หากคิดว่าการพยายามรักษาสมดุลระหว่างงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจกับการสกัดกั้นการเติบโตของเงินเฟ้อในปี 2021 เป็นเรื่องยากแล้ว ในปี 2022 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงต้องเดินอยู่บนเส้นด้ายนี้ต่อไป และจะยิ่งท้าทายขึ้นเมื่อพวกเขาต้องเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดจะประกาศเลิกใช้คำว่า “เงินเฟ้อเป็นเรื่องชั่วคราว” แต่ท่าทีของเขาก็ยังไม่เปลี่ยน เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการนโนบายการเงิน (FOMC) ที่ยังคงมองว่ารอไปอีกสองสามเดือนก็ไม่เห็นเป็นอะไร
ถือเป็นเรื่องปกติทุกปีที่คณะกรรมการนโยบายการเงินจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมาดำรงตำแหน่ง และปี 2022 ก็ไม่มีข้อยกเว้น การสับเปลี่ยนหมุนเวียนตำแหน่งในคราวนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็พร้อมแล้วที่จะเสนอชื่อแต่งตั้งบอร์ดบริหารของเฟดสามคนขึ้นสู่ตำแหน่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน ตามที่ได้เคยประกาศไปเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
สิ่งที่โจ ไบเดนอยากได้จากธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปี 2022 คือคณะกรรมการที่มีความยึดมั่นกับกลไกตามหลักเศรษฐศาสตร์มากกว่าที่จะปล่อยให้ผ่อนคลายอย่างเช่นในสองปีที่ผ่านมา ดังนั้นคนแรกที่เขาอยากจะให้มีเก้าอี้อยู่ในกลุ่ม FOMC คือนางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานธนาคารกลางแห่งเคนซัสซิตี้ หากเทียบจากหนึ่งในสามคน เอสเธอร์ จอร์จ ถือเป็นคนที่ยึดหลักดำเนินการตามกลไกเศรษฐศาสตร์มากที่สุด จากอดีตการทำงานของเธอ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นแนวหน้าในการสนับสนุนให้ปรับนโยบายการเงินให้มีความตึงตัวมากขึ้นทุกครั้ง
คนที่สองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มีความศรัทธาในกลไกทางเศรษฐศาสตร์ไม่แพ้กับนางเอสเธอร์ จอร์จคือนายโทมัส โฮนิก ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการที่ Federal Deposit Insurance Corp. มายาวนานถึงยี่สิบปี เขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการดำเนินงานของเฟดกับ Politico ว่า
“ไม่มีทางเลือกใดที่จะไม่เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และแน่นอนว่าทุกตัวเลือกที่มีนั้นไม่ง่าย แต่เชื่อผมเถอะว่าเจ็บสั้นดีกว่าปวดยาว”
คนถัดมาที่อาจจะได้ขึ้นเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงินในปี 2022 คือเจมส์ บลูราร์ด ประธานธนาคารกลางสาขาเซนต์หลุยส์ เขาคือคนแรกๆ ที่ออกมาเรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ให้รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถ้าเป็นไปได้ เขาอยากให้เริ่มเร็วที่สุดคือในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ นอกจากนี้ก็จะมีนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสาขาคลีฟแลนด์ฺ ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ FOMC
หากนับกันตามรอบแล้ว อีกหนึ่งตำแหน่งที่ควรจะได้ขึ้นมาเป็น FOMC ในปีนี้คือประธานธนาคารกลางสาขาบอสตัน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นของนายอีริค โรเซนเก้น แต่หากยังจำกันได้ ปีที่แล้วเขาถูกปลดออกไปเนื่องจากข่าวฉาวที่ไปลงทุนในตลาดหุ้น สำหรับตอนนี้ตำแหน่งนี้ยังถือว่าว่างอยู่ ดังนั้นนายแพททริก ฮาร์กเกอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดียเฟียจะได้ขึ้นมาเป็นตัวเลือกแทนชั่วคราว ก่อนที่ธนาคารในบอสตันจะเลือกผู้ดำรงตำแหน่งคนใหม่ได้
สำหรับขั้นตอนของการเลือกประธานธนาคารกลางประจำภูมิภาคนั้นจะไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภา แต่จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการผู้ว่าการวอชิงตัน ผู้เชียวชาญคาดการณ์กันว่าภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ มีโอกาสที่ผู้ขึ้นมารับตำแหน่งคนใหม่จะไม่ใช่ชายผิวขาว และชื่อของประธานคณะกรรมการ คริสตินา แพกซ์สัน ซึ่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยบราวน์ ถูกนำมาผูกโยงกับตำแหน่งประธานธนาคารกลางสาขาบอสตันมากที่สุด
อันที่จริงต้องถือว่าตอนนี้ความเป็นไปได้ยังเปิดกว้าง นอกจากรายชื่อที่ถูกกล่าวถึงมาทั้งหมด ยังมีนายริชาร์ด คอร์เดรย์ อดีตอัยการสูงสุดของรัฐโอไฮโอ หัวหน้าสำนักคุ้มครองการเงินผู้บริโภคคนแรก ที่มีข่าวว่าอาจจะได้รับเกียรติ์จากโจ ไบเดนในการเข้าชิงตำแหน่งคณะกรรมการ FOMC แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายไม่เชื่อว่าเป็นเขา และปัดความเป็นไปได้นี้ตกที่ประชุมไป
นอกจากริชาร์ด คอร์เดรย์ ข่าวนี้ก็ถูกผูกกับคนในแวดวงการเงินมากมาย ไม่ว่าจะเป็นซาราห์ บลูม รัสกิ้น ที่เคยทำงานกับรัฐบาลสมัยโอบามา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการของกระทรวงการคลัง นางลิซ่า คุก นักเศราฐศาสตร์ชื่อดังแห่งมหาลัยมิชิแกน และฟิลิป เจฟเฟอสัน ศาสตร์ตราจารย์แห่งเดวิสสันคอลเลจก็มีชื่อติดมากับพวกเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม หากพวกเขาได้รับเลือกจริง ก็ยังต้องผ่านด่านการยืนยันจากวุฒิสภา และยังต้องรอผ่านการอนุมัติจากทำเนียบข่าวและฝ่ายนิติบัญญัติก่อน ซึ่งก็อย่างที่เห็นว่ารัฐบาลมีเรื่องอื่นให้ต้องรีบดำเนินการอยู่อีกหลายเรื่อง
สำหรับตอนนี้ชื่อของคณะกรรมการถาวรที่ได้อยู่ในคณะกรรมการนโยบายการเงินประจำปี 2022 แน่ๆ แล้วคือนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด นางเลล เบรนาร์ด รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ คนใหม่ มิชเชล โบว์แมน อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารรายเล็กซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารของรัฐในแคนซัส และคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่เซนต์หลุยส์ นอกจากนี้รัฐดัลลัสก็เริ่มมองหาประธานธนาคารกลางคนใหม่แล้วด้วยเช่นกัน
การที่จะนำเพียงข้อมูลในอดีตของแต่ละบุคคลมาตัดสินสิทธิ์ในการเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงินคนใหม่ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ดูแคลนระบบการเงินสหรัฐฯ มากเกินไปหน่อย แต่ที่เราได้เขียนมาทั้งหมดนี้คือความเป็นไปได้ ที่คุณอาจจะได้เห็นชื่อของพวกเขาโผล่ขึ้นมาในข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศเร็วๆ นี้ จากรายชื่อที่กล่าวมา ดูเหมือนว่าทิศทางการดำเนินงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ ปีนี้ดูจะมีความต้องการทำนโยบายการเงินให้ตึงตัวมากขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และสภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ภายใต้การนำของเจอโรม พาวเวลล์ ในปีนี้จะเปลี่ยนจากปี 2021 ไปได้มากแค่ไหน นั่นคือสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังเฝ้าจับตา