ถึงแม้ว่าเหล่าบรรดาแพทย์ทั่วโลกจะเป็นกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่นาม “โอไมครอน” แต่ดูเหมือนว่านักลงทุนจะไม่คิดเช่นนั้น สังเกตได้จากการปรับตัวกลับขึ้นไปของตลาดหุ้น 2% และการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ
อันที่จริง เราทุกคนต่างทราบแก่ใจดีอยู่แล้วว่าผู้ติดเชื้อโอไมครอนรายแรกของสหรัฐฯ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องปรากฎ และเราก็ต้องอยู่ร่วมกับมันไม่ต่างจากสองสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ดังนั้นตอนนี้ตลาดลงทุนจึงทำเป็นใจดีสู้เสือ ไม่อยากจะคิดว่าโอไมครอนนั้นเป็นภัยจนกว่าจะได้เห็นข้อมูลจริงๆ ว่าโอไมครอนมีความร้ายกาจมากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่าทันทีที่มีข้อมูลในส่วนนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ อาจนำไปสู่มาตรการคุมเข้มทางสังคม และจะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยลง แต่เพราะตอนนี้อัตราการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ ก็สูงแล้ว และเหล่านักการเมืองก็ยังไม่มองว่าโอไมครอนจะเป็นภัยคุกคามถึงขนาดต้องกลับไปล็อกดาวน์ ดังนั้นตลาดลงทุนจึงเลือกที่จะเชื่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก่อนคือความกังวลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อ และมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทุกๆ วันศุกร์แรกของเดือนใหม่ อย่าลืมว่าเรามีนัดกันที่จะมารอดูการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรประจำเดือนก่อนหน้า ซึ่งวันนี้เป็นคราวของเดือนพฤศจิกายน สัญญาณทุกอย่างบ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงมากที่จะได้เห็นตัวเลขการจ้างงานฯ ออกมาเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เฉพาะตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (220,000 คน) แต่เส้นค่าเฉลี่ยในรอบสี่สัปดาห์ล่าสุดของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการฯ ยังปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2020
นอกจากนี้ จำนวนรวมของผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานทั้งหมดยังปรับตัวลดลงต่ำกว่าสองล้านคนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดอีกด้วย อัตราการถูกเลิกจ้างงานก็อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบยี่สิบแปดปี ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา นักเศรษฐศาสตร์จึงเชื่อว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ที่จะรายงานในวันนี้เวลา 20:30 น. ตามเวลาประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 531,000 ตำแหน่งเป็น 550,000 ตำแหน่ง และถ้ายิ่งตัวเลขการจ้างงานฯ สามารถขยับขึ้นสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์นี้ จะยิ่งทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น
การที่ตลาดแรงงานยังไม่มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญคือสาเหตุหลักที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ เพราะความต้องการเงินค่าจ้างที่สูงขึ้น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อ และการระบาดของเดลตาก่อนหน้านี้ก็ยังสร้างปัญหาให้กับซัพพลายเชนซ้ำหนักเข้าไปอีก ดังนั้นถ้าหากตัวเลขการจ้างงานฯ ในวันนี้ออกมาดี จะยิ่งเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจร่นระยะเวลาของแผนการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมวันที่ 14-15 ธันวาคมให้จบเร็วขึ้น
ยิ่งเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ และเจเน็ต เยลเลน รมต. คลังกล่าวต่อสภาคองเกรสว่าถึงเวลาต้องเลิกใช้คำว่า “เงินเฟ้อเป็นปัจจัยชั่วคราว” แล้ว ยิ่งจะทำให้ตลาดทุนคิดว่าอัตราเงินเฟ้ออาจมีการขยับขึ้น แผนภูมิภาพแบบจุด (dot-plot) จากการประชุมครั้งก่อนก็ชี้ชัดแล้วว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ต้องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เร็ว ทั้งหมดนี้ต่างเป็นเหตุผลสนับสนุนการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐทั้งสิ้น
สำหรับตอนนี้ ธนาคารกลางที่อยู่ฝ่ายทำตามกลไกเศรษฐศาสตร์มากกว่าปล่อยให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินไปเรื่อยๆ อย่างเช่นธนาคารกลางนิวซีแลนด์ ยังไม่ประเมินว่าการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเป็นภัยคุกคาม แต่ถ้ามีข่าวหรือได้รับการยืนยันแล้วว่าโอไมครอนมีความรุนแรงมากกว่าโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้า เชื่อได้เลยว่าประเทศอื่นๆ จะสั่งล็อกดาวน์เร็วกว่าสหรัฐอเมริกา และจะทำให้สกุลเงินของพวกเขาอ่อนค่าลงก่อนดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์ในช่วงต้นสัปดาห์ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าถึงแม้ดอลลาร์จะถูกเทขายจากข่าวโอไมครอน แต่สกุลเงินอื่นก็ไม่สามารถกลับมาแข็งค่าสู้ได้เร็ว
นอกจากการประกาศตัวเลขการจ้างงานฯ ของอเมริกา แคนาดาก็จะมีการรายงานตัวเลขอัตราการว่างงานและจ้างงานด้วยเช่นกัน การคาดการณ์ทิศทางของดอลลาร์แคนาดาจากนักวิเคราะห์ก็ไปในทิศทางเดียวกันกับอเมริกาคือคาดว่าอัตราการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น แต่อาจจะเพิ่มขึ้นเพียงในระดับกลางๆ เท่านั้น กราฟ USD/CAD เมื่อวานนี้ปรับตัวขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบสองเดือนเพราะความต้องการดอลลาร์สหรัฐที่มากขึ้น และราคาน้ำมันที่ไม่ได้ขึ้นมาจากจุดต่ำสุดมากเท่าไหร่ หลังทราบผลการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ที่ตัดสินใจคงอัตราการผลิตน้ำมันเอาไว้ดังเดิมที่ 400,000 บาร์เรลต่อวันไปจนถึงเดือนมกราคมปีหน้า
สกุลเงินที่ปรับตัวขึ้นได้มากที่สุดเมื่อวานนี้คือสกุลเงินปอนด์ และสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดคือยูโรและดอลลาร์ออสเตรเลีย อันที่จริงตัวเลขทางเศรษฐกิจของฝั่งยุโรปถือว่าดี ไม่ว่าจะเป็นดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนตุลาคมที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และอัตราการว่างงานที่ลดลง แต่ข่าวดีเหล่านี้กลับไม่มีใครพูดถึงเมื่อเทียบกับการอาละวาดของโอไมครอนในยุโรป ส่วนของประเทศออสเตรเลียนั้น ข้อมูลตัวเลขดุลบัญชีการค้าและยอดการซื้อบ้านติดจำนองที่ลดลงทำให้ดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ การอ่อนค่าของดอลลาร์ออสเตรเลียนั้นสวนทางกับดอลลาร์นิวซีแลนด์ ที่ธนาคารกลางฯ ยังมองว่าโอไมครอนไม่เป็นภัยคุกคามต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน