ช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นเวลาที่นักเก็งกำไรกำลังฉกฉวยโอกาสจากตลาดลงทุนอย่างแท้จริง พวกเขากำลังทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจากการทะยานขึ้นสร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบหลายปีของตลาดน้ำมันและทองคำ แม้ว่าจะสัปดาห์นี้จะมีการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา และตามด้วยการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินอเมริกา (FOMC) ในสัปดาห์หน้า แต่นักเก็งกำไรเหล่านี้ก็เชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งสองไม่อาจจะทำลายขาขึ้นของทองคำและน้ำมันในเวลานี้ได้ อาจกลายเป็นว่าตัวเลขเงินเฟ้ออาจจะช่วยหนุนขาขึ้นต่อเสียด้วยซ้ำ
ในขณะที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์สามารถขึ้นทดสอบจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 หรือยืนเหนือ $130 ต่อบาร์เรลได้แล้ว ในขณะที่ราคาทองคำกำลังวิ่งอยู่บนเส้นทางการกลับขึ้นไปทดสอบระดับราคา $2,000 อีกครั้ง สาเหตุของขาขึ้นครั้งนี้เชื่อว่าไม่ต้องบอกก็ทราบกันดีว่าเป็นเพราะไฟสงครามที่รัสเซียจุดให้ยูเครนยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ล่าสุดอเมริกาถึงกับกำลังพิจารณาแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียแล้ว
นอกจากทองคำและน้ำมัน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ก็พากันปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นทองแดง ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง กาแฟ ฯลฯ เจฟฟี่ ฮาลีย์ นักวิเคราะห์แพลตฟอร์มลงทุนออนไลน์ OANDA ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้ความเห็นว่า
“สถานการณ์ในตอนนี้ไม่ได้เป็นอะไรที่เข้าใจยาก ถ้าคุณกำลังผลิตในสิ่งที่โลกกำลังต้องการตอนนี้ แน่นอนว่าราคาของสิ่งนั้นย่อมแพงขึ้น และตอนนี้ทุกคนกำลังต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อเป็นหลักประกันป้องกันความเสี่ยง การเกิดสงครามยิ่งทำให้สินค้าเหล่านี้มีราคาแพงขึ้น จนตอนนี้ต่อให้ธนาคารกลางทั่วโลกจะมีมาตรการสกัดกั้นเงินเฟ้อที่รุนแรงแค่ไหน ก็อาจจะไม่สามารถทำอะไรได้ สิ่งที่ผมเป็นห่วงในตอนนี้คือโลกของเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่สภาวะ stagflation เร็วขึ้น และประเทศที่ยากจนหรือกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบมากที่สุด นั่นจึงทำให้ผมเชื่อว่ายุโรปและเอเชียอาจต้องคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปก่อน”
จากการวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ พวกเขามองว่าหากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไปอีก $20 ต่อบาร์เรลจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงจริงๆ โดยในยุโรปจะชะลอตัว 0.6% ในขณะที่อเมริกามีตัวเลขอยู่ที่ 0.3% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นมาแล้วตั้ง $50 ธนาคารยูบีเอสคาดการณ์ว่าถ้าราคาน้ำมันขึ้นอีก $10 ต่อบาร์เรล นั่นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีก 25-40 จุดเบสิส
การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15-16 มีนาคมนี้ตลาดเชื่อว่าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.50% แต่ถ้อยแถลงของเจอโรม พาวเวลล์ ที่มีต่อสภาในสัปดาห์ที่แล้วเขาเน้นชัดว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% เท่านั้น เพราะเจอโรม พาวเวลล์เชื่อว่าราคาน้ำมันที่กำลังวิ่งขึ้นมาในตอนนี้เป็นเพียงสถานการณืชั่วคราว และไม่กระทบต่อเงินเฟ้อในระยะยาว อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่าถ้าราคาน้ำมันยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง และเฟดก็มีความกังวลมากขึ้นในช่วงหลัง
ตัวเลขเงินเฟ้อในวันพฤหัสบดีนี้จะไม่ออกมาสวยแน่นอน
ตอนนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ที่จะรายงานในวันพฤหัสบดีนี้จะไม่ลดลงจนทำให้นักลงทุนตกใจได้อย่างแน่นอน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลข CPI ของเดือนที่แล้วจะออกมาอยู่ที่ 7.9% YoY ก่อนหน้านี้ตัวเลขของเดือนมกราคมแบบปีต่อปีของ CPI ก็ออกมาสูงถึง 7.5% ทะยานขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982
จากสถานการณ์ในตอนนี้เจอโรม พาวเวลล์ อาจจะต้องกังวลกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง ในโลกของการลงทุนมีคำหนึ่งกล่าวเอาไว้ว่า “วิธีที่จะทำให้ราคาที่อยู่สูงตกลงมา คือต้องยิ่งทำให้มันสูงขึ้นมากไปกว่าเดิม” ยิ่งในสถานการณ์ที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ ก็ยิ่งไม่มีเหตุผลให้ราคาน้ำมันสามารถปรับตัวลดลงมาเองตามธรรมชาติได้เลย สาเหตุที่เราเชื่อว่าราคาน้ำมันในอนาคตจะต้องปรับตัวขึ้นอีกมีสองประการ
1.) ปริมาณน้ำมันสำรองในคลังตอนนี้มีไม่พอเมื่อเทียบกับความต้องการน้ำมันทั่วโลกที่ 99 ล้านบาร์เรลต่อวัน (อ้างอิงจากข้อมูลปี 2019)
2.) ผู้ผลิตน้ำมันหลักรายอื่นๆ อย่างเช่นซาอุดิอาระเบียไม่ยอมหยุดขึ้นราคาน้ำมัน
แม้ว่าทั่วโลกจะกำลังเดือดร้อนจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อวันศุกร์ที่แล้วบริษัทผู้ผลิตน้ำมันประจำชาติของซาอุดิอาระเบีย “ซาอุดิ อารัมโก” (SE:2222) พึ่งออกมาประกาศปรับขึ้นราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP) ที่จะส่งไปขายยังฝั่งเอเชียด้วยราคา $4.95 ต่อบาร์เรล เมื่อวานนี้ราคาซื้อขายน้ำมันดิบเบรนท์ที่ตลาดลงทุนฝั่งเอเชียเคยทะยานขึ้นจนเกือบแตะ $131 ค่อบาร์เรลได้ เหลืออีกเพียง $17 เท่านั้นก็จะสามารถขึ้นทดสอบจุดสูงสุดตลอดกาลในปี 2008 ได้แล้วที่ $147.50
ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ประเมินว่าถ้าสหรัฐฯ จะแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย นั่นอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ทะยานขึ้นถึง $150 ต่อบาร์เรลได้ภายในอีกสามเดือนข้างหน้า และถ้าสถานการณ์จำลองนี้ดำเนินไปตลอดทั้งปี ภายในสิ้นปี 2022 เราจะได้เห็นเบรนท์ที่ $185 ต่อบาร์เรล ณ จุดๆ นั้นความต้องการน้ำมันจะพังทลายลงเนื่องจากไม่มีใครสามารถสู้ราคาน้ำมันไหว และจะทำให้การเดินทางไม่ว่าจะทางบก เรือ หรืออากาศกลายเป็นอัมพาต
ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เมื่อวานนี้ระบุว่าสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรกำลังหารือถึงความเป็นไปได้ในการแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย โดยยังไม่มีใครระบุรายละเอียดว่าจะมีกรอบระยะเวลาเท่าไหร่ หลายคนอาจจะส่งสัยว่าทำไมอเมริกาต้องหาเรื่องรัสเซียหนักขนาดนี้ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้มีชายแดนติดกันกับรัสเซีย คำตอบก็คือนอกจากบทบาทพี่ใหญ่แห่งกลุ่มนาโต้แล้ว รู้หรือไม่ว่าในปี 2021 รัสเซียส่งน้ำมันไปให้สหรัฐฯ 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือการส่งออกน้ำมัน 20% ของรัสเซียไปที่สหรัฐฯ เน้นๆ เพียงประเทศเดียว
ถ้าทำเนียบขาวตัดสินใจแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียจริง เราเตรียมเห็นราคาน้ำมันแกลลอนของอเมริกาปรับตัวขึ้นเกิน $4.50 ในสัปดาห์นี้ได้เลย นอกจากการส่งน้ำมัน 20% ไปยังอเมริกาแล้ว รัสเซียยังเป็นผู้ส่งน้ำมันไปให้ยุโรป 40% และที่อื่นๆ ทั่วโลกอีก 10%
จับตาดูพฤติกรรมราคาทางเทคนิคเอาไว้ด้วย
ถึงแม้ว่าปัจจัยพื้นฐานล้วนแล้วแต่บ่งชี้ไปที่เทรนด์ขาขึ้น แต่หากพิจารณาด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้ว จะเห็นว่าราคาน้ำมันทั้งเบรนท์และ WTI ต่างอยู่ในโซน overbought มากๆ แล้ว หัวหน้านักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคนาย Sunil Kumar Dixit จาก skcharting.com ให้ความเห็นว่า
“ในแต่วันที่ผ่านไป ขาขึ้นของตลาดน้ำมันถือว่ายิ่งอัตรายมากขึ้น เรามีโอกาสที่จะได้เห็นการถล่มลงมาของราคา ถ้าหากเกิดขึ้นจริง ให้พิจารณาแนวรับ $105-$95 เอาไว้ก่อน แต่ถ้าการถล่มของราคาน้ำมันเกิดที่บริเวณ $147 ให้พิจารณาแนวรับ $82-$67 ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลัก”
สถานการณ์ของตลาดทองคำนั้นใกล้เคียงกันกับน้ำมัน ที่มีการปรับตัวขึ้นตามความเสี่ยงของภัยสงคราม เมื่อวานนี้ในช่วงเวลาหนึ่งราคาทองคำสปอตสามารถขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ $2,000.95 ได้ ในขณะที่ราคาทองคำฟิวเจอร์สบนตลาด COMEX ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ $2,005 Sunil วิเคราะห์ตลาดทองคำเอาไว้สั้นๆ ว่า
“เมื่อไหร่ก็ตามที่ราคาทองคำสามารถยืนเหนือ $2,000 ได้อย่างมั่นคง เตรียมพิจารณาเป้าหมายราคาถัดไปที่ $2,034 เอาไว้ได้เลย”