การรุกรานยูเครนของรัสเซีย และการทะยานขึ้นยืนเหนือ $100 บาร์เรลของทั้งน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI สามารถเปลี่ยนภาพรวมของตลาดพลังงานทั้งหมดได้ภายในระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์
ด้วยภาพรวมตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในเชิงของราคาและการผลิต ทำให้เศรษฐกิจโลกที่พึ่งพาพลังงานเป็นหลักอยู่แล้ว ต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เชื่อว่าทุกวันนี้เราทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบของสงคราม และเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว อย่างเช่นราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ในฐานะนักลงทุนมีปัจจัยสำคัญสามประการที่ควรจับตา เพื่อจะได้ตอบสนองทันว่าตลาดลงทุนในทุกวันนี้มีแนวโน้มว่าจะวิ่งไปในทิศทางไหน
1. กลุ่ม OPEC+ จะตัดความสัมพันธ์กับรัสเซียเลยหรือไม่
ความร่วมมือของ OPEC กับรัสเซียและประเทศอื่นๆ ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพพอสมควร อันที่จริงความสัมพันธ์ของกลุ่มคงอยู่ได้ยาวนานกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดไว้ ประเทศผู้ผลิตในกลุ่มนี้ดูเหมือนจะทำงานร่วมกันได้ดีเป็นส่วนใหญ่ ทว่าในบรรยากาศทางการเมืองและไฟสงครามในปัจจุบัน ทำให้ทุกคนตั้งแต่ธุรกิจโรงพิมพ์ไปจนถึงรัฐบาล บริษัทด้านพลังงาน และสหพันธ์กีฬานานาชาติต่างก็ร่วมใจกันตัดความสัมพันธ์กับรัสเซีย
คำถามคือว่า OPEC จะถูกบีบให้ออกห่างจากรัสเซียด้วยหรือไม่ จริงอยู่ว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่โอเปกจะยอมจำนนต่อแรงกดดันจากโลกภายนอก เพราะโดยปกติแล้ว โอเปกจะไม่ปล่อยให้การเมืองหรือความรู้สึกส่วนบุคคลมาขวางทางเป้าประสงค์ที่ต้องการควบคุมตลาดน้ำมัน ปัจจุบัน รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สามอันดับแรกของโลก เป็นประเทศสำคัญของกลุ่ม OPEC+ เพียงแค่ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียรวมกันก็สามารถเป็าเจ้าแห่งอุปทานด้านพลังงาน ที่ทรงพลังที่สุดในตลาดได้
หาก OPEC ตัดสินใจว่าจำเป็นต้องแยกตัวออกจากรัสเซีย อิทธิพลของ OPEC ในตลาดพลังงานก็จะลดลงอย่างมาก ยิ่งกว่านั้น หากตัดสินใจทอดทิ้งรัสเซียไปแล้ว กลุ่ม OPEC อาจไม่มีวันดึงรัสเซียให้เข้าร่วมกลุ่มได้่อีก หากตัดความสัมพันธ์ในวันนี้
2. ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นจะกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำมันภายในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นหรือไม่
บริษัทผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาทั้ง ExxonMobil (NYSE:XOM) และ Chevron (NYSE:CVX) ประกาศออกมาในสัปดาห์นี้แล้วว่า พวกเขาไม่ได้วางแผนที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมันในอีกห้าปีข้างหน้า ถึงจะมีการประกาศเช่นนี้ แต่เพราะราคาพลังงานได้ทะยานแตะตัวเลขสามหลักแล้ว พวกเขาอาจเปลี่ยนการตัดสินนี้ได้ในอนาคต ไม่มีทางที่บริษัทยักษ์ใหญ่จะไม่ทำอะไรสักอย่างในวันที่ผู้บริโภคไม่มีกำลังที่จะซื้อพลังงานในราคาที่แพงหูฉี่ได้อีกต่อไป
จริงอยู่ว่าการประกาศของบริษัทเหล่านี้ดูเหมือนจะสวนทางกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น แต่ก็ทำให้พวกเขาสามารถรักษาราคาแนวโน้มขาขึ้นของหุ้นให้สูง และผลักดันให้ราคาสูงขึ้นต่อไปได้เรื่อยๆ บริษัทBarron's ชี้ให้เห็นในวันที่ 2 มีนาคมว่าหลังจากการประกาศของ ExxonMobil ราคาหุ้นของบริษัทก็ปรับตัวขึ้นทันที
อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันยังคงพุ่งสูงขึ้น จนพวกเขาได้กำไรจนพอใจแล้ว บริษัทเหล่านี้อาจจะหันมาเล่นในประเด็นของมนุษยธรรมมากขึ้น ยอมเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อลง ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นกำลังสร้างผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ผลิตรายย่อย และหากพวกเขายังมีส่วนแบบอ้อมๆ กับการทำให้ราคาพลังงานแพงเช่นนี้ ก็อาจจะไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกลาง และสัมปทานต่างๆ เนื่องจากการขาดแคลนเงินทุน ในมุมมองของรัฐบาล หากพวกเขาไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นหรือโน้มน้าวผู้ผลิตบางรายได้ ก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล
เป็นความจริงที่ว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นจะดึงดูดนักการนักลงทุนเกินกว่าจะมองข้าม นักลงทุนและผู้ให้กู้บางรายจะเข้ามามีบทบาท โดยให้ทุนกับอุตสาหกรรมและพวกเขาก็จะได้กำไรจากการเติบโตของอุตสาหกรรม สิ่งที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้คือปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นได้มากเพียงใด และการผลิตนั้นจะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดเมื่อไหร่
3. ตลาดพลังงานทางเลือกจะเป็นที่พูดถึงอย่างจริงจังมากขึ้น และการพูดถึงจุดสูงสุดของความต้องการพลังงานจะกลับมาเป็นประเด็นอีกหรือไม่
ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมากในช่วงทศวรรษแรกและครึ่งศตวรรษนี้ ด้วยสาเหตุดังกล่าว การลงทุนใหม่ในพลังงานทางเลือกและยานยนต์ไฟฟ้าจึงเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังนำไปสู่การถกเถียงและคาดการณ์สิ่งที่เรียกว่า "จุดสูงสุดของความต้องการพลังงาน"
ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และผู้บริโภคมีแรงจูงใจน้อยลงที่จะต้องกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันเบนซินหรือราคาสาธารณูปโภค อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง เราอาจได้เห็นผู้บริโภคกลับมาตั้งคำถามกับพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง สภาวะความไม่แน่นอนของตลาดพลังงานในปัจจุบัน จะยิ่งโน้มน้าวผู้บริโภคให้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในบ้านของพวกเขามากขึ้น
รัฐบาลทั่วโลก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาเหนือและยุโรป) กำลังควบคุมและออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกแล้ว และราคาน้ำมันที่ยืนเหนือ $100 บาร์เรลจะช่วยจูงใจผู้บริโภคให้หันมาสู่เส้นทางนี้เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ก่อนการระบาดของโควิด ความต้องการน้ำมันทั่วโลกเคยมีมากกว่า 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ว่าจะยังฟื้นตัวอยู่ แต่ขณะนี้ก็ยังคงอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังไม่ชัดเจนว่าราคาน้ำมันจะไปในทิศทางไหนต่อ
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าราคาน้ำมันในปีนี้จะสามารถแตะ 150 ดอลลาร์หรือ 170 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ หลังจากนั้นจึงจะได้เห็นอุปสงค์ลดลงเพราะสู้ราคาไม่ไหว อย่างไรก็ตาม หากราคายังคงอยู่ในระดับสูง ให้มองดูข่าวเจรจาด้านพลังงานรอบใหม่ ที่อาจมีการพูดถึงจุดสูงสุดของความต้องการพลังงาน หากประเด็นนี้ถูกพูดถึงบ่อยขึ้น ก็อาจจะกดดันราคาน้ำมันให้ปรับตัวลดลงมาได้บ้าง