ความผันผวนของ BTC ในเมื่อคืนนี้
BTC พุ่งขึ้นทะลุ 26,000 ดอลลาร์ ยืนเหนือ 900,000 บาท แตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนในเมื่อคืนนี้ โดยปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนคลายกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และวิกฤตการณ์จากการล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB
ทั้งนี้ ราคา BTC พุ่งขึ้น 10% สู่ระดับ 26,533 ดอลลาร์ในเมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2565
สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ. ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากเดือนม.ค. โดยบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการล่มสลายของ SVB หลังสหรัฐออกมาตรการคุ้มครองเงินฝาก และจัดตั้งโครงการ "Bank Term Funding Program" เพื่อสกัดวิกฤตการณ์ SVB ไม่ให้ลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ
นายเอ็ดเวิร์ด ยาร์เดนี ประธานบริษัทวิจัยยาร์เดนี ระบุว่า การล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB จะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้
"วิกฤตการณ์ของ SVB จะทำให้เฟดยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น และจะทำให้บอนด์ยีลด์แตะจุดสูงสุด ซึ่งหากเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย และเงินเฟ้อดีดกลับขึ้นมา เฟดก็สามารถกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้"
"แม้ว่าวิกฤต SVB ไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนแปลงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางของตลาดหุ้นในขณะนี้ แต่สิ่งนี้ก็ได้เพิ่มความไม่แน่นอนในตลาด จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหา และลดความตื่นตระหนกต่อระบบการเงินสหรัฐ" นายยาร์เดนีระบุในรายงาน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐยืนยันว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้กับ SVB จะสามารถเข้าถึงเงินฝากได้เต็มจำนวน ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศจัดตั้งโครงการ "Bank Term Funding Program" เพื่อปกป้องสถาบันการเงินอื่นๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB
ทั้งนี้ BTC เคยพุ่งขึ้นทะลุ 69,000 ดอลลาร์ในเดือนพ.ย.2564 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนที่จะทรุดตัวลงต่ำกว่าระดับ 20,000 ดอลลาร์ในเดือนมิ.ย.2565 ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับลดขนาดงบดุลจะฉุดสภาพคล่องในตลาด
ก่อนที่ BTC จะมีการย่อตัวลงมาที่ระดับ 24,000 ดอลลาร์ในเวลาต่อมา ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 80% ต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ แม้สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากเดือนม.ค. แต่ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้เพียง 0.25% แทนที่จะปรับขึ้น 0.50% ตามที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเฟดมีความกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงจะส่งผลกระทบต่อภาคธนาคาร ซึ่งกำลังเผชิญภาวะวิกฤตสภาพคล่องในขณะนี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 83.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. และให้น้ำหนัก 16.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.50-4.75%
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพ.ค. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในเดือนมิ.ย. และปรับลดอีก 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในเดือนก.ย.
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนก.พ.ในวันนี้
ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.0% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ 6.2% ในเดือนม.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.พ. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.5% ในเดือนม.ค.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.5% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ 5.6% ในเดือนม.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.4% ในเดือนม.ค.
จึงทำให้ทั้งราคาทองคำ และ BTC มีการย่อตัวกลับลงมาอีกครั้งในช่วงดึกของเมื่อคืนนี้ครับ