โลกนิยม (Globalism) หรือที่บางคนจะเรียกว่าโลกาภิวัตน์ (ซึ่งความหมายต่างกัน) หมายถึงเศรษฐกิจแบบไร้พรมแดน การค้าเสรี ไม่กีดกันการค้า ส่งเสริมองค์กรระหว่างประเทศ ทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก อุดมการณ์นี้เชื่อว่าผู้คน สินค้า และข้อมูลควรข้ามพรมแดนของประเทศได้อย่างอิสระ โลกนิยมสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคม ที่อุทิศให้กับการค้าเสรีและการเข้าถึงตลาดอย่างเสรี โดยพื้นฐานแล้วมันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรียกว่า “ชาตินิยม”
อย่างไรก็ตาม โลกนิยมเป็นปัญหาที่ซับซ้อน บางคนตีความว่าเป็นการให้ผลประโยชน์ของคนทั้งโลกเหนือผลประโยชน์ของประเทศ อีกมุมมองหนึ่งคือ โลกทั้งใบเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับประเทศที่มีอำนาจเหนือประเทศใดประเทศหนึ่งในการสร้างอิทธิพลทางการเมือง เหตุการณ์ล่าสุดระหว่างรัสเซียยูเครนชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังมุ่งหน้าไปสู่รูปแบบโลกนิยม ที่แบ่งเป็นสองขั้วอำนาจหลัก มีระบบอุดมการณ์ที่แตกต่างกันสองระบบ กำลังแข่งขันกันเพื่อชิงตำแหน่งการวางระเบียบโลก
ในเวลาเดียวกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในตลาดการเงินหรือฟินเทคได้ก่อให้เกิดกลุ่มสินทรัพย์ใหม่ที่แข่งขันกับสกุลเงินที่ทำตามคำสั่งของรัฐ สกุลเงินดิจิทัลคือการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ที่มูลค่า โดยปฏิเสธการควบคุมหรือการช่วยเหลือของรัฐบาล สกุลเงินดิจิทัลคืนพลังเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนให้กับผู้ที่ซื้อและขาย มีความโปร่งใสพร้อมข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยี ที่เพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรม ปรับปรุงประสิทธิภาพ และรูปแบบการเก็บบันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
เทคโนโลยีทำให้โลกเล็กลง
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในสื่อทำให้เรามีตัวเลือกมากมายเกินกว่าจะนับไหว เป็นผลให้การสื่อสารมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด สมาร์ทโฟนที่เราพกติดตัวไปตอนนี้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารพบปะผู้คนทั่วโลก นอกจากจะเป็นตัวกลางสำหรับการติดต่อสื่อสาร พวกมันยังเป็นคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลัง ที่สามารถแทนที่กล้องถ่ายรูปและเครื่องคิดเลขได้ นอกจากนี้ผู้ใช้งานสามารถรับข้อมูลมากมายเพียงปลายนิ้วสัมผัสหรือผ่านคำสั่งเสียง โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์จะจดจำกิจกรรมของเรา ทำให้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อื่นๆ นำหน้าการค้นหาครั้งต่อไปของเราหนึ่งก้าว ความก้าวหน้าของ AI ทำให้ชีวิตของเรามีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่แลกกับความเป็นส่วนตัวน้อยลง
แม้ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 3 พันล้านคนในปี 1960 เป็นเกือบ 8 พันล้านในปี 2022 แต่ เทคโนโลยีกลับสามารถทำให้ข่าวที่เกิดขึ้นในยูเครน แพร่ออกสู่คนที่อยู่อีกฝากหนึ่งของโลกได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที เทคโนโลยีทุกวันนี้ทำให้สงครามระหว่างยูเครนเป็นที่ประจักษ์ต่อคนทั้งโลกแล้วว่าใครคือธรรมะ ใครคืออธรรม
น้อยคนนักที่จะกล้าบอกว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนไม่มีค่า
ในปี 2008 ซาโตชิ นากาโมโต้ บุคคลนิรนามได้เผยแพร่ไวท์เปเปอร์ที่มีชื่อว่า “Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System” การสร้างบิทคอยน์ของเขาขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่เก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบดิจิทัล
เทคโนโลยีบล็อคเชนถือกำเนิดขึ้นในปี 1991 เมื่อนักวิทยาศาสตร์นาม Stuart Haber และ W. Scott Stornetta พยายามหาวิธีแก้ปัญหาในการสร้างเอกสารดิจิทัลที่มีการประทับเวลา ที่ใช้งานได้จริง และไม่สามารถย้อนวันที่หรือดัดแปลงแก้ไขมูลเมื่อประทับตราเวลาลงไปแล้วได้ ซาโตชิจึงนำทฤษฎีนี้มาปรับใช้กับ บิทคอยน์ และเขาได้อ้างอิงงานของ Haber และ Stornetta ในไวท์เปเปอร์ของเขา ในนามของสิ่งที่เรียกว่า “บล็อกเชน” บล็แกเชนเก็บรักษาบันทึกธุรกรรมที่ปลอดภัย และกระจายอำนาจ รับประกันความเที่ยงตรงและความปลอดภัยของบันทึกข้อมูล จนสามารถสร้างความไว้ใจ โดยไม่ต้องใช้บุคคลที่สามมาเป็นบุคคลตัวกลางรับรู้ข้อมูลการทำธุรกรรมระหว่างคนสองคน
ความแตกต่างระหว่างฐานข้อมูลแบบดั้งเดิมและบล็อคเชนคือการจัดโครงสร้างของข้อมูล บล็อคเชนจะรวบรวมข้อมูลร่วมกันในกลุ่มหรือบล็อกที่มีชุดข้อมูล ตัวบล็อกมีความจุเฉพาะ เมื่อเต็มแล้ว มันจะถูกปิดและเชื่อมโยงกับบล็อคที่เต็มแล้วก่อนหน้านี้ สร้างโซ่เชื่อข้อมูลของทั้งสองบล็อก บล็อกเชนแบบกระจายอำนาจนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลภายใน หมายความว่าข้อมูลเมื่อป้อนแล้วไม่สามารถย้อนกลับได้ ในโลกคริปโตฯ ธุรกรรมจะถูกบันทึกอย่างถาวร แต่ยังสามารถดูข้อมูลบนบล็อกเชนได้ทุกคน ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เรียกอีกอย่างว่าเทคโนโลยีบัญชีแยกประเภท (DLT)
แม้ว่าสกุลเงินดิจิทัลจะทำให้เกิดความขัดแย้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถึงกระนั้น เกือบทุกคนเห็นพ้องกันว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เป็นรากฐานของคริปโตฯ นั้นเป็นการปฏิวัติระบบการเงิน และวิธ๊การเก็บข้อมูล ขับเคลื่อนการเงินและแอปพลิเคชันทางธุรกิจอื่นๆ ให้เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมากยิ่งกว่าเดิม
สงครามรัสเซียยูเครนแบ่งโลกออกเป็นสองขั้ว
ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินสำรองอันดับหนึ่งของโลก สกุลเงินสำรองถูกใช้โดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เพื่อการค้าและการถือครอง ค่าเงินดอลลาร์มีสถานะดังกล่าวเนื่องจากเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ต่อต้านสหรัฐฯ ในเชิงอุดมการณ์ มีความพยายามจะเปลี่ยนการครอบงำของเงินดอลลาร์ ซึ่งจีนพยายามจะใช้ทองคำเป็นสินทรัพย์สำรอง เนื่องจากประเทศจีนเป็นผู้ผลิตทองคำชั้นนำของโลกและพวกเขายังซื้อการผลิตทองคำในประเทศ เพื่อเติมคลังสำรองอีกด้วย
ทองคำเป็นสินทรัพย์สำรองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จีนยังพยายามทำให้หยวนเป็นสกุลเงินต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก รัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่อันดับสามของโลก ได้เพิ่มการถือครองทองคำด้วยการซื้อจากแหล่งผลิตภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงการถือครองสกุลเงินแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รัสเซียชอบที่จะถือเงินยูโรมากกว่าดอลลาร์
ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้พบกันในพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง พวกเขาตกลงกันด้วยการค้ามูลค่า 117 พันล้านดอลลาร์ แต่ที่สำคัญกว่านั้น พวกเขาจับมือกันในข้อตกลงความร่วมมือ "ไม่จำกัดเงื่อนไข" เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ยุโรป และพันธมิตรทั่วโลก
พันธมิตร "ไม่จำกัดเงื่อนไข" น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และอาจนำไปสู่การรวมประเทศระหว่างจีนและไต้หวัน พลังงานนิวเคลียร์ของโลกถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วที่ตรงกันข้าม จีน รัสเซีย อิหร่าน เกาหลีเหนือ อยู่ฝ่ายหนึ่ง สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย และพันธมิตรของพวกเขาอยู่อีกด้านหนึ่ง
บางประเทศที่ไม่ได้มีบทบาทในการเมืองโลกยังคงความเป็นกลาง แม้ฐานอำนาจโลกได้แยกทางไปตามแนวความคิดชาตินิยมและเสรีนิยม สงครามในยูเครนก่อให้เกิดภัยคุกคามโลกเสรีนิยมภายใต้ข้อตกลง "ไม่จำกัดเงื่อนไข" ของจีนและรัสเซีย การกรีฑาทัพเข้าตียูเครน แสดงให้เห็นว่ารัสเซียไม่กลัวการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และยุโรป เพราะประเมินแล้วว่ามีประสิทธิภาพน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับการเป็นพันธมิตรกับจีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจชั้นนำอันดับสองของโลก
อีกนานแค่ไหนกว่ามหาอำนาจจะมีสกุลเงินเป็นของตัวเอง
หากพูดถึงเรื่องการสร้างสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง ประเทศจีนเป็นประเทศที่ไปไกลที่สุด พวกเขาเชื่อว่าสกุลเงินหยวนสามารถกลายมาเป็นสกุลเงินสำรองของโลกได้ หากทำเรื่องนี้สำเร็จก่อนอเมริกา เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2022 จีนได้เปิดตัวหยวนดิจิทัลผ่านแอปมือถือ e-CNY ขยายพื้นที่การทดลองใช้ทั่วประเทศจีน แอพใหม่นี้อนุญาตให้ผู้ใช้ในสิบพื้นที่ รวมถึงเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ใช้สกุลเงินดิจิทัลได้
ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งประธานาธิบดีสรุปแผนการบริหารงานของเขาเพื่อ “รับประกันนวัตกรรมที่รับผิดชอบในสินทรัพย์ดิจิทัล” หนึ่งในความคิดริเริ่มคือ:
“การสร้างสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลางสหรัฐ (CBDC) ที่มีความเร่งด่วนในการวิจัยและพัฒนา ให้ได้ศักยภาพสูงสุด ควรถือว่าเป็นประโยชน์ของชาติ”
คำสั่งของโจ ไบเดนเน้นย้ำว่า:
“การทดลองใช้สกุลเงินดอลลาร์ดิจิทัลต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ และรับรองความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในระดับสากลเพื่อส่งเสริมการพัฒนา CBDC ที่สอดคล้องกับลำดับความสำคัญ และค่านิยมประชาธิปไตย”
อย่างไรก็ตาม ความจริงก็คือ สหรัฐฯ อยู่หากจากจีนมาในประเด็นนี้ จนสามารถพูดได้ว่าไม่มีทางเปิดตัวแซงสกุลเงินหยวนดิจิทัลได้ การเปลี่ยนไปสู่โลกาภิวัตน์ได้ทำให้จีนเป็นผู้นำในการสร้างสกุลเงินดิจิทัล
ทุกวันนี้มีสกุลเงินดิจิทัลตัวใดที่มีแววจะขึ้นมาเป็นสกุลเงินสำรองของโลกได้?
โลกนิยมที่แบ่งโลกออกมาเป็นสองขั้วอย่างจีน + รัสเซีย และสหรัฐฯ + ยุโรป สู้กับสกุลเงินดิจิทัลที่เป็นฝ่ายเสรีนิยมไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป การจับมือแท็คทีมกันสู้ของยักษ์ใหญ่นำมาซึ่งคำถามที่ว่าบิทคอยน์ อีเธอเรียมและสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นทางออกของโลกในวันที่สกุลเงินหลักอ่อนมูลค่าแล้วใช่หรือไม่
ถึงเรย์ ดาลิโอ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจะเคยกล่าวว่า รัฐบาลสามารถกำจัดสกุลเงินดิจิทัลได้ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ แต่ผมเชื่อว่าสกุลเงินดิจิทัลของจีนและสกุลเงินดิจิทัลของสหรัฐฯ จะจบลงด้วยการแย่งชิงอำนาจระหว่างกันและกัน ซึ่งนั่นอาจจะทำให้บทบาทนำของสกุลเงินดิจิทัลมีน้อยลง อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ศรัทธาในระบบรัฐบาลกำลังเสื่อมถอยลงทั่วโลก สกุลเงินดิจิทัลที่ไม่ผูกติดหรือยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลหรือระบบการเมืองใด ๆ มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมสำหรับบุคคลที่เข้าใจระบบกลไกการเงินของโลกใบนี้แล้ว