จากข้อมูลประวัติศาสตร์ตลาดลงทุนของสหรัฐฯ ทุกๆ สัปดาห์ที่มีวันหยุดขอบคุณพระเจ้า และทำให้เวลาในการลงทุนสั้นกว่าปกติ มักจะเป็นสัปดาห์ที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น และเราก็คาดว่าลักษณะการวิ่งเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกในสัปดาห์นี้เช่นกัน ที่มีวันหยุดขอบคุณพระเจ้าในวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน
สัปดาห์ที่แล้ว ตลาดหุ้นอเมริกาต้องขอบคุณรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ ที่ช่วยให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวกลับขึ้นมาจากการเทขาย ตัวเลขยอดขายปลีกในเดือนตุลาคมปรับตัวขึ้นมากกว่า 1.7% เอาชนะตัวเลขคาดการณ์ที่ 1.2% ไปได้ ตัวเลข 1.7% นี้ถือเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 1990 การเติบโตของตัวเลขค้าปลีก ท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อที่โตเร็วที่สุดในรอบสามสิบปี ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจมิใช่น้อย
โดยปกติแล้ว หากตัวเลขยอดค้าปลีกขยายตัว นั่นคือการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และมักจะทำให้หุ้นสายมูลค่ามีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าหุ้นสายเติบโต ยกตัวอย่างเช่นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี แต่อุปสรรคสำคัญที่กำลังขวางกั้นการเติบโตของหุ้นสายมูลค่าในตอนนี้คือนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มว่าจะรัดกุมขึ้น และการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดระลอกใหม่ในยุโรป
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สัปดาห์ที่แล้วดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลง 0.63% ดัชนีรัสเซล 2000 ปรับตัวลดลง 2.36% หุ้นในกลุ่มวัฐจักรไม่ว่าจะเป็นพลังงาน การเงินและ{{40670|อุตสาหกรรม}ต่างก็ปิดสัปดาห์ด้วยระดับติดลบ มีเพียงดัชนีแนสแด็ก 100 ที่สามารถสร้างขาขึ้นได้ 2.36% นับตั้งแต่มีการระบาด ดัชนีรัสเซล 2000 ก็ได้รับความสนใจจากตลาดลงทุนมากขึ้น เพราะขาขึ้นของรัสเซล 2000 หมายถึงความสามารถในการฟื้นตัวของบริษัทขนาดเล็กถึงกลาง
หากมองอีกด้านหนึ่ง ในตอนนี้ที่รัสเซล 2000 ปิดติดลบ หมายถึงโอกาสในการเข้าไปถือหุ้นของบริษัทขนาดเล็ก ที่มีโอกาสในการเติบโต ข้อมูลจากนักวิเคราะห์วอลล์ สตรีทระบุว่าตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนจนถึงปัจจุบัน มีเงินหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในรัสเซล 2000 แล้วมากถึง $2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นจำนวนที่มีมากพอสมควรเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมปีนี้ และอย่าลืมว่าเดือนพฤศจิกายนนั้นยังไม่จบ
อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งให้รัสเซล 2000 ปรับตัวขึ้นมากเป็นพิเศษในสัปดาห์คือรายงานตัวเลขการบริโภคส่วนบุคคลทั้งแบบปกติ (PCE Index) และแบบที่ไม่คำนวณรวมราคาอาหารและพลังงาน (Core PCE Index) ความสำคัญของตัวเลขนี้คือเป็นหนึ่งในสี่มาตรวัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ
แซม สโตวอลล์ หัวหน้าฝ่ายวางกลยุทธ์ตลาดลงทุนของ CFRA เปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจว่า 2 ใน 3 ของนักลงทุนเชื่อว่าสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้น และมีโอกาสสูงถึง 57% ที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นหลังจากวันขอบคุณพระเจ้า จากระบบอัลกอริทึ่มเฉพาะของ CFRA เผยว่ามีโอกาส 71% ที่วันนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะกลับเข้าสู่แนวโน้มกระทิง
กราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปิดสัปดาห์ที่แล้วด้วยการวิ่งอยู่ต่ำกว่า 1.55 จุด เส้นเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนระยะสั้นและระยะยาวเริ่มทรงตัวหลังจากที่มีข่าวว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเพิ่มวงเงินในการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพราะการเติบโตของเงินเฟ้อในตอนนี้เร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ดัชนีดอลลาร์สหรัฐทะยานขี้นสู่จุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 เดือนกรกฎาคมปี 2020
ดัชนีดอลลาร์สหรัฐยังคงแนวโน้มขาขึ้นมาจากรูปแบบ double-bottom จากกราฟรายเดือน เราเห็นชัดเจนแล้วว่าตอนนี้ดัชนีมีแนวรับอยู่ที่ 90 จุด หากขาขึ้นระลอกนี้เป็นของจริง มีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นทดสอบระดับราคา 100 จุด และอาจจะไปได้ไกลถึง 103 จุด ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของดัชนีดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2016
ทองคำปรับตัวลดลงทั้งวันศุกร์ที่แล้ว และตลอดทั้งสัปดาห์ แต่ในความเห็นของเรา ขาลงครั้งนี้เป็นเพียงการย่อเพื่อเตรียมปรับตัวขึ้นต่อเท่านั้น
การย่อตัวลงมาของทองคำในวันศุกร์ที่แล้ว ยังคงอยู่ในกรอบรูปธงขาลง ที่เริ่มสร้างมาตั้งแต่วันอังคารที่แล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่ทองคำหลุดกรอบปรับฐานนี้ขึ้นไปได้ มีราคาปิดอยู่เหนือกรอบอย่างชัดเจน นั่นคือสัญญาณขาขึ้นครั้งใหม่ ที่อาจสร้างขาขึ้นต่ออีก $120 จากจุดที่หลุดขึ้นมา
ราชาแห่งสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์กำลังพยายามจะกลับขึ้นไปยืนเหนือ $60,000 ให้ได้อีกครั้ง การดีดตัวกลับครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากลงมาทดสอบเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน และก่อให้เกิดความเป็นไปได้ที่กำลังจะเกิดไหล่ขวาของรูปแบบหัวไหล่ (Head & Shoulder)
หากรูปแบบนี้สำเร็จ จะนำไปสู่ขาลงระยะยาวของบิทคอยน์ในอนาคต แม้แต่อินดิเคเตอร์อย่าง MACD RSI และ ROC ยังคงส่งสัญญาณว่าตลาดยังเป็นแนวโน้มขาลง
สุดท้าย ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม สาเหตุของขาลงครั้งนี้มาจากนักลงทุนกลัวว่าวิกฤตโควิดระลอกใหม่ในยุโรปอาจทำให้ความต้องการน้ำมันดิบลดลง และการประกาศดึงน้ำมันยุทธศาสตร์ (SPR) ของสหรัฐฯ ออกมาใช้เพื่อกดราคาน้ำมันให้ลดลง
ขาลงเมื่อวันศุกร์ที่แล้วทำให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลงถึง $76 ต่อบาร์เรล การทะลุแนวรับ $78.77 ต่อบาร์เรลลงได้ในครั้งนี้ เปิดประตูให้น้ำมันดิบเข้าสู่แนวโน้มขาลงในระยะสั้น
ข่าวเศรษฐกิจสำคัญประจำสัปดาห์ (เวลาทั้งหมดคำนวณเป็น EST)
วันอาทิตย์
20:30 (ประเทศจีน) รายงานตัวเลขอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โดยธนาคารกลาง: ตัวเลขครั้งก่อนอยู่ที่ 3.85%
วันจันทร์
02:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI คอมโพสิต: คาดว่าจะคงที่อยู่ที่ 54.1 จุด
10:00 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยมือสอง: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 6.29M เป็น 6.20M
วันอังคาร
03:30 (เยอรมัน) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะลดลงจาก 52.0 จุดเป็น 51.0 จุด
03:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการผลิต: คาดว่าจะคงที่อยู่ที่ 56.3 จุด
03:30 (สหราชอาณาจักร) ดัชนี PMI ภาคการบริการ: คาดว่าจะคงที่อยู่ที่ 54.6 จุด
20:00 (นิวซีแลนด์) การประชุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง: คาดว่าจะปรับขึ้นอ้ตราดอกเบี้ยจาก 0.50% เป็น 0.75%
วันพุธ
04:00 (เยอรมัน) ดัชนีวัดความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจจาก Ifo: คาดว่าจะปรับตัวลดลงจาก 97.7 จุดเป็น 96.7 จุด
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน: คาดว่าจะมีตัวเลขอยู่ที่ 0.5%
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2.0% เป็น 2.1% QoQ
08:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก: คาดว่าจะลดลงจาก 268K เป็น 264K
10:30 (สหรัฐฯ) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง: คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก -2.101M เป็น 1.398M
14:00 (สหรัฐฯ) รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ
วันพฤหัสบดี
02:00 (เยอรมัน) รายงานตัวเลข GDP: คาดว่าจะลดลงจาก 1.8% เป็น 1.5% QoQ
08:30 (ยูโรโซน) ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป
12:00 (สหราชอาณาจักร) ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางอังกฤษ
19:30 (ออสเตรเลีย) รายงานตัวเลขยอดค้าปลีก: คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.3% เป็น 2.5%
หมายเหตุ: ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ปิดเนื่องในวันของคุณพระเจ้า
วันศุกร์
03:00 (ยูโรโซน) ถ้อยแถลงจากประธานธนาคารกลางยุโรป