ในเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมานั้น ตลาดการเงินฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด ก็มีส่วนช่วยหนุนบรรยากาศในตลาดการเงิน ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทเคลื่อนไหว Sideway Up ตามคาด เพราะแม้เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้าง แต่แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าก็มาจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และ โฟลว์จ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ
สำหรับเดือนพฤษภาคม เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวน Sideway Down (ทยอยแข็งค่าขึ้น) ในกรอบกว้าง 33. 50-34.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซนแนวต้านแรกแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน แถว 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ จะกลายมาเป็นโซนแนวต้านถัดไป ขณะที่โซนแนวรับสำคัญอาจอยู่ในช่วง 33.50 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ เงินบาทมีโอกาสแข็งค่ามากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ได้ หากบรรดานักลงทุนต่างชาติตอบรับในเชิงบวกต่อผลการเลือกตั้งและกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรณีดังกล่าว อาจเกิดขึ้นได้ หากผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ (Landslide Victory) ซึ่งเราประเมินว่าโอกาสเกิดมีไม่มาก ทั้งนี้ หากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลได้จำนวนเก้าอี้ผู้แทนฯ เกินกว่า 250 ที่นั่ง และประกาศจัดตั้งรัฐบาลผสม ในระยะสั้น ผู้เล่นต่างชาติก็อาจตอบรับในเชิงบวกได้ แต่เรามองว่า กรณีดังกล่าว อาจเผชิญความเสี่ยงที่ขาดการสนับสนุนจากวุฒิสภา ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะกลับมาเป็นประเด็นกดดันให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติมีความผันผวนมากขึ้นได้ เหมือนกับในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ
Fundamental Perspectives
ปัจจัยกดดันฝั่งแข็งค่าในระยะสั้นนี้ เรามองว่าจะมาจากปัจจัยการเมืองทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และของไทย
1) การเจรจาขยายเพดานหนี้อาจมีความยืดเยื้อและจะกลายเป็น Last Minute Deal ซึ่งถ้าเรายึดประมาณการของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ประเมินว่า ช่วงวันที่เงินคงคลังจะถูกใช้จนหมด หรือ X-date จะเป็นช่วงต้นเดือนมิถุนายน ทางรัฐบาลสหรัฐฯ และสภาคองเกรสจะต้องหาข้อสรุปเพื่อขยายเพดานหนี้ให้สำเร็จก่อนวันดังกล่าว ดังนั้น ความเสี่ยงปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ 3 และ 4 เนื่องจากการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และผู้นำสภาผู้แทนฯ พรรครีพับลิกัน ล่าสุด ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน และในอดีตที่ผ่านมา เราพบว่า ประเด็นเพดานหนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงที่ สภาคองเกรสขาดเอกภาพ เช่น พรรครีพับลิกันครองสภาผู้แทนฯ ส่วนพรรคเดโมแครตครองวุฒิสภา และการต่อรองทางการเมืองดังกล่าวจะหนักขึ้น ในปีที่จะมีการเลือกตั้งหรือก่อนการเลือกตั้ง (ซึ่งในปี 2024 สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งใหญ่) ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา สุดท้ายรัฐบาลและสภาคอสเกรสจะสามารถหาทางออกให้กับปัญหาเพดานหนี้ได้สำเร็จทันเวลา
จากสถิติในอดีตตั้งแต่ปี 2000 เราพบว่า เงินดอลลาร์มักจะอ่อนค่าลงโดยเฉลี่ย -1.4% (โอกาส 67%) ในช่วง 1 เดือน ก่อนมีการขยายเพดานหนี้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะขาดความเชื่อมั่นในการถือเงินดอลลาร์ หรือ สินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ความกังวลปัญหาเพดานหนี้ดังกล่าวจะทำให้ ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือ เงินเยนญี่ปุ่น (แข็งค่าขึ้น +2.3% โอกาส 80%) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ส่วนเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นเฉลี่ย +1.6% (โอกาส 80%)
2) ทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยหลังรับรู้ผลการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกรณีที่ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ได้จำนวนผู้แทนฯ รวมกันมากกว่า 250 ที่นั่งและประกาศจับมือจัดตั้งรัฐบาล โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลฟันด์โฟลว์หลังการเลือกตั้ง 5 ครั้ง ล่าสุด พบว่า นักลงทุนต่างชาติ มักจะกลับเข้ามาทยอยซื้อหุ้นไทยสุทธิต่อเนื่องในช่วง 1 เดือน หลังรับรู้ผลการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ เรามองว่า การปรับฐานของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หุ้นไทยมีความน่าสนใจมากขึ้นในเชิง Valuation โดย Forward P/E ล่าสุด อยู่ที่ 15.8x ซึ่งต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในเชิงเทคนิคัลยังเกิดสัญญาณการกลับตัว ทั้ง RSI Bullish Divergence และ Bullish Engulfing (หรืออาจจะมองเป็น Hammer ได้)
อย่างไรก็ดี ความมองว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจผันผวนได้ หากการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ราบรื่น เพราะปัจจัยสำคัญ คือ เสียงสนับสนุนจากวุฒิสภา ซึ่งเราคาดว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พรรคเดียว หรือ รัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ก็ไม่น่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภา
3) โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ โดยเราพบว่า ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านแถว 2,050-2,060 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในการทยอยขายทำกำไร ซึ่งราคาทองคำก็อาจได้แรงหนุนจากความกังวลปัญหาเพดานหนี้ได้ ดังจะเห็นได้จากสถิติในอดีตที่ราคาทองคำมักจะปรับตัวขึ้นได้ราว +1.6% อย่างไรก็ดี ควรจับตามุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด เพราะ หากผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า “เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยเร็วตามที่ตลาดคาด” ราคาทองคำก็อาจเผชิญแรงขายและย่อตัวลงได้
ส่วนปัจจัยฝั่งอ่อนค่าที่อาจกดดันค่าเงินบาทได้ คือ
1) โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผล โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม จะเป็นช่วงพีคของฤดูกาลจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุน ซึ่งเราประเมินว่า อาจมีโฟลว์ซื้อสกุลเงินต่างประเทศ เช่น เงินดอลลาร์ เหลืออีกไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท (ราว 650 ล้านดอลลาร์) เพื่อจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติในเดือนเมษายน โดยการจ่ายเงินปันผลจะมีเยอะพอสมควรในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน
2) Low Season ของการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะเดียวกัน เดือนพฤษภาคม ก็ถือว่า เป็นช่วงที่คนไทยมักจะไปเที่ยวต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในฝั่งเอเชียตะวันออก อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศแถบยุโรป ดังนั้น ในช่วงเดือนพฤษภาคม จึงทำให้ เงินบาทขาดปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน
3) โฟลว์ขายทำกำไรสถานะ Long สกุลเงินหลัก vs USD (เก็งกำไรว่าสกุลเงินหลักจะแข็งค่าขึ้น เทียบเงินดอลลาร์) ในช่วงที่ผ่านมา สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์ (GBP) ต่างปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) นอกจากนี้ สกุลเงินดังกล่าว ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นได้ดีของตลาดหุ้นยุโรป ซึ่งก็ได้ปัจจัยหนุนจากรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาดและข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้าที่ดีกว่าคาด แต่ล่าสุด เราประเมินว่า ปัจจัยหนุนสกุลเงินหลักดังกล่าว อาจเริ่มหมดไปโดย 1) ผู้เล่นในตลาดได้รับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของทั้ง ECB และ BOE ไปมากแล้ว 2) ตลาดหุ้นยุโรปได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้โซนแนวต้านสำคัญ ทำให้ upside จะมีอีกไม่มากในระยะสั้น และ 3) รายงานข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงหลัง เริ่มออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนผ่านการปรับตัวลดลงของดัชนีความ “เซอร์ไพรส์” ของข้อมูลเศรษฐกิจ (Citi Economic Surprise Index) นอกจากนี้ ในเชิงเทคนิคัล สกุลเงินหลักดังกล่าว ก็เริ่มติดโซนแนวต้านสำคัญ (GBP) หรือ ย่อตัวลงจากโซนแนวต้านสำคัญ (EUR)
Technical Perspectives
ในเชิงเทคนิคัล ทั้งสัญญาณจาก RSI และ MACD ชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideway down หรืออาจทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง โดยเราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับสำคัญแถว 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ในขณะที่การรีบาวด์ (กลับมาอ่อนค่าลง) ของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีลักษณะ Lower High Lower Low ทำให้โซนแนวต้านแรกของเงินบาทจะอยู่ในโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ และหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวก็อาจจะยังติดอยู่ในช่วง 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ หรือแนวต้านเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน ซึ่งเราพบว่า บรรดาผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าใกล้โซนแนวต้าน ทำให้โอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าต่อเนื่องนั้นเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก
Risk Factors to keep eyes on
ปัจจัยความเสี่ยงที่ควรติดตามในเดือนนี้
1) ภาพเศรษฐกิจฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยในส่วนของดอกเบี้ยเฟด จะขึ้นกับรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้
2) ความวุ่นวายของการเมืองสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นขยายเพดานหนี้ (Debt Ceiling)
3) ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งทั่วไปของไทย
4) ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
และ
5) สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงที่สภาพอากาศมีความอุ่นมากขึ้น และทหารยูเครนก็ได้รับการฝึกซ้อมใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการช่วยเหลือจากนานาประเทศมาแล้วพอสมควร โดยเฉพาะรถถังหลัก (MBT) ทำให้มีโอกาสที่ทางกองทัพยูเครนจะเปิดฉากบุกโจมตีเพื่อแย่งชิงพื้นที่กลับคืนมา (Counter Offensive Operation)