แม้ว่าเราจะได้ยินคำว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทุกวันนี้จนชินหูแล้ว แต่อันที่จริงประเด็นนี้ก็ยังไม่ถูกฟันธงว่าสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการแล้วหรือไม่ แต่ในขณะที่กำลังถกเถียงกันอยู่นี้ สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันก็คือความกังวลและความเป็นไปได้ต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นเพิ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้นแล้ว นักลงทุนที่ดีควรจะต้องเตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับตลาดน้ำมันดิบ
ความเห็นที่มีต่อคำว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” นั้นมีหลายรูปแบบ เจมี ไดมอน CEO ของธนาคารชื่อดังเจพีมอร์แกน มองว่ามีความเป้นไปได้ที่เศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นจริง หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ในความเห็นของเขามีโอกาสหนึ่งในสามส่วนที่จะเกิดเป็น “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบอ่อนๆ” ภายในช่วงหกถึงเก้าเดือนข้างหน้า แต่เขาก็ยอมรับว่ามีโอกาสที่ภาวะถดถอยอาจรุนแรงมากกว่าที่ประเมิน
อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ และนายอลัน ไบลด์เดอร์ ศาสตร์ตราจารย์จากปรินส์ตันเห็นว่ามีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยประมาณ 50%-60%
แม้จะมีการถกเถียงกันมากมายในปัจจุบันว่าราคาน้ำมันที่สูงนั้นเพิ่มโอกาสของภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างไร แต่กลับไม่ค่อยมีใครพูดถึงสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับราคาน้ำมันหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก นักเศรษฐศาสตร์ Kevin L. Klieson จากธนาคารกลางแห่งเซนต์หลุยส์เขียนไว้ในปี 2001 ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ๆ วัฏจักรของการหดตัวทางเศรษฐกิจไม่ได้เริ่มต้นจากราคาน้ำมันแพง ในช่วงสี่ไตรมาสก่อนการหดตัว ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1948-49, 1953-54, 1957-1958, 1960-61 และ 1969-70 ราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 1.5% โดยเฉลี่ยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 ราคาพลังงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 17.5% ก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ช่วงเวลานี้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเป็นหลัก เพื่อตอบสนองการเติบโตของความต้องการในผู้บริโภค นอกจากนี้ ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นยังเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของกลุ่มโอเปก (OPEC) กลุ่มผู้มีอิทธิพลที่สำคัญต่อราคาน้ำมันและตลาดน้ำมันในปัจจุบัน
ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมักถูกอ้างถึงว่าเป็นสาเหตุของภาวะถดถอย แต่ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องจริงๆ ต้องบอกว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาหรือปัจจัยสนับสนุนให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ง่าย ราคาน้ำมันไม่ใช่เพียงสาเหตุเดียวที่ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม โอเปกและผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่บางราย เช่น ซาอุดีอาระเบีย มักอ้างว่า ต้องหลีกเลี่ยงราคาน้ำมันที่สูง เพราะไม่อยากจะมีส่วนทำให้เกิดภาวะถดถอยทั่วโลก
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าที่นักลงทุนควรตั้งคำถามคือภาวะถดถอยส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างไร?
ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ภาวะถดถอยอาจทำให้ราคาน้ำมันลดลงค่อนข้างมาก ในช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 และ "ภาวะถดถอยครั้งใหญ่" ที่เกิดขึ้นหลังจากนนั้น ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจาก 134 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนมิถุนายน เป็น 39 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2009
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันไม่ได้อยู่ในสภาพเช่นนั้นนานนัก เพราะต่อมากลุ่มโอเปกก็ได้ลดการผลิตน้ำมันและรัฐบาลก็ได้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความกลัวเรื่องเงินเฟ้อส่งผลให้มีการซื้อสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น ดังนั้น หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาน้ำมันอาจปรับตัวลดลง เว้นแต่ว่าจะมีบางสิ่งที่หนุนให้ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูง เช่นในช่วงทศวรรษ 1970 ที่กลุ่มโอเปกสามารถกำหนดราคาน้ำมันได้
แต่วันนี้ OPEC ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดราคาโดยตรง หากเกิดภาวะถดถอยในตอนนี้ ราคาน้ำมันอาจลดลงเนื่องจากความต้องการน้ำมันลดลง โดยมีสาเหตุมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวและนักเก็งกำไรเริ่มกังวล
จนถึงตอนนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อสูง ราคาน้ำมันสูง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงต้นฤดูร้อนนี้หรือไม่ จากการสำรวจความต้องการเดินทางช่วงฤดูร้อนประจำปีของ GasBuddy พบว่า 58% ของชาวอเมริกันวางแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในฤดูร้อนนี้ ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันเบนซินจะสูงเป็นประวัติการณ์
แม้ผู้ตอบแบบสอบถามจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่หน้าปั๊ม แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็จะยึดตามแผนวันหยุดฤดูร้อนของพวกเขา ตามข้อมูลจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) ความต้องการน้ำมันเบนซินเริ่ม "แสดงสัญญาณที่ไม่เหมือนกันกับผลสำรวจ" เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
หากไม่นับรวมปี 2020 ความต้องการน้ำมันเบนซินตอนนี้อยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งปัจจุบันต่ำกว่าปีที่แล้ว 5% ข้อมูลนี้อาจบ่งชี้ว่าผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน แม้ว่าจะเร็วเกินไปที่จะบอกว่าสถานการณ์เช่นนี้จะยังคงเกิดขึ้นต่อไปจนถึงช่วงฤดูร้อนหรือไม่
ภาวะถดถอยในขณะนี้ หรือในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหลาย ๆ ด้าน อันที่จริงแล้ว เรายังคงอยู่ในช่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จากข้อจำกัดด้านการค้าและกิจกรรมทางสังคมต้องชะงักไปเกือบสองปีเพราะโรคระบาด แม้แต่การเดินทางทางอากาศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ถึงระดับเดียวกันกับปี 2019 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมดก็กำลังพยายามฟื้นตัวเองอย่างเร็วที่สุดอยู่
ภาวะถดถอยในขณะนี้จะชะลอการฟื้นตัวทางเศราฐกิจ และอาจกลายเป็นแผลเป็นใหม่ของการค้าระดับล่าง เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง การเคลื่อนไหวทั่วโลกน้อยลง และการผลิตมีไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ภาวะถดถอยส่วนใหญ่มีอายุสั้นและหลังจากนั้น จะเกิดการเร่งฟื้นตัวอย่างรุนแรง หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 เราก็ได้เห็นการฟื้นตัวแบบ V-shape มาแล้ว และราคาน้ำมันก็ฟื้นตัวกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
คำถามคือ การปรับตัวลดลงเล็กน้อยของราคาน้ำมันในตอนนี้คือการย่อเพื่อดีดตัวกลับขึ้นมาสูงกว่า 100 ดอลลาร์ในอนาคต หรือจะเป็นการปรับตัวลดลงกลับไปยังระดับ 80 ดอลลาร์ ที่เราคุ้นเคยกันดีในปีที่แล้ว นั่นคือความไม่แน่นอน และเป็นคำถามที่ใหญ่ที่สุด