- สัปดาห์ส่งท้ายปี 2021 ที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลปัญหาการระบาดของโอมิครอน
-
ควรติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls: NFP) ไปพร้อมกับการติดตาม สถานการณ์การระบาดของโอมิครอนทั่วโลก
-
ภาวะตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อาจกดดันเงินดอลลาร์ได้ แต่เรามองว่าเงินดอลลาร์ยังพอมีแรงหนุนอยู่หากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่งดีกว่าคาด จนทำให้ตลาดประเมินว่าเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว อาทิ ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคม ส่วนเงินบาทจะได้แรงหนุนในฝั่งแข็งค่าตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด (เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงและนักลงทุนต่างชาติเดินหน้าซื้อหุ้นไทย) แต่สถานการณ์การระบาดในประเทศ จะทำให้เงินบาทไม่สามารถแข็งค่าไปได้มากนัก ทั้งนี้ ต้องจับตาโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำย่อตัวลงจากแตะแนวต้านสำคัญ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
-
มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้
33.00-33.50 บาท/ดอลลาร์ -
ฝั่งสหรัฐฯ – แม้ว่า สถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในสหรัฐฯ จะพบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ทว่า โดยรวมข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงออกมาสะท้อนแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการจะสามารถขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการโดย ISM (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนธันวาคม ที่ระดับ 60.2 จุด และ 67 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นการฟื้นตัวของตลาดแรงงานซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ไม่มากนัก ดังจะเห็นได้จากการที่ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนธันวาคม อาจเพิ่มขึ้นแตะระดับ 4 แสนราย ดีขึ้นเกือบเท่าตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานก็จะลดลงเหลือ 4.1% อนึ่ง การฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดและอาจทำให้เฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วกว่าคาด หากเฟดประเมินว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะสามารถกลับสู่สภาวะก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 ได้เร็ว
-
ฝั่งยุโรป – ตลาดประเมินว่า ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในยุโรปอาจกดดันให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของยูโรโซน ในเดือนธันวาคม อาจหดตัวลงกว่า -0.5% จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนธันวาคม ที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ -9.0 จุด เช่นกัน ซึ่งภาพเศรษฐกิจยุโรปที่ชะลอตัวลงในระยะสั้นอาจกดดันให้ สกุลเงินยูโร (EUR) แกว่งตัวในกรอบ sideways ต่อในช่วงนี้
-
ฝั่งเอเชีย – ตลาดจะรอติดตามสถานการณ์การระบาดของโอมิครอน โดยเฉพาะในประเทศจีน หลังเริ่มมีการรายงานยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ การระบาดระลอกใหม่ในจีนอาจกดดันให้เศรษฐกิจชะลอลงได้ในระยะสั้น เนื่องจากทางการจีนยังคงใช้นโยบาย Zero COVID ทำให้ยังคงมีการใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด นอกจากนี้ จีนยังไม่ได้เริ่มใช้วัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรับมือการระบาดของโอมิครอน ทำให้สถานการณ์การระบาดในจีนอาจแตกต่างกับฝั่งประเทศพัฒนาแล้วที่เน้นใช้วัคซีน mRNA เป็นหลัก
-
ฝั่งไทย – ตลาดจะยังคงจับตาสถานการณ์การระบาดของโอมิครอน หลังยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นและอาจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องหลังเทศกาลปีใหม่ ซึ่ง เราประเมินว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่อาจไม่มากนัก หากรัฐบาลสามารถเร่งแจกจ่ายวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งข้อมูลงานวิจัยล่าสุดในต่างประเทศต่างชี้ว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยหนัก/เสียชีวิตได้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดประเมินว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยจะมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม เดือนธันวาคมที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51 จุด นอกจากนี้ ตลาดยังมองว่า แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวเศรษฐกิจจะช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) เดือนธันวาคม ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 49 จุด และที่สำคัญการทยอยฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ รวมถึงระดับราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูง จะช่วยหนุนให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนธันวาคม ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 2.8% ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากระดับฐานราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า และภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก