เรายังคงมองว่า เงินบาทอาจผันผวน Sideway ในกรอบกว้าง 34.25-35.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซนแนวต้านสำคัญแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับแรก ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าหลุดแนวรับดังกล่าว ก็อาจแข็งค่าขึ้นต่อสู่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดควรอาศัยจังหวะที่เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านในการทยอยสะสมสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) หรือปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออก

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่ามากกว่าที่เราคาดได้ ในกรณีที่ 1) ตลาดเริ่มคาดการณ์ เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด หรือ อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 2) ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงส่งผลให้เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อ และ 3) เงินหยวนจีน อ่อนค่าลงกว่าคาด หากตลาดผิดหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน และเชื่อว่า มาตรการดังกล่าวอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ สถานการณ์การเมืองไทยยังคงมีความวุ่นวายอยู่สูง ทำให้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าหรือแข็งค่าผิดไปจากที่เราคาดการณ์ได้ โดยเราประเมินว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลผสมมีความชัดเจนมากขึ้น บรรดานักลงทุนต่างชาติก็พร้อมกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทย ส่งผลให้ เงินบาทจะทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ แต่หากสถานการณ์การเมืองไทยยังมีความไม่แน่นอน เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังคงอยู่ในภาวะ wait and see และไม่รีบกลับเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทย

Fundamental Perspectives

ปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่า/ชะลอการอ่อนค่าในระยะสั้นนี้ จะประกอบไปด้วย
1) มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ส่งผลให้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจมีอยู่อย่างจำกัด หรือ เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงขายทำกำไรมากขึ้น โดยเรายังคงพบว่า ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างมีสถานะ Net Short เงินดอลลาร์อยู่พอสมควร ทำให้ผู้เล่นกลุ่มดังกล่าวที่มีมุมมองว่า เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะกลาง-ระยะยาว อาจรอจังหวะเงินดอลลาร์แข็งค่าในการเพิ่มสถานะ Short นอกจากนี้ ในเชิงเทคนิคัล เงินดอลลาร์ยังคงอยู่ในเทรนด์ขาลง หากพิจารณาจากดัชนี DXY หรือ แม้กระทั่ง Bloomberg DXY (BBDXY) ที่ทำ Lower High และ Lower Low 

2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน โดยเราคาดว่า หากทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ตลาดคาดหวัง เช่น ออกมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ เพิ่มเติม หรือมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่าย รวมถึง ออกมาตรการช่วยลดอัตราการว่างงานของวัยเริ่มทำงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 20% ร่วมกับ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารกลางจีน (PBOC) ก็อาจช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดกลับมามีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนมากขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกงอาจปรับตัวขึ้นต่อ ส่วนค่าเงินหยวนก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ ซึ่งตลาด EM อื่นๆ ก็อาจได้รับอานิสงส์จากภาพดังกล่าวเช่นกัน อนึ่ง ในจังหวะที่เงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากสถานการณ์การเมืองในไทย เรามองว่า เงินหยวน (CNYTHB) มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะเมื่อ CNYTHB ได้ปรับตัวขึ้นทะลุกรอบเทรนด์ขาลง ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะเงินหยวนแข็งค่าขึ้นในการทยอยขาย (Sell on Rally) หรือปิดความเสี่ยงสำหรับผู้ส่งออกที่มีรายรับเป็นเงินหยวน โดยจับตาโซนแนวต้านแถว 4.85-4.90 บาทต่อหยวน และแนวต้านสำคัญถัดไปที่ 5.00 บาทต่อหยวน ส่วนในฝั่งผู้นำเข้า เรายังคงแนะนำให้รอจังหวะ Buy on Dip เงินหยวน หากมีการปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 4.80 บาทต่อหยวน (เรามองว่า เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นกว่าเงินหยวนได้ชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4 หรือ เร็วกว่านั้น แต่ต้องลุ้นความชัดเจนการเมืองไทย)

3) ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยกลับเข้าตลาดเกิดใหม่ (EM) หากผลประกอบการโดยรวมออกมาดีกว่าคาด โดยสำหรับฤดูกาลรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 นั้น ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ได้ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวขึ้นได้ดี ส่วนในฝั่งตลาดหุ้น EM นั้น ฤดูกาลประกาศผลประกอบการนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น (ประกาศแล้วราว 34% ของ market cap. ดัชนี MSCI EM) ซึ่งผลกำไรส่วนใหญ่ก็ออกมาดีกว่าคาด (52% ของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี MSCI EM รายงานผลกำไรดีกว่าคาด) ดังนั้น เราจึงประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในฝั่งตลาดหุ้น EM มากขึ้น หากผลกำไรของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่ง EM ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เพราะภาพเศรษฐกิจฝั่ง EM ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังการเดินหน้าเปิดประเทศ นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาซื้อหุ้น EM มากขึ้นกว่า +4.1 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จากรายงานของ BofA Global Investment Strategy 

4) ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติพร้อมกลับเข้าตลาดทุนไทย หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเราเริ่มเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยที่ชะลอลง โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น ซึ่งอาจสะท้อนว่า นักลงทุนต่างชาติได้ลดความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทยลงบ้าง หลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมล่าสุด สะท้อนว่า นโยบายบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดทุนก็อาจไม่เกิดขึ้น ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจถูกพิจารณา หลังการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้น ซึ่งอาจส่งผลเชิงบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดทุน  เราจึงประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอทยอยเข้าซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น และแม้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลอาจยืดเยื้อ นักลงทุนต่างชาติก็อาจไม่ได้เทขายหุ้นไทยรุนแรงเหมือนในช่วงก่อนหน้า

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ เรามองว่า แรงขายบอนด์ โดยเฉพาะบอนด์ระยะสั้นอาจเริ่มชะลอลงมากขึ้น หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติได้เทขายหนักในช่วงที่ผ่าน ซึ่งสอดคล้องกับจังหวะเงินบาทอ่อนค่าเร็ว และเมื่อพิจารณาจากการทยอยเปิดสถานะ Long THB ของผู้เล่นต่างชาติในช่วงก่อนหน้าแถวโซน 35 บาทต่อดอลลาร์ และส่วนใหญ่ก็อาจวาง stop loss แถว 36 บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้น หากเงินบาทไม่ได้อ่อนค่ารุนแรง (ซึ่งอาจต้องเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นชัดเจนอีกรอบ เช่น ดัชนี DXY ปรับตัวขึ้นแตะ 105 จุด) เรามองว่า ผู้เล่นต่างชาติก็อาจรอทยอยเพิ่มสถานะ Long THB ในจังหวะเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจสะท้อนผ่านแรงซื้อบอนด์ระยะสั้นได้ 

ในส่วนของฟันด์โฟลว์บอนด์ระยะยาว เรามองว่า ในระยะสั้นที่ผ่านมา บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจเผชิญแรงกดดันบ้างจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังสหรัฐฯ ถูกปรับลดเครดิตเรทติ้ง แต่ทว่า ปัจจัยดังกล่าวก็ไม่น่าส่งผลกระทบให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ยกเว้นว่า เฟดจะส่งสัญญาณชัด เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ซึ่งเรามองว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวมีไม่มาก ดังนั้น แรงกดดันต่อบอนด์ยีลด์ไทย จากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจมีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ เนื่องจาก Risk-Reward มีความคุ้มค่ามากขึ้น ณ ระดับบอนด์ยีลด์สูงกว่า 4.00% ทำให้แรงกดดันต่อบอนด์ยีลด์ไทย อาจมาจากท่าทีของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าจะมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจน พร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่ ซึ่งเราประเมินว่า การส่งสัญญาณดังกล่าวอาจยังไม่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ หรือจนกว่า กนง. จะเห็นภาพความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่ปรับมุมมองต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยมากนัก ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะกลาง-ระยะยาว อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นมาก โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ และแม้ว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ สวนทางกับที่เราประเมินว่า กนง. ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว เรามองว่า ผลตอบแทนคาดหวังจากบอนด์ระยะกลาง-ระยะยาว ก็ดูจะคุ้มค่าความเสี่ยงที่ดูจะจำกัด หาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ยไม่เกิน 2.50% โดย Break-even yield (Yield/Duration) ยังเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากการปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวได้ ซึ่งอาจพอจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติทยอยซื้อบอนด์ไทยได้เช่นกัน 

ส่วนปัจจัยฝั่งอ่อนค่าที่อาจกดดันค่าเงินบาทได้ คือ
1) Still Low Season ของการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้ว่าเดือนสิงหาคมอาจเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่โดยรวมก็ยังเป็นช่วง Low Season ทำให้ เงินบาทอาจไม่ได้รับแรงหนุนมากนักจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ หากหวังพึ่งพาการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีน ก็อาจต้องรอไปอีกสักระยะ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนนั้นยังไม่ได้ดีมาก อีกทั้งจำนวนไฟลท์บินจากจีนก็ยังฟื้นตัวได้ช้า โดยจำนวนไฟลท์บินจากจีนเดือนกรกฎาคม คิดเป็น 51% ของระดับในเดือนกรกฎาคม ปี 2019 ซึ่งถือว่า น้อย เมื่อเทียบกับ ประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ (74%) เวียดนาม (65%) เกาหลีใต้ (59%) เป็นต้น อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า จำนวนไฟลท์บินจากจีน จะกลับมาใกล้ระดับก่อน COVID มากขึ้น ในช่วงไตรมาสที่ 4 หลังเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวดีขึ้น ตามการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ปัจจัยการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลับมาเป็นปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

2) ภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงต่อเนื่อง กดดันภาคการส่งออกไทย โดยเราประเมินว่า ยอดการส่งออกของไทย (Exports) อาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง และดุลการค้า (Trade Balance) ก็มีแนวโน้มขาดดุลอยู่ ตามความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในฝั่งประเทศพัฒนาแล้วและจีนที่ชะลอตัวลงตามภาพเศรษฐกิจ รวมถึงระดับสินค้าคงคลัง (Inventory) ของบรรดาประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน ที่แม้จะทยอยลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งภาพดังกล่าวก็สะท้อนผ่านการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของบรรดาประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น เรามองว่า ยอดการส่งออกของไทยก็อาจทยอยปรับตัวดีขึ้นและอาจเริ่มเห็นการขยายตัวของยอดการส่งออกได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะเป็นจังหวะที่ดุลการค้าก็อาจเริ่มกลับมาเกินดุลได้

3) ความวุ่นวายของการเมืองไทยที่ต้องเห็นการยกระดับความรุนแรงของการประท้วง โดยเรามองว่า แม้ว่าสถานการณ์การเมืองไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่เราประเมินว่า ผู้เล่นต่างชาติก็เริ่มมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น หลังรูปแบบการจัดตั้ง “ว่าที่” รัฐบาลผสมได้เปลี่ยนแปลงไป อย่างที่เราได้คาดการณ์ก่อนหน้า ดังนั้น หากมีการชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นจากผลการจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าว เรามองว่า การประท้วงดังกล่าวก็อาจไม่ได้มีความรุนแรง จนทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องกังวล จนกลับมาขายสินทรัพย์ไทยอีกครั้ง อย่างไรก็ดี หากการชุมนุมประท้วงทางการเมือง มีการยกระดับความรุนแรงขึ้น (ทั้งนี้ เรามองว่า โอกาสที่จะเกิดนั้นมีน้อยมาก) เราประเมินว่า ความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าว ก็อาจกดดันให้ นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสินทรัพย์ไทยอีกครั้งได้ จนกว่าจะเห็นสถานการณ์ทางการเมืองกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

Technical Perspectives

ในเชิงเทคนิคัล ในภาพ Time Frame รายสัปดาห์ (Weekly) สัญญาณจาก RSI และ MACD ชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideway หรือ อาจอ่อนค่าต่อได้บ้าง ซึ่งต้องจับตาว่า หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าต่อเนื่องทดสอบโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ โมเมนตัมการอ่อนค่าจะดีต่อเนื่องหรือไม่ เพราะหาก RSI ไม่ได้ปรับตัวขึ้นเกินระดับ 60 ก็อาจเป็นสัญญาณ Bearish Divergence ซึ่งอาจชี้ว่า การอ่อนค่าของเงินบาทใกล้จบลงแล้วได้ 

ส่วนใน Time Frame รายวัน (Daily) ทั้ง RSI และ MACD ต่างสะท้อนโอกาสเงินบาททยอยอ่อนค่าลง โดยโมเมนตัมการอ่อนค่ายังคงชัดเจนอยู่ ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เงินบาทจะสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ และหากอ่อนค่าต่อ ทำจุดอ่อนค่าสุดใหม่ (แถว 35.75 บาทต่อดอลลาร์) RSI จะสามารถปรับตัวขึ้นมากกว่า ระดับ 78 ได้หรือไม่ เพราะหากโมเมนตัมการอ่อนค่าแผ่วลง เงินบาทก็อาจยังไม่สามารถผ่านโซนแนวต้าน 35.75 บาทต่อดอลลาร์และจะเริ่มกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้น หรือ แกว่งตัว sideway ได้

ทั้งนี้ ในการประเมิน Valuation ของเงินบาทผ่านดัชนีค่าเงินบาท REER โดยหากพิจารณา Z-score ของดัชนีค่าเงินบาทล่าสุด จะพบว่า เงินบาทก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ slightly undervalued และหากเงินบาทอ่อนค่าต่อไปจนถึง 35.75 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะเป็นระดับที่เงินบาท undervalued พอสมควร ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า จุดอ่อนค่าสุดของเงินบาทจะยังอยู่ในโซน 35.75-36.00 บาทต่อดอลลาร์ (เราประเมินจุดอ่อนค่าสุด ดังกล่าว ในวันที่ 28 มิถุนายน)

อนึ่ง เราพบว่า บรรดาผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าใกล้โซนแนวต้านแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ เป็นต้นไป ส่วนผู้เล่นต่างชาติที่มีมุมมองเชิงบวกต่อค่าเงินบาทก็อาจรอทยอยเพิ่มสถานะ Long ในช่วงดังกล่าวเช่นกัน โดยอาจมีจุด Stop Loss แถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนในฝั่งผู้นำเข้าก็อาจรอให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าใกล้โซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้กรอบของเงินบาทก็อาจแกว่งในกรอบกว้างได้ในช่วงที่ตลาดเผชิญความผันผวนสูงในเดือนนี้

Risk Factors to keep eyes on

ปัจจัยความเสี่ยงที่ควรติดตามในเดือนนี้ (เรียงตามความสำคัญและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมากสุดไปน้อยสุด) จะประกอบไปด้วย

1) สถานการณ์การเมืองไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่

2) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งต้องติดตามว่าทางการจีนจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังจบการประชุม Politburo หรือไม่

3) มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ เฟด เนื่องจากปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดยังให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งของเฟด ราว 30% 

4) รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะฝั่งไทย รวมถึง ตลาดเกิดใหม่โซนเอเชีย (EM Asia)

และ

5) สงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังความวุ่นวายของการเมืองรัสเซียได้สงบลง ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสที่ทางการรัสเซียจะเริ่มกลับมาเดินหน้าแผนการบุกโจมตียูเครนต่อได้

 

ความคิดเห็นล่าสุด

กำลังโหลดบทความถัดไป...
การเปิดเผยความเสี่ยง: การซื้อขายตราสารทางการเงินและ/หรือเงินดิจิตอลจะมีความเสี่ยงสูงที่รวมถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียจำนวนเงินลงทุนของคุณบางส่วนหรือทั้งหมดและอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุนทั้งหมด ราคาของเงินดิจิตอลแปรปรวนอย่างมากและอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเงิน กฎหมายกำกับดูแล หรือ เหตุการณ์ทางการเมือง การซื้อขายด้วยมาร์จินทำให้ความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น
ก่อนการตัดสินใจซื้อขายตราสารทางการเงินหรือเงินดิจิตอล คุณควรตระหนักดีถึงความเสี่ยงและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดการเงิน ควรพิจารณาศึกษาอย่างรอบคอบในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน ระดับประสบการณ์ และ การยอมรับความเสี่ยงและแสวงหาคำแนะนำทางวิชาชีพหากจำเป็น
Fusion Media อยากเตือนความจำคุณว่าข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้ไม่ใช่แบบเรียลไทม์หรือเที่ยงตรงแม่นยำเสมอไป ข้อมูลและราคาที่แสดงไว้บนเว็บไซต์ไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากตลาดหรือตลาดหลักทรัพย์เสมอไปแต่อาจได้รับจากผู้ดูแลสภาพคล่องและดังนั้นราคาจึงอาจไม่เที่ยงตรงแม่นยำและอาจแตกต่างจากราคาจริงในตลาดซึ่งหมายความว่าราคานี้เป็นเพียงราคาชี้นำและไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการซื้อขาย Fusion Media และผู้ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้จะไม่รับผิดชอบใด ๆ สำหรับความเสียหายหรือการสูญเสียที่เป็นผลมาจากการซื้อขายของคุณหรือการพึ่งพาของคุณในข้อมูลที่มีในเว็บไซต์นี้
ห้ามใช้ จัดเก็บ ทำซ้ำ แสดงผล ดัดแปลง ส่งผ่าน หรือ แจกจ่ายข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้โดยไม่ได้รับการอนุญาตล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งแบบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Fusion Media และ/หรือจากผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้ข้อมูลที่มีอยู่ในเว็บไซต์นี้
Fusion Media อาจได้รับผลตอบแทนจากผู้โฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์โดยอิงจากปฏิสัมพันธ์ของคุณที่มีกับโฆษณาหรือผู้โฆษณา
เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของเอกสารฉบับนี้เป็นเวอร์ชั่นหลักซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่เหนือกว่าเมื่อใดก็ตามที่มีข้อขัดแย้งไม่สอดคล้องตรงกันระหว่างเอกสารเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษกับเอกสารเวอร์ชั่นภาษาไทย