นักลงทุนในตลาดพันธบัตรกำลังอยู่ในจุดที่ตัดสินใจได้ยากเพราะเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะเติบโต แต่ก็ต้องเผชิญกับปัจจัยกดดันอย่างการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อกดเงินเฟ้อให้กลับลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางให้ได้ ในที่สุดสัปดาห์นี้กราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ10 ปีก็สามารถขึ้นยืนเหนือ 3.2% ได้สำเร็จเมื่อวันจันทร์ ในขณะที่กราฟอัตราผลตอบแทนฯ อายุ 2 ปีสามารถยืนเหนือ 3.1% และ 30 ปีสามารถยืนเหนือ 3.3%
ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงนี้ออกมาถือว่าพอใช้ได้ รายงานตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนพฤษภาคมปรับตัวขึ้น 0.7% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่นเดียวกันกับรายงานตัวเลขที่อยู่อาศัยที่ขายแล้วแต่รอการสร้างเสร็จในเดือนพฤษภาคมก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากปรับตัวลดลงมาเป็นเวลาหกเดือนติดต่อกัน
การแถลงของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อหน้าสภาคองเกรสเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ข้อสรุปว่าธนาคารกลางฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนกว่าการเติบโตของเงินเฟ้อจะถูกควบคุม แม้ว่าเขาจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ก็สามารถตีความได้ว่า จะขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะต้องเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม
หนึ่งในคนที่เข้าร่วมการแถลงกับเจอโรม พาวเวลล์ครั้งนี้คือนายเจมส์ บลูราร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์ หลุยส์ และยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ที่มีสิทธิ์โหวตให้ดำเนินนโยบายการเงินในปีนี้ ได้ให้ความเห็นต่อสภาว่าเศรษฐกิจอเมริกายังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าทางธนาคารกลางจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงไปแล้วสองครั้ง
ภาพรวมความเคลื่อนไหวของราคาทางเทคนิคสะท้อนให้เห็นความลังเลของนักลงทุนในตลาด ตอนนี้ระดับ 3% ได้กลายเป็นแนวรับใหม่สำหรับกราฟอัตราผลตอบแทนอายุ 10 ปีไปแล้ว หากปรับตัวลดลงต่ำจากนี้ ตลาดก็คงจะคลายความกังวลลงได้ แต่ถ้าสามารถขึ้นยืนเหนือ 3.5% ได้เมื่อไหร่ โอกาสที่จะปรับตัวขึ้นต่อไปจนถึง 4% จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การขึ้นยืนเหนือ 3% ได้ยังคงทำให้นักลงทุนทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างดุเดือดอยู่
ในขณะเดียวกัน คำว่า “นโยบายการเงินแบบแตกแยก” กำลังเป็นคำพูดติดปากของสื่อการเงินในยุโรปเมื่อพูดถึงตลาดพันธบัตรรัฐบาล สภาพเศรษฐกิจและสภาพหนี้ของแต่ละประเทศกำลังทำให้นโยบายการเงินของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศยูโรโซนแตกต่างกันออกไป จะเรียกได้ว่าแบ่งเป็นขั้วเหนือกับขั้วใต้เลยก็ไม่ผิดมากนัก
คริสตีน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) พูดชัดว่าธนาคารกลางฯ จะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ช่องว่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรฯ ของชาติสมาชิกห่างกันมากจนเกินไป แต่ในความเห็นของนักวิเคราะห์ การจะทำเช่นนั้นนอกจากจะทำให้การวางนโยบายการเงินในอนาคตยุ่งยากซับซ้อนขึ้น ยังจะเป็นการสร้างภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของสกุลเงินยูโรด้วย
ช่องว่างระหว่างอัตราผลตอบแทนที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษในตอนนี้คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันอายุ 10 ปี และของอิตาลีอายุ 10 ปีซึ่งห่างกันมากถึง 100 จุดเบสิส หรือ 1% เต็มภายในระยะเวลา 12 เดือนล่าสุด 0.50% ที่เพิ่มขึ้นมานั้นเริ่มเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สร้างความกังวลให้นักลงทุน เพราะวิกฤตหนี้ในยุโรปนั้นพึ่งจะจบลงไปไม่นาน ซึ่ง ECB ไม่ต้องการที่จะพูดถึงเรื่องนี้โดยตรง ทำแต่เพียงอ้างว่าประเทศสมาชิกที่เคยอ่อนแอในตอนนั้น ตอนนี้มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากพอที่จะทนกับเครื่องมือของ ECB ในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจตอนนี้ได้
ต้องยอมรับว่าตอนนี้นักลงทุนบางคนยังพอใจกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ธนาคารกลางซื้อพันธบัตรรัฐบาลอยู่ แต่เมื่อนำออกแล้ว พวกเขาก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยง ซึ่ง ECB ตระหนักแล้วว่าจำเป็นต้องทำ โลเรนโซ บินี่ สมากี้ อดีตสมาชิกบอร์ดบริหารของ ECB กระตุ้นให้ธนาคารกลางฯ ต้องมีความยืดหยุ่นมากกว่านี้และอย่ามัวมาเสียเวลากับการจำกัดศักยภาพของตัวเองให้ไม่เอาจริงกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
เขาให้ความเห็นว่าทุกวันนี้ ECB สร้างข้อจำกัดในการซื้อพันธบัตรของตนเองมากเกินไป และไปอ้างอิงการดำเนินนโยบายทำงานตามการจัดอันดับพันธบัตรโดยหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือในทวีปอเมริกาเหนือ ECB ยังมีเครื่องมืออย่างเช่นการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ของสถาบันการเงินเพื่อให้สินเชื่อ หรือการทำ QE ผ่านตลาดรอง (OMT) แม้ว่าการดำเนินนโยบายเช่นนี้จะทำให้รัฐบาลในยูโรโซนต้องเจอความท้าทายในการบริหารมากขึ้น แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายทำงานอย่างสอดคล้องกัน ก็ยังมีทางผ่านวิกฤตไปได้โดยไม่ต้องอ้างอิงกับมาตรวัดจากฝั่งอเมริกา