- สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ตลาดกลับมากังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวหนัก จนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
-
แนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟดอาจชัดเจนขึ้น จาก รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุด และควรติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ในสัปดาห์นี้
-
เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงต้นสัปดาห์ ตามยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด ก่อนจะเคลื่อนไหว sideways ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และรายงานการประชุมเฟดล่าสุด ส่วนค่าเงินบาท มีโอกาสอ่อนค่าเล็กน้อย หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจริงตามคาด ทั้งนี้ เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก โดยมีโซนแนวต้านแถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังคงเห็นโฟลว์ขายเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออก นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่อาจเริ่มกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยมากขึ้นได้ หากตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นช่วงใกล้วันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ทำให้โฟลว์ธุรกรรมในตลาดการเงินอาจเบาบางลงกว่าช่วงปกติได้
-
มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้
33.75-34.40 บาท/ดอลลาร์ -
ฝั่งสหรัฐฯ – แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะออกมาแย่กว่าคาด สร้างความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ดี ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่ออกมาดีกว่าคาดนั้น ได้สะท้อนภาวะตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ (จาก CME FedWatch Tool ตลาดให้โอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อราว 71%) ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนมีนาคม รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุดและถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในอนาคต โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงต่อเนื่อง +0.3%m/m หรือ +0.4%m/m สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI (ไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหาร) สอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาพลังงานและภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อ CPI และ Core CPI อาจยังคงอยู่ในระดับสูงราว 5.2% และ 5.6% ทำให้เรามองว่า เฟดก็ยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อจนแตะระดับ 5.25% ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ใน Dot Plot ล่าสุด นอกเหนือจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาพการบริโภคของครัวเรือน ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมีนาคม ซึ่งอาจยังคงหดตัวลงราว -0.4%m/m และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ในเดือนเมษายน ที่อาจทรงตัวที่ระดับ 62 จุด หนุนโดยความกังวลปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารที่คลี่คลายลง รวมถึงการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่ง แต่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจถูกกดดันบ้างจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว
-
ฝั่งยุโรป – บรรดานักลงทุนและนักวิเคราะห์อาจเริ่มคลายกังวลปัญหาระบบธนาคารยุโรปและเริ่มปรับลดมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนในอีก 6 เดือนข้างหน้า สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) เดือนเมษายน ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -10 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 0 หมายถึง มุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ) อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนอาจถูกกดดันโดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกุมภาพันธ์ ที่อาจพลิกกลับมาหดตัว -0.8%m/m (หรือคิดเป็น -3.5%y/y) ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงและต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นตามการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของทั้งสองธนาคารกลางหลัก
-
ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.50% หลังอัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่อง (ล่าสุด 4.2%) อีกทั้ง เศรษฐกิจก็เผชิญความเสี่ยงด้านลบมากขึ้น ตามแนวโน้มการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการผลิตของเกาหลีใต้ ส่วนในฝั่งจีน ตลาดประเมินว่า ยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนมีนาคม จะหดตัว -7.2%y/y สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิตล่าสุด โดย Caixin (ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจส่งออก) ที่ชะลอตัวลงมากขึ้น ตามภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ยอดการนำเข้า (Imports) อาจหดตัวราว -7%y/y โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงพอสมควรจากปีก่อนหน้า ขณะที่การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศยังช่วยหนุนยอดการนำเข้าอยู่
-
ฝั่งไทย – เราคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งได้แรงหนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการจ้างงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนภาคการบริการ จะช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนมีนาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53 จุด อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจยังคงเป็นภาวะเงินเฟ้อสูง
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก