- สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังคงผันผวนและถูกกดดันจากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟดที่ส่งสัญญาณเตรียมขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีหน้า
-
ติดตามการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเราคาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบาย และอาจปรับมุมมองการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยดีขึ้น
-
ตลาดการเงินอาจไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปลายปี อีกทั้งตลาดได้รับรู้แนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักไปหมดแล้ว ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจยังมีแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย หากตลาดยังไม่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง ส่วนทิศทางเงินบาทต้องรอจับตาการประชุม กนง. และราคาทองคำ โดยมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นของ กนง. รวมถึงการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำจะสามารถช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ทั้งนี้ แนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 33.30บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้นำเข้าต่างรอซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนผู้ส่งออกโดยรวมยังรอขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าลงใกล้ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์
-
มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้
33.25-33.50 บาท/ดอลลาร์ -
ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดมองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใสต่อ หนุนโดยการบริโภคภาคเอกชนที่สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ยอดใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Spending) เดือนพฤศจิกายนที่จะขยายตัวราว +0.6% จากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ การใช้จ่ายของคนอเมริกันยังแนวโน้มที่ดีด้วยแรงหนุนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) ในเดือนธันวาคม ที่ยังอยู่ในระดับสูงถึง 110 จุด ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับสภาวะการจ้างงานที่ดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงอาจกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะสั้นได้ ซึ่งตลาดก็มองว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนพฤศจิกายน ก็มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 5.4% ทั้งนี้ การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จากปัญหาด้าน Supply Chain ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เฟดปรับท่าทีพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
-
ฝั่งยุโรป – ตลาดจะรอติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วยุโรปอย่างใกล้ชิด เพราะหากการระบาดทวีความรุนแรงกว่าคาด ก็อาจกดดันให้รัฐบาลฝั่งยุโรปใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดมากขึ้น กดดันให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจของยูโรโซนชะลอลงได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันให้ สกุลเงินฝั่งยุโรป อาทิ เงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) ยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าหนักได้
-
ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีท่าทีใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย อาทิ คงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะ 1 ปี และ 5 ปี (Loan Prime Rate) ไว้ที่ระดับ 3.85% และ 4.65% ตามลำดับ หลังจากที่ล่าสุด PBOC ได้ปรับลด Reserve Requirement Ratio ลงมา 0.5% ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 0.4% ในเดือนพฤศจิกายน จะไม่สร้างความกังวลปัญหาเงินเฟ้อให้กับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เนื่องจากระดับเงินเฟ้อยังคงห่างไกลจากเป้าหมายที่ 2% ทำให้ BOJ จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ซึ่งจะช่วยหนุนให้ค่าเงินเยน (JPY) สามารถอ่อนค่าลงสู่ระดับ 114 เยนต่อดอลลาร์ได้ หากตลาดเริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น
-
ฝั่งไทย - เรามองว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะหนุนให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ทั้งนี้ กนง. อาจมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากขึ้น แต่อาจจะเน้นย้ำว่าการเติบโตเศรษฐกิจคือปัจจัยสำคัญที่มีน้ำหนักต่อนโยบายการเงินมากกว่าเงินเฟ้อ นอกเหนือจากการประชุม กนง. ตลาดประเมินว่ายอดการส่งออก (Exports) ในเดือนพฤศจิกายน มีแนวโน้มที่จะโตกว่า +17.5%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) อาจโตขึ้นกว่า +23.0%y/y กดดันให้ดุลการค้าอาจขาดดุลเล็กน้อย ทั้งนี้ การขาดดุลการค้าเล็กน้อยอาจไม่ได้กดดันเงินบาทมากนัก อนึ่งสำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ โดยเราคาดว่า หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์แตะแนวต้าน 1,820-1,830 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจหนุนให้เงินบาทแข็งค่าได้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก